ข้อเท็จจริง‘ธำรงวินัยทหาร’ ทำผิดขั้นไหนถึงโดนลงโทษ-รุ่นพี่สั่ง‘ซ่อม’ ได้ไหม?
“…อดีตทหารเกณฑ์ผลัดปลดหลายราย เคยระบุว่า สาเหตุที่ต้องมีการซ่อมรุ่นน้องแบบนี้ เนื่องจากพวกตนก็เคยถูกรุ่นพี่ทำอย่างนี้มาก่อน สืบทอดกันมากลายเป็นประเพณีในหมู่ทหารเกณฑ์แล้วว่า ผลัดน้องต้องเคารพรุ่นพี่ ตื่นเช้ามาต้องไหว้ทุกเช้า หากไม่ไหว้ถือว่าไม่มีวินัย ต้องถูกปรับปรุง หรือถูกซ่อม…”
กลายเป็นประเด็นข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเกรียวกราวสนั่นเมือง กรณีทหารเกณฑ์จากสังกัดหน่วยรบพิเศษแห่งหนึ่ง ถูก ‘รุ่นพี่’ สั่ง ‘ธำรงวินัย’ ทางทหาร หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘ถูกซ่อม’ กระทั่งบาดเจ็บสาหัส เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันมีการเผยแพร่ภาพว่า รุ่นพี่ 3 นายดังกล่าว ได้เข้ามาขอขมาญาติทหารเกณฑ์รายนี้แล้ว
อย่างไรก็ดี ‘บิ๊กเจี๊ยบ’ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีการสั่ง ‘ซ่อม’ แล้วในค่ายทหาร แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทหารเกณฑ์ทะเลาะกันเอง พร้อมกับสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยด่วนแล้ว
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้จะเกิดจากการ ‘สั่งซ่อม’ หรือว่าการทะเลาะกันเอง คงต้องรอผลการตรวจสอบกันอีกครั้ง ?
แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ขั้นตอนการ ‘ถูกซ่อม’ เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องทำผิดขนาดไหน แล้ว ‘รุ่นพี่’ มีสิทธิสั่งซ่อม ‘รุ่นน้อง’ ได้ด้วยหรือ ?
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำผิดวินัยทหารนั้น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ใจความสำคัญอยู่ที่ หมวด 2 และหมวด 3
โดยหมวด 2 มาตรา 5 ระบุว่า วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษาโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้กระทำผิด ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหารมีเบื้องต้น 9 ข้อ ได้แก่
1.ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
2.ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
3.ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
4.ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
5.เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
6.กล่าวคำเท็จ
7.ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
8.ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
9.เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา
มาตรา 6 ระบุว่า ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้นโดยกวดขัน หากว่าในการรักษาวินัยทหารจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับมาทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือนั้น จะไม่ต้องรับโทษในการที่ตนได้กระทำไปโดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อเหตุดังกล่าวนี้ ผู้บังคับบัญชาจักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึง รมว.กลาโหม โดยเร็ว
ส่วนหมวด 3 มาตรา 8 ระบุว่า ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารดังกล่าวไว้ในหมวด 2 นั้น ให้มีกำหนดเป็น 5 สถาน คือ
