‘นพ.อุดม’ มั่นใจตั้ง ก.อุดมศึกษา เสร็จก่อนเลือกตั้งปี 62
คืบหน้าตั้ง ก.อุดมศึกษาฯ ‘นพ.อุดม’ เผยอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา คาดเป็น กม.สำเร็จ ปลาย พ.ย. 61 ชี้รบ.คาดหวังเชื่อมโยงกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สร้างฐานความรู้ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ขณะที่ รมว.วิทย์ ระบุมหาวิทยาลัยมีส่วนผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศโลกที่ 1
วันที่ 24 ส.ค. 2561 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network :RUN) จัดเสวนา เรื่อง กระทรวงใหม่:โอกาสและความท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีรายได้ต่อหัวประชากรเฉลี่ยต่ำมาก โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือน เพียง 1.5 หมื่นบาท ดังนั้นไทยจึงติดกับดักรายได้ปานกลางมาราว 25 ปีแล้ว แสดงว่า เราไม่พัฒนาขึ้น แข่งขันกับใครไม่ได้ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องยกระดับรายได้ของประชากรก่อน เพื่อจะเกิดความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ต่อไป
ทั้งนี้ การพัฒนาอุดมศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำหน้าที่สร้างคนให้มีคุณภาพ ทันโลก ทันสมัย ต้องเกิดคนเก่งในระดับทาเลนท์ พร้อมกันนี้ มีหน้าที่ทำวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรม ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ จะได้ลดการนำเข้า ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ช้ามาก จึงจำเป็นต้องแยกอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ
“กระทรวงศึกษาธิการมีคน 8 แสนคน เป็นคนของเรา 1 แสน งบประมาณ 5 แสนล้านบาท เฉพาะของอุดมศึกษา 1 แสนล้านบาท แต่ปัญหาเยอะมาก มีโอกาสได้เข้าประชุมระดับกระทรวง พูดคุยเรื่องของ สพฐ. และอาชีวะ เวลาก็หมดแล้ว ส่วนเรื่องอุดมศึกษาพูดคุยกันน้อยมาก ดังนั้นการแยกออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม จะมีเอกภาพมากขึ้น ทำให้รัฐบาลสนับสนุนได้ดีขึ้น”
รมช.ศธ. กล่าวต่อว่า กระทรวงอุดมศึกษาฯ จะเป็นหัวรถจักรในการสร้างคนให้มีคุณภาพขั้นสูง มีทักษะตอบโจทย์ตลาด การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ต่อยอดเป็นมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจประเทศเป็นฐานความรู้ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นงานของมหาวิทยาลัย รัฐบาลจึงคาดหวังให้กระทรวงนี้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
“กระทรวงอุดมศึกษาฯ ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัว ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย ให้บรรลุภารกิจตามความถนัดของแต่ละสถาบัน ขณะที่งบประมาณต้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้นด้วย เหมือนกับเกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยขณะนี้ขั้นตอนอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะพิเศษขึ้นมา สิ้น ส.ค. ต้องเสร็จ เสนอ ครม. และปลาย พ.ย. กฎหมายจะเกิดขึ้นแน่นอน แล้วจะต้องมีกฎหมายอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.อุดมศึกษา และพ.ร.บ.วิจัยและนวัตกรรม แต่เชื่อว่าจะทัน และอยากให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง เพราะเกรงว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา กระทรวงใหม่อาจไม่เกิดขึ้น” ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว
ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ไทยต้องการก้าวให้ไปสู่ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ ( Organisation for Economic Co-operation and Development :OECD) เพื่อการันตีว่าไทยเป็นโลกที่ 1 ซึ่งมหาวิทยาลัยมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้น ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หากไม่ตอบโจทย์จะไม่มีทางไปสู่การเป็นประเทศโลกที่ 1 ได้
ทั้งนี้ นอกจากเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ประเทศแล้ว หัวใจสำคัญของกระทรวงอุดมศึกษา คือการมีภารกิจปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และเตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 ถ้ามหาวิทยาลัยที่เป็นเป้าหลอมสำคัญในการทำให้เกิดคนกลุ่มนี้ขึ้นมาไม่ดีพอ จะไปคาดหวังให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเป็นไปไม่ได้
“กระทรวงอุดมศึกษาฯ จะเป็นตัวเชื่อมอนาคตของประเทศกับปัจจุบัน ซึ่งไม่มีกระทรวงไหนทำได้ และต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงในอนาคตเกิดขึ้น รวมถึงลดความเป็นราชการให้เหลือน้อยที่สุด” รมว.วิทย์ฯ กล่าว