เอ็นจีโอ จี้ กพร.ดันเหมืองใต้ดินเข้าโครงการรุนแรง ตาม รธน.มาตรา 67(2)
ชาวบ้านชี้อิตาเลียนไทยสร้างภาพทำอีเอชไอเอเหมืองโปแตซ แต่กีดกันคนในพื้นที่ร่วมเวที ระบุเตรียมผุดเหมืองใต้ดินทั่วอีสาน จี้ กพร.ชงเข้าโครงการรุนแรง รธน.มาตรา 67(2)
วันที่ 24 พ.ค.55 มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่โรงแรมบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิกโปแตชคอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ในเครือบริษัทอิตาเลียนไทย ว่าจ้างบริษัททีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียริ่งแอนด์เมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และนำมาซึ่งการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายในครั้งนี้
โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ระบุว่าได้รวมตัวกันกว่า 300 คนเพื่อที่จะไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว แต่กลับถูกปิดกั้น โดยมีเจ้าหน้าที่และ อส.กระจายกำลังทั่วพื้นที่ และมีการตั้งด่านสกัดเป็นจุดๆ จึงมีเฉพาะชาวบ้านที่ฝ่ายบริษัทเกณฑ์มาเข้าร่วมเวที ทั้งนี้ยังมีสมาชิกชมรมคนรักอุดรจำนวนหนึ่ง นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา ได้นำรถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงมาดักรอที่หน้าโรงแรม เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ จึงยืนถือป้ายคัดค้านการจัดเวทีและกระจายกันออกรณรงค์ให้ข้อมูลและแจกใบปลิวถึงความไม่ชอบธรรมของเวทีในครั้งนี้
นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่าต้องการที่จะไปเสนอมุมมองความคิดเห็นที่ติดตามโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีมาเป็นระยะเวลากว่า 12 ปี ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจะได้รับผลกระทบจากโครงการ แต่พอมาถึงก็ถูกกีดกันจากตำรวจหลายร้อยนาย และอยากตั้งคำถามถึงกลุ่มชมรมคนรักอุดรฯซึ่งที่ผ่านมาประกาศตัวว่าเรียกร้องประชาธิปไตย แต่วันนี้กลับมีพฤติกรรมที่สวนทางกัน ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน กล่าวว่า การจัดเวทีของบริษัทเอพีพีซีในวันนี้ ต้องการสร้างภาพต่อสาธารณชนว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพียงเพื่อผลักดันโครงการเท่านั้น ทั้งที่หลุดจากการเป็นโครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 จึงไม่จำเป็นต้องทำอีเอชไอเอ ที่ต้องทำคือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอเท่านั้น
“การจัดเวทีอีเอชไอเอของบริษัท เป็นการแนะนำจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯ กลับถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วม กพร.จึงต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วันนี้ ก่อนหน้านี้ 2 วัน ชาวบ้านได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อร้องเรียนความไม่ชอบธรรมในการจัดเวทีมาแล้ว แต่ผู้ว่าฯกลับไปปรากฏตัวเป็นประธานเปิดงานนี้” นายสุวิทย์ กล่าว
ด้าน นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่ กล่าวว่ากระบวนการการทำโครงการเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ประเด็นการไต่สวนขอประทานบัตรที่มีปัญหากันอยู่ แล้วจะไปทำอีเอชไอเอได้อย่างไร
นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า มีโครงการจะทำเหมืองแร่โปแตซในหลายพื้นที่ภาคอีสาน และโครงการเหล่านี้ไม่ถูกจัดเข้าข่ายโครงการรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมอันตราย เสนอว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องทบทวนและทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ให้ทบทวนดึงกลับโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าประเภทโครงการรุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้มีการควบคุมมาตรฐานการทำเหมืองแร่ใต้ดินทั้งหมดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่า ยังมีโครงการไหนที่ควรจะต้องทบทวนเพิ่มเติม โดยให้มีกระบวนการศึกษาและตรวจสอบอย่างรอบคอบ
ด้านนายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กพร.กล่าวว่าแม้จะไม่เข้าโครงการรุนแรง แต่การทำอีเอชไอเอ จะทำให้มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่าการทำอีไอเอตามปกติ ทาง กพร.จึงแนะนำให้บริษัทพิจารณาว่าจะทำอีเอชไอเอหรือไม่ ซึ่งทางบริษัททำตามคำแนะนำ ส่วนจะเป็นการผิดขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของ สผ.
ที่มาภาพ : http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content1/show.pl?0283