1.ภาคทัณฑ์ คือ เคยทำความผิดมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปราณี จึงแค่ทำทัณฑ์บนไว้
2.ทัณฑกรรม คือ ให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ปฏิบัติประจำวัน หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกเหนือจากหน้าที่ประจำ
3.กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่ที่จะกำหนดให้
4.ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียว หรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะมีคำสั่ง
5.จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร
ขณะเดียวกันวรรคสุดท้ายของมาตรา 9 ระบุด้วยว่า นอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมีให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
คำถามสำคัญคือ ทำผิดแบบไหนถึงถูกทำโทษตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากอดีตทหารเกณฑ์หลายราย สังกัดกองพันทหารราบแห่งหนึ่ง ที่เพิ่งปลดประจำการเมื่อเดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ทั้งหมดต่างยืนยันตรงกันว่า สำหรับโทษทัณฑ์ที่จะลงโทษแก่ทหารเกณฑ์ไม่มีวินัย หรือ ‘ทหารแตกแถว’ นั้น หากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น มาสายเล็กน้อย หรือทำความสะอาดสกปรกนิดหน่อย จะโดนภาคทัณฑ์ หรืออย่างมากคือทัณฑกรรม เช่น การดองเวร (การให้เข้าเวรติดต่อกันยาว หรือหลายวัน) เป็นต้น
แต่หากความผิดเริ่มมากขึ้น เช่น แอบดื่มเหล้า หนีเที่ยวในเวลาราชการ หรือหนีเที่ยวกลางคืน ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ จะถูกทัณฑกรรม เช่น การสั่งปรับปรุงวินัย (การซ่อมด้วยการออกกำลังกาย เช่น ดันพื้น พุ่งหลัง เป็นต้น มักโดนเป็นยก (ยกหนึ่งจะมี 4 จังหวะ) ส่วนมากเริ่มต้นที่ 10 ยก หากมีความผิดมาก หรือผู้บังคับบัญชาเข้มงวด อาจโดนมากถึง 100-1,000 ยก แล้วแต่กรณี
ความผิดร้ายแรงมากของทหารเกณฑ์คือ การแอบเสพสารเสพติด หรือการเมาแล้วอาละวาด หรือการเห็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงแล้วหลบ ไม่ยอมทำความเคารพ จะโดนทำโทษตั้งแต่หลายร้อยยก ไปจนถึงถูกกัก ขัง หรือจำขังได้ แล้วแต่กรณี ส่วนใหญ่ที่ถูกขัง หรือจำขัง จะเป็นพวกทหารเกณฑ์ที่ลักลอบเสพยาเสพติดทั้งหมด
และผู้ออกคำสั่งทำโทษต่าง ๆ เกือบทั้งหมดคือผู้บังคับบัญชาที่เป็นนายทหารชั้นประทวน (ยศตั้งแต่ ส.ต.-จ.ส.อ.) เนื่องจากอยู่ประจำกองร้อย หรือกองพัน มีความใกล้ชิดกับทหารเกณฑ์มากกว่าผู้บังคับบัญชารายอื่น หรืออย่างมากคือ ผู้บังคับกองร้อย (นายทหารสัญญาบัตร ยศระหว่าง ร.ท.-ร.อ. โดยมากเป็นทหารชั้นประทวนมาก่อน แล้วสอบเป็นชั้นสัญญาบัตรตอนอายุมาก หรือใกล้เกษียณแล้ว)
คำถามต่อไปที่กำลังเป็นประเด็นตอนนี้คือ ‘รุ่นพี่’ มีสิทธิ ‘ซ่อม’ หรือลงโทษ ‘รุ่นน้อง’ ได้ด้วยหรือ ?
หากพิจารณาดูตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 แล้ว ไม่มีข้อใดเลยที่ระบุว่าให้ ‘รุ่นพี่’ สามารถลงโทษ ‘รุ่นน้อง’ ได้ อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่เป็นอดีตทหารเกณฑ์ข้างต้นหลายราย ยืนยันว่า หากลับสายตาผู้บังคับบัญชาแล้ว ‘รุ่นพี่’ สั่งซ่อมได้เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทหารเกณฑ์ เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายแล้ว มีอยู่ 4 สถานะด้วยกัน ได้แก่
