เจาะโครงสร้างฝึกทหารใหม่ 'โดนซ่อม' เกิดขึ้นได้อย่างไร-ทำไม ทบ.กังวลภาพหลุด?
“…การโดนซ่อมของทหารใหม่ หรือที่ครูฝึกเรียกว่า ‘การปรับปรุงวินัย’ เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลัก ๆ คือ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เช่น ระหว่างการฝึกมีพลทหารบางรายไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือที่เรียกกันว่า ‘ตีมึน’ อาจทำให้พลทหารที่เหลือต้องถูกลงโทษไปด้วย หรือแม้แต่หากผู้บังคับบัญชาเดินผ่าน แล้วไม่ทำความเคารพ ก็จะถูกลงโทษ เนื่องจากธรรมเนียมของทหาร การไม่เคารพผู้บังคับบัญชาถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติขั้นสูงสุด…”
หลายคนอาจเห็นจากเอกสารที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเปิดเผยไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา พล.อ.วีรชัย อินทุโศภณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ทำการแทน ผบ.ทบ. เกี่ยวกับมาตรการฝึกทหารใหม่ผลัดที่ 1/2561 ที่เน้นย้ำกำชับหนักแน่นว่าห้ามทำร้ายร่างกายทหารใหม่โดยเด็ดขาด และห้ามถ่ายภาพนิ่ง หรือคลิปวีดีโอตอนฝึกทหารใหม่ หรือตอนถูกปรับปรุงลักษณะทหาร เป็นอันขาด (อ่านประกอบ : โชว์หนังสือห้ามถ่ายคลิปซ่อมทหาร-ทำร้ายร่างกาย ปฏิบัติการกู้ภาพลักษณ์ ทบ.?)
ต่อมา พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ออกมาโต้ตอบข่าวนี้ว่า ปัจจุบันโซเชียลมีเดียทำให้เกิดความยุ่งเหยิง ดังนั้นจึงพยายามตีกรอบกำลังพลให้อยู่ในกรอบที่พอเหมาะพอควร บางเรื่องที่นำมาเปิดเผยและไม่มีข้อมูลประกอบก็จะทำให้สังคมตีความไปในทางที่ผิด ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ให้มีการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ บางเรื่องเป็นเรื่องของความลับ และการปฏิบัติโดยทั่วไป ออกมาสู่สาธารณะ เรื่องนี้ก็เป็นหลักการธรรมดา เพราะบางครั้งนำไปเบี่ยงเบนประเด็น สิ่งที่ออกมาจากโซเชียลฯ ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด 100% และบางคนไม่ได้รู้ความจริงและนำไปขยายต่อก็จะเกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม ถ้ามีกำลังพลกระทำความผิดก็ต้องลงโทษ ทางวินัยอย่างเด็ดขาด
“สิ่งที่ออกมาจากโซเชียลมีเดียไม่ได้จริง 100% บางคนไม่ได้ไตร่ตรองนำไปขยายผลต่อ ก่อให้เกิดผลเสียกับสังคมโดยรวม ถ้ายังพบใครฝ่าฝืนต้องลงโทษทางวินัย” ผบ.ทบ.กล่าว (ที่มาจาก ผู้จัดการออนไลน์)
แต่ประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องตั้งคำถามคือ การโดนซ่อม หรือที่เรียกกันว่า 'ปรับปรุงวินัย-ปรับปรุงลักษณะทหาร' นั้นเกิดได้อย่างไรในค่ายทหาร และขั้นตอนการฝึกทหารใหม่ช่วง 10 สัปดาห์แรกเขาทำอะไรกันบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยจากอดีตทหารเกณฑ์หลายรายที่เพิ่งปลดประจำการออกมาช่วงเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา เล่าถึงห้วงเวลาการฝึกทหารใหม่ 10 สัปดาห์แรก สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
โครงสร้างการฝึกทหารใหม่ แบ่งสายการบังคับบัญชา ได้แก่ 1.ผู้ฝึกทหารใหม่ โดยเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ระหว่างยศ ร้อยตรี-ร้อยเอก 2.ผู้ช่วยผู้ฝึกทหารใหม่ ส่วนมากจะเป็นนายทหารชั้นประทวน หรือชั้นสัญญาบัตรที่มาจากชั้นประทวน ระหว่างยศ จ่าสิบเอก-ร้อยตรี ทั้งหมดแล้วแต่การคัดสรรจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยนั้น ๆ
3.ครูฝึกทหารใหม่ เป็นนายทหารชั้นประทวนทั้งหมด ระหว่างยศ สิบตรี-จ่าสิบเอก และ 4.ผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ ได้แก่ ทหารกองประจำการผลัด ‘รุ่นพี่’ ยกตัวอย่าง การฝึกทหารกองจำการผลัดที่ 2/2549 ผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่คือ ทหารกองประจำการผลัดที่ 1/2549 เป็นต้น โดยมาจากการคัดสรรของผู้ฝึกทหารใหม่ และแต่ละกองร้อยคัดเลือกมา
5.ทหารใหม่ มีจำนวนตั้งแต่ 100 นายขึ้นไป จะแบ่งออกเป็นหมู่ ตอน หรือหมวด แล้วแต่วิธีการฝึกของผู้ฝึก โดยในการฝึกของอดีตทหารเกณฑ์รายนี้ แบ่งออกเป็น 4 หมวด หมวดละประมาณ 40 นาย แต่ละหมวดจะมีหัวหน้าหมวด 1 นาย เมื่อรวม 4 หมวด จะมีหัวหน้ากองร้อย 1 นาย
สำหรับระเบียบปฏิบัติประจำวันของการฝึกทหารใหม่ แบ่งเป็น ตื่นนอน 05.30 น. ทำความสะอาดเขตรับผิดชอบ 06.00 น. รับประทานอาหารเช้า 07.00 น. รวมแถวเคารพธงชาติ-ฟังคำชี้แจง 08.00 น. เริ่มฝึก 09.00 น. พักรับประทานอาหารเที่ยง 12.00 น. เริ่มฝึก 13.00 น. พักรับประทานอาหารเย็น 17.00 น. อาบน้ำ-ทำความสะอาดร่างกาย 18.00 น. รวมฟังคำชี้แจงตอนค่ำ 19.00 น. ปล่อยเข้านอน 21.00 น.
