บริษัทใน Tax haven แหล่งทุนใหญ่ทำลายป่าอเมซอน-ประมงผิดกฎหมาย
ภาพลักษณ์ของบริษัทข้ามชาติที่จัดตั้งในประเทศหรือเกาะปลอดภาษีหรือที่เรียกกันว่า Tax Haven มักถูกมองในด้านลบว่า มีวัตถุประสงค์แอบแฝง
ล่าสุดสำนักข่าว BBC รายงานว่า The journal Nature Ecology & Evolution ได้เผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อ ประเทศปลอดภาษีกับปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมระดับโลก (Tax havens and global environmental degradation) กล่าวถึงรูปแบบการหลีกเลี่ยงภาษีของบรรดานักธุรกิจ บริษัทหรือเศรษฐีต่าง ๆ โดยวิธีการตั้งบริษัทข้ามชาติในประเทศปลอดภาษี ที่ถูกเปิดโปงจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเช่น the Panama Papers หรือ the Paradise Papers ว่าได้ขยายผลกระทบไปยังธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ร้อยละ 68 ของเงินลงทุนในประเทศบริเวณป่าอเมซอนมีที่มาจากบริษัทจดทะเบียนในประเทศปลอดภาษี นอกจากนั้น 70% ของเรือที่ใช้ในการทำประมงเถื่อนยังขึ้นทะเบียนในประเทศปลอดภาษีเช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ :'ไอซีไอเจ' ประกาศเปิดฐานข้อมูลปานามาเปเปอร์ส200,000 บริษัท 9 พ.ค.,โยงกลุ่มทรัมป์-บ.ยักษ์ใหญ่ไทย! ICIJเปิดตัว‘พาราไดซ์เปเปอร์ส‘ฐานข้อมูลกลุ่มออฟชอร์มหัศจรรย์)
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่าในช่วงปี 2543-2544 ในบริเวณป่าอเมซอนมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นเงินกว่า 27 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่า 18 พันล้านเหรียญสหรัฐถูกโอนมาจากประเทศปลอดภาษีเข้าไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองในบริเวณป่าอเมซอน โดยพบว่าหมู่เกาะเคย์แมนเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ดี นายวิคเตอร์ กาลาซ (Victor Galaz) หัวหน้าคณะวิจัยจาก the Stockholm Resilience Centre กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมายและเป็นเพียงรูปแบบการบริหารการเงินภายในของบริษัทเท่านั้น แต่พวกเราทุกคนต้องทำความเข้าใจและวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่สิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายผ่านประเทศปลอดภาษี จากข้อมูลที่เราได้คือบริษัทต่าง ๆ จากประเทศปลอดภาษีจะทำสัญญาให้กู้ยืมแก่การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศบราซิลและกลุ่มประเทศอื่น
การลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีการรายงานและการลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่นั้น เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ก่อให้เกิดการทำลายธรรมชาติในมหาสมุทร โดยเรือที่ใช้มักจะเป็นเรือสัญชาติประเทศปลอดภาษี โดยเฉพาะประเทศเบลีซและปานามา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศปลอดภาษีไม่มีมาตรการในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเอาผิดแก่เรือของประเทศตนเองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายทั้งหลาย
นายเฮนริค ออสเตอร์บลอม (Henrik Österblom) ผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า ด้วยสภาพห่วงโซ่แห่งคุณค่า (value chain) ของการประมง ความซับซ้อนของโครงสร้างผู้มีอำนาจ และข้อจำกัดในการกำกับดูแลของประเทศชายฝั่ง ส่งผลให้การประมงตกเป็นเป้าหมายของวงจรการหลีกเลี่ยงภาษีได้ง่าย
ทั้งนี้ นายวิคเตอร์ฯ ได้ทิ้งท้ายว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลกและต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ ทุกคนจะต้องตระหนักว่าผลกระทบจากประเทศปลอดภาษีเกิดขึ้นทั้งในแง่ของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการแก้ปัญหานั้นจะต้องมีการพัฒนาระบบที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสทางด้านการเงิน แต่ละประเทศจะต้องรายงานความเคลื่อนไหวทุนต่างประเทศ และจะต้องมีฐานข้อมูลกลางในการรายงานข้อมูลซึ่งจะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบเงินลงทุนอีกด้วย
ที่มา: https://www.bbc.com/news/science-environment-45172671
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากhttps://www.bbc.com
อ่านประกอบ :
พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน
ไข 11 ข้อกังขา ‘ปานามา เปเปอร์ส ‘กับลูกค้า 21 รายในประเทศไทย