1.ผลัดน้องใหม่ (ผลัดที่เพิ่งเข้ามาใหม่ปีนั้น ยกตัวอย่าง ทหารเกณฑ์ผลัด 1/2559 คือทหารที่เข้ามาตอน เม.ย. 2559)
2.ผลัดครู (ผลัดปีก่อนหน้า ยกตัวอย่าง ทหารเกณฑ์ผลัด 2/2558)
3.ผลัดรองปลด (ผลัดใกล้ปลด ยกตัวอย่าง ทหารเกณฑ์ผลัด 1/2558)
4.ผลัดปลด (ผลัดปลดประจำการปีนั้น ยกตัวอย่าง ทหารเกณฑ์ผลัด 2/2557)
แหล่งข่าวหลายราย ยืนยันว่า ผลัดปลด จะมีอำนาจมากที่สุด และสามารถสั่งลงโทษรุ่นน้องได้หมดทุกนาย เพราะถือว่าตัวเองอยู่มานานเกือบ 2 ปีแล้ว รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับกองร้อย หรือกองพันดี นอกจากนี้ถือว่าตัวเองทำงานมาเยอะแล้ว ต้องการผ่องถ่ายงานให้รุ่นน้อง ผลัดปลดบางนายก็เป็นรุ่นพี่ที่ดี คอยสอนงานน้อง บอกเคล็ดลับวิชาเอาตัวรอดในค่ายทหารให้ แต่บางนายก็นิสัยเสีย ใช้อำนาจในการกดขี่ข่มเหงผลัดน้อง ๆ
สาเหตุที่ทำให้ ‘รุ่นพี่’ ต้องซ่อม ‘รุ่นน้อง’ หลัก ๆ คือ รุ่นน้องทำผิดพลาดทำให้รุ่นพี่ต้องซวยถูกทำโทษไปด้วย หรือบางครั้งรุ่นพี่สั่งการ หรือใช้งานแล้วรุ่นน้องไม่ยอมปฏิบัติตาม หรือแข็งข้อ เป็นต้น
วิธีการซ่อมของรุ่นพี่คือ จะเรียกรวมผลัดรุ่นน้องกลางดึก โดยให้ลับจากสายตาผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้นจะดูว่า ผลัดไหนทำซวย จึงดำเนินการทำโทษ ไม่มีการทำโทษรายคน แต่จะทำโทษยกผลัด หรือบางครั้งหากเป็นผลัดปลดลงมาสั่งซ่อมเอง อาจเรียกรวมแต่ละผลัด หรือเรียกรวมหมดอีก 3 ผลัดที่เหลือเลยก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
สำหรับขั้นตอนการซ่อมนั้น ส่วนใหญ่คือการสั่งปรับปรุงวินัย เหมือนที่นายทหารชั้นประทวน-ชั้นสัญญาบัตรสั่งการ เช่น สั่งพุ่งหลัง ดันพื้น ตั้งแต่หลายสิบยก ไปจนถึงหลายร้อยยก แล้วแต่ความผิดที่รุ่นพี่เหล่านั้นพิจารณา เมื่อสมใจแล้วก็จะให้แยกย้าย
อดีตทหารเกณฑ์ผลัดปลดหลายราย เคยระบุว่า สาเหตุที่ต้องมีการซ่อมรุ่นน้องแบบนี้ เนื่องจากพวกตนก็เคยถูกรุ่นพี่ทำอย่างนี้มาก่อน สืบทอดกันมากลายเป็นประเพณีในหมู่ทหารเกณฑ์แล้วว่า ผลัดน้องต้องเคารพรุ่นพี่ ตื่นเช้ามาต้องไหว้ทุกเช้า หากไม่ไหว้ถือว่าไม่มีวินัย ต้องถูกปรับปรุง หรือถูกซ่อม
ทั้งหมดคือเบื้องลึกเบื้องหลังเกี่ยวกับการ ‘ธำรงวินัย’ หรือการ ‘ถูกซ่อม’ ของทหารเกณฑ์ ที่ไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชาทำเท่านั้น แต่ผลัดรุ่นพี่ก็ทำด้วย แม้ว่าใน พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 จะไม่ระบุอำนาจไว้ก็ตาม และกรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ มีทหารเกณฑ์ถูกซ่อม ถูกซ้อม หรือถูกปรับปรุงวินัย จนเสียชีวิตในค่ายทหารไปแล้วหลายนาย
ส่วนปัญหาเหล่านี้จะแก้กันอย่างไร ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ ?
อ่านประกอบ :
ข้อเท็จจริงทหารเกณฑ์ถูกยืมตัวช่วยงาน ขั้นตอนยังไง-ได้ค่าตอบแทนไหม?
ใครว่าถึงหมื่น?ชำแหละเงินเดือน‘ทหารเกณฑ์’ได้เท่าไหร่-ช่องโหว่ระบบใหม่‘จ่ายตรง’
ซื้อของกินร้านP.X.-จับกลุ่มนินทาครูฝึก! 'ความสุข'ทหารใหม่อยู่ตรงไหน?
เปิดละเอียด! กิจวัตรทหารใหม่ 10สัปดาห์แรกทำอะไร-ทำไมกลัวเสียงนกหวีด?
เจาะโครงสร้างฝึกทหารใหม่ 'โดนซ่อม' เกิดขึ้นได้อย่างไร-ทำไม ทบ.กังวลภาพหลุด?
โชว์หนังสือห้ามถ่ายคลิปซ่อมทหาร-ทำร้ายร่างกาย ปฏิบัติการกู้ภาพลักษณ์ ทบ.?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์