เรียกกันสั้น ๆ ว่า เป็น ‘รปจ.’ ของทหารใหม่
ขั้นตอนการปรับสภาพพฤติกรรมจากพลเรือนมาเป็นทหารนั้น เริ่มต้นจากการละลายพฤติกรรมของการเป็นพลเรือนก่อน โดยครูฝึกทุกคนจะเน้นย้ำเสมอว่า ‘เขี้ยวเล็บ’ ทุกอย่างให้ถอดทิ้งไว้ข้างนอก เมื่อทุกคนเข้ามาในนี้นับว่าเป็น ‘พลทหาร’ เหมือนกันทั้งหมด จะต้องฝึกเหมือนกัน กินข้าวเหมือนกัน นอนเท่ากันทุกอย่าง
“ไม่มีอะไรที่ทหารใหม่ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน” คือสิ่งที่พลทหารใหม่ทุกคนต้องท่องทุกเช้าเมื่อตื่น
“ร่างกายไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นของกองทัพบก” คือคำที่มักได้ยินเสมอจากครูฝึกในช่วงการฝึกทหารใหม่
วันแรกที่เข้าไปครูฝึกจะดำเนินการตัดผมให้สั้นเกรียน-ขาว 3 ด้าน หลังจากนั้นจะมีการแจกอุปกรณ์เครื่องใช้ รวมถึงเสื้อผ้า ชุดฝึก และเครื่องนอนต่าง ๆ ก่อนที่จะพาทหารใหม่ไปยังโรงนอน เพื่อจัดเตรียมที่นอนของตน ก่อนเริ่มดำเนินการฝึกในวันรุ่งขึ้น
ขั้นตอนการฝึกจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก นั่นคือ การฝึกท่ามือเปล่า เช่น ท่าตรง ตามระเบียบพัก ซ้ายหัน ขวาหัน กลับหลังหัน วันทยาหัตถ์ การเดินแถว การวิ่ง เป็นต้น กระทั่งท่ามือเปล่าอยู่ตัวแล้ว จึงเริ่มการฝึกท่าอาวุธ เช่น ท่าวันทยาวุธ ท่าแบกอาวุธ ท่าเรียบอาวุธ หลังจากนั้นจึงเริ่มฝึกท่ายิงปืนรูปแบบต่าง ๆ เช่น ท่ายืนยิง ท่านั่งยิง ท่านอนยิง เป็นต้น
หลายคนเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจคิดว่า การโดนลงโทษ หรือที่เรียกว่า ‘โดนซ่อม’ ไม่มีอยู่ใน รปจ. ทหารใหม่ แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
การโดนซ่อมของทหารใหม่ หรือที่ครูฝึกเรียกว่า ‘การปรับปรุงวินัย’ เกิดขึ้นด้วยสาเหตุหลัก ๆ คือ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการไม่เคารพผู้บังคับบัญชา เช่น ระหว่างการฝึกมีพลทหารบางรายไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือที่เรียกกันว่า ‘ตีมึน’ อาจทำให้พลทหารที่เหลือต้องถูกลงโทษไปด้วย หรือแม้แต่หากผู้บังคับบัญชาเดินผ่าน แล้วไม่ทำความเคารพ ก็จะถูกลงโทษ เนื่องจากธรรมเนียมของทหาร การไม่เคารพผู้บังคับบัญชาถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติขั้นสูงสุด นอกจากนี้คือการฝ่าฝืน หรือดื้อดึง ไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมทหาร เป็นต้น
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการฝึกทหารใหม่
ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึก และกิจวัตรประจำวันทุกอย่างของทหารใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตอนตื่น การกินข้าว หรือว่าได้นอนตอนไหนกันแน่ ?
สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ร.29 พัน.2