ปลดล็อกมาตรา 7 กับโจทย์แก้กฎหมาย 'ป่าไม้' ไทยที่ยังรอคำตอบ
ความคืบหน้า การปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา คาด 3 เดือน ปลดล็อกได้สำเร็จ และไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ในอนาคตปลูกไม้ในพื้นที่เอกชน ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ ไม่ขึ้นทะเบียน ไม่มีความผิด
ถือได้ว่า เป็นข่าวดีของวงการป่าไม้ เมื่อรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายกรณีเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านป่าไม้ แต่ที่น่าจับตามอง คือ มติครม.เหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และสร้างระบบการจัดการป่าไม้ในมิติใหม่ได้จริงหรือไม่ รวมทั้งจะมีผลกระทบที่มีความแตกต่างจากมติครม.ในอดีตหรือไม่
7 สิงหาคม 2561 ครม.ได้ผ่านมติเห็นควรยกเลิกมาตรา 7 ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 โดยถือว่า ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ครอบครองไม่จัดเป็นไม้หวงห้าม ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ อีกต่อไป เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการทำให้เกิดพื้นที่ “ป่าเศรษฐกิจ” ที่ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้” และแก้ปัญหากรณีไม้มีค่าโค่นทับบ้านสามารถตัดได้โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่
ก่อนหน้านี้ 24 กรกฎาคม 2561 ที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยกำหนดให้ “ไม้ยืนต้น” ตามรายการไม้ของ พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 จำนวน 58 ชนิด มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อการขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าร่วมการประกอบธุรกิจไม้เศรษฐกิจมากขึ้น
ซึ่งในเวทีเสวนา “ปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ โจทย์การแก้กฎหมายป่าไม้ไทยที่ยังรอคำตอบ” จัดโดยศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมต่างยินดีกับมติครม.ดังกล่าว โดยหลายคนเชื่อว่า การปรับปรุงนโยบายเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการตัดไม้มีค่าอย่างถูกกฎหมาย และสร้างแรงจูงใจให้คนสนใจเพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น
ลำพังการปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ เพียงพอแล้วหรือไม่
นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ มองถึงการดำเนินการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ต่างๆ ที่รัฐมนตรีฯ ให้นโยบาย ไม้ต้องปลูกได้ ตัดได้ ขายได้ ป้องกันไม้สวมตอ “จริงๆ แล้วต้นไม้หวงห้ามปลูกได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องแก้กฎหมายก็ปลูกได้ ฉะนั้นไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การตัดไม้ ไม้ที่ตัดได้ ตัดได้เฉพาะที่ไม่ใช่ไม้หวงห้าม ฉะนั้นการปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ทำให้ไม้หวงห้ามที่ปลูกในที่เอกชน ไม่เป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไปแล้ว"
นายบรรจง อธิบายเพิ่มเติม ไม้หวงห้ามที่ปลูกในที่ดินเอกชน ตัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ส่วนขายได้ในประเทศไม่มีปัญหา แต่พอจะไปขายในต่างประเทศ ถามว่า ทำได้จริงหรือไม่ ด้วยปัจจุบันยังมีมติครม.และกฎระเบียบอื่นๆ ที่ยังล็อกอยู่ ดังนั้น แนวทางของกรมป่าไม้ก็คือ ทำอย่างไรให้ช่องทางการค้าขายไม้ไปยังต่างประเทศไม่เป็นคอขวด ให้เป็นถนนซุปเปอร์ไฮเวย์
"เรามีการพูดคุยกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานความมั่นคง เพื่อแก้กฎหมายที่เกี่ยวกับส่งออกทั้งหมด คาดว่า อย่างเร็วปลายปี 2561 การแก้ระเบียบให้ไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ อีกไม่กี่เดือนทุกอย่างจะถูกปลดล็อก นอกจากเรื่องมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ แล้ว ต่อไปใครใคร่ปลูกๆ ใครใคร่ตัดๆ ใครใคร่ขายๆ นี่คือการค้าเสรี” นายบรรจง ระบุ และว่า ปัจจุบัน กรมป่าไม้ได้จัดทำระบบ E-Tree ขึ้นมาเพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนไม้ในที่ดินของตนเอง กรณีที่จะทำการค้าขายไม้ คาดว่า ประมาณเดือนกันยายนนี้จะมีการทดสอบระบบ ซึ่งจะเป็นประตูสู่การทำให้ไม้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตต่อไปได้ในประเทศไทย
