‘อุดม คชินทร’ หนุนลดหลักสูตรอุดมศึกษาเหลือ 2 ปี -ผมพูดเรื่องนี้มา 6 เดือนแล้ว
“มีโอกาสได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ทักษะวิชาชีพบางอย่าง ซึ่งพบว่า เกิดประโยชน์และนำไปเป็นอาชีพได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นอีกแล้วที่เด็กจะต้องเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือกรณีเข้าเรียนก็จะเรียนเฉพาะบางทักษะที่ Google สอนไม่ได้”
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวคิดการรับรู้ของคน กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการทำงานเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว “อนาคตยังจำเป็นต้องศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอยู่หรือไม่”
นี่คือประเด็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นในที่เวทีเสวนา เรื่อง กระทรวงใหม่:โอกาสและความท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัย จัดโดย เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network :RUN) ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า หากระบบการศึกษาไทยยังมีรูปแบบการเรียนการสอน ใช้หลักสูตร และกระบวนการแบบดั้งเดิม เชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ความต้องการ เพราะในอนาคตกลุ่มคนจะต้องการทักษะและแนวคิดแบบใหม่ ดังนั้น การเรียนแบบทางการ จะถูกลดทอนความสำคัญลง เนื่องจากทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ประกอบกับมีเทคโนโลยีช่วยเหลือมหาศาล เด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสมัยนี้จึงไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว
“มีโอกาสได้ไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ได้ให้บริษัทเอกชนเข้าไปช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ทักษะวิชาชีพบางอย่าง ซึ่งพบว่า เกิดประโยชน์และนำไปเป็นอาชีพได้ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นอีกแล้วที่เด็กจะต้องเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือกรณีเข้าเรียนก็จะเรียนเฉพาะบางทักษะที่ Google สอนไม่ได้”
รมช.ศธ. ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจุบันเด็กจบระดับมัธยมศึกษา ร้อยละ 70 ไม่เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่จะเลือกไปทำงานและหาตัวตนให้เจอว่า อนาคตอยากเรียนอะไร สมมติอยากเรียนวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพียง 2 ปี เนื่องจากเด็กอาจมีความรู้มาบ้างแล้ว ดังนั้น หลายหลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จึงปรับหลักสูตรเหลือ 2 ปี จาก 4 ปี
“ผมพูดเรื่องนี้มา 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีใครในประเทศไทยที่คิดจะทำสักหลักสูตร”
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวเพิ่มเติม ขณะที่ Google เปิดหลักสูตร มีคนเรียนหลายหมื่นคนทั่วโลก โดยไม่สนใจว่า คนนั้นจะจบชั้นป. 4 หรือระดับใด และรับเข้าทำงานให้เงินเดือนมากกว่าคนที่จบปริญญาตรีด้วย ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับเปลี่ยนตนเอง ต่อไปจะไม่ใช่การสอนหนังสือปกติแล้ว แต่ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใครก็สามารถมาเรียนได้ ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ และเชื่อว่า ระบบการเรียนดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ยังระบุถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยที่เป็นไปอย่างล่าช้าด้วยว่า เกิดจากปัญหาติดขัดของการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะ “คน”
รมช.ศธ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้าราชการ 5 ล้านคน ถ้าจะให้ประเทศเดินต่อไปข้างหน้า ต้องให้ข้าราชการ 5 ล้านคนออกไปให้หมด แต่ผมไม่ได้คิดว่า 5 ล้านคน “ไม่ดีทั้งหมด” แต่คิดว่า อย่างน้อยครึ่งหนึ่งถูกระบบครอบอยู่ โดยจะรับสมัครใหม่เพียงแค่ 2.5 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่ง เฉพาะคนดี ส่วนอีก 2.5 ล้านคน ที่ไม่ได้จ้าง จะนำเงินจ้างส่วนนั้นมาเพิ่มให้สองเท่าของข้าราชการที่ได้ทำงาน สิ่งเหล่านี้คิดอยู่ แต่ยังทำไม่ได้ แม้ทำได้ก็ทำยาก เพราะกังวลว่า แล้วข้าราชการเดิมจะทำอย่างไร เเต่ต้องพยายาม ถามว่า จะรอให้มีคนพร้อม ก็จะไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้น ไม่ทำไม่ได้ ต้องทำ แม้จะไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม
“กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่เจ้าของระบบการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้ชัดเจนว่า รัฐพึงจัดการศึกษาทุกระดับ โดยผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนต้องช่วยกันดูแลจัดการ ดังนั้นจึงไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว เพราะพิสูจน์แล้วเมื่อ 50-60 ปี ว่าไม่มีพลัง” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ภาพประกอบ:https://www.thebangkokinsight.com/32605