นายบรรจง อธิบายถึงการลงทะเบียนต้นไม้ในระบบ E-Tree สามารถทำการซื้อขายกันได้เลยในระบบ รวมถึงการแจ้งตัดต้นไม้ มีบัญชีไม้ มีรายละเอียดของต้นไม้สามารถตรวจสอบได้ เพื่อลดปัญหาตัดไม้แล้วถูกจับ โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายไม้แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตรวจจับนั้นระบบนี้จะมีการแสดงพิกัดเคลื่อนย้ายไว้อย่างชัดเจน
ส่วนความคืบหน้า การปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ ชี้ว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ไม่น่าเกิน 3 เดือน ปลดล็อกได้สำเร็จ และไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ โดยในอนาคตการปลูกไม้ในพื้นที่เอกชน ไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนสวนป่า และไม่ขึ้นทะเบียนก็ไม่มีความผิด
ขณะที่นักธุรกิจไม้ นำเข้าส่งออกไม้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี นายคมวิทย์ บุญธำรงกิจ นายกสมาคมธุรกิจไม้ แสดงความยินดีกับข่าวที่จะมีการปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ โดยระบุ เป็นฝันที่เป็นจริง พร้อมกับเชื่อว่าจะส่งผลดีมหาศาลกับประเทศไทย หากรัฐบาลส่งเสริมการปลูกป่าจริงๆ มีการแก้กฎระเบียบทั้งหมดให้การค้าขายไม้ได้อย่างเสรี ซึ่งต้องทำให้เหมือนอย่าง มาเลเซีย และเวียดนาม
“วันนี้เราปลูกป่าเพื่อไปทำเยื่อกระดาษ แต่มูลค่าเพิ่มสูงสุดของการทำไม้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมา เยื่อกระดาษ และพลังงาน ไม้สักทั่วโลกปลูกเป็นล้านๆ ไร่ โดยเฉพาะการนำเข้าไม้สักจากบราซิลราคาถูกกว่าประเทศไทยมาก ฉะนั้นการส่งเสริมปลูกไม้ชนิดใดก็ต้องดูตลาดโลกด้วย"นายกสมาคมธุรกิจไม้ ให้ข้อมูล และว่า ไม้ที่ขาดแคลนจริงๆ สำหรับบ้านเรา คือไม้สาธร และไม้มะเกลือ ซึ่งไม้พวกนี้มีสีดำ มูลค่าจะสูงมาก
ขณะที่ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองเห็นถึงโอกาสของประเทศไทยในธุรกิจที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบมาถึงแล้ว หัวรถจักรที่จะลากจูงประเทศไทยนับวันเหลือตัวเลือกน้อยลงเรื่อยๆ ฉะนั้นหากประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคไม้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น บริบทธุรกิจไม้ ไม้เศรษฐกิจจำเป็นต้องมองให้ครบวงจรด้วย ต้องรู้เขารู้เรา เพราะวันนี้โลกมองไทยเป็นตลาดของเขา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือยุโรป เอาไม้มาขายบ้านเรา ถามว่า เราจะเอาอะไรไปเสนอขายในตลาดโลก
ทั้งนี้ ผศ.ดร.นิคม ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ที่เวียดนาม มีไม้อะเคเซีย (Acacia) ส่งมาขายในประเทศไทย ไม้แบบที่ขายอยู่ที่อีเกีย ก็คือไม้ที่ประเทศไทยเคยไปช่วยส่งเสริมเมื่อ 3 ปีที่แล้ว การส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจทำให้เวียดนามสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้รวดเร็วที่สุดในเอเชีย
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้มุมมองการปลูกต้นไม้กับการออม ที่ไม่ใช่ในรูปตัวเงินด้วยว่า อาจเป็นคำตอบให้กับโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างประเทศไทยได้เช่นกัน
สุดท้าย นางพิกุล กิตติพล เกษตรกรผู้ปลูกสวนป่ามากว่า 23 ปี แสดงความเห็นว่า “ใครปลูก ก็อยากเอามาขาย อยากได้เงิน ฉะนั้นอยากให้มีการปลดล็อกความเป็นไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือพื้นที่ที่มีโฉนดโดยเร็ว”
โดยเธอมีความหวังกับข่าวที่จะมีการปลดล็อกมาตรา 7 ในพ.ร.บ.ป่าไม้ฯ แต่ก็ยังห่วงการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายไม้อาจถูกเจ้าหน้าที่ตรวจจับกุมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ธ.ก.ส. เริ่มแล้ว ให้สมาชิกธนาคารต้นไม้ ใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ลุ้นปลายกันยาฯ ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
'เอ็นนู' ชี้กฎกระทรวง นำ 'ไม้เศรษฐกิจ' ค้ำเงินกู้ให้เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจ-สหกรณ์
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ....
‘นักวิชาการ’ ชงรื้อทิ้งมาตรา 7 กม.ป่าไม้ ยันอุปสรรคขวางปลูกไม้ยืนต้นในไทย