เปิดตัว ‘ไมซ์เพื่อชุมชน’ ดันจัดประชุมเมืองรอง กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
เปิดทางการ ‘ไมซ์เพื่อชุมชน’ ดันจัดประชุมเมืองรอง กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น นำร่อง 35 สหกรณ์การเกษตร คาดอนาคตขยายครอบคลุมกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ
วันที่ 23 ส.ค. 2561 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ (Thailand Convention&Exhibition Bureau:TCEB) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดแถลงข่าวเปิดตัว ไมซ์เพื่อชุมชน มิติใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ ณ อาคารไทยซีซีทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
(หมายเหตุ: MICE ย่อมาจาก Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions หมายถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดประชุม งานแสดงสินค้า การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดนิทรรศการ )
นางอรรชกา สีบุญเรือง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมไมซ์ลงไปถึงระดับชุมชนมากขึ้น จากเดิมจะเกี่ยวโยงเฉพาะการท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งการจัดประชุมสัมมนา การจัดงาน ส่วนใหญ่โรงแรมหรือสถานที่จัดประชุมอื่น ๆ มักได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมนี้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะแต่ละปีอุตสาหกรรมไมซ์มีผู้เดินทางไม่ต่ำกว่า 29 ล้านคน ทำให้เกิดรายได้ราว 6.2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ยิ่งขึ้น
“การจัดประชุมสัมมนาหรือจัดนิทรรศการสามารถมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าได้ นอกจากนี้ทำให้เกิดการลงทุน เจรจาร่วม สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมฯ กล่าว และอนาคตยังมองไปด้วยว่า การจัดประชุมสัมมนาหรือแม้แต่เอกชนจัดกิจกรรมเลี้ยงพนักงานในสังกัดในต่างจังหวัด จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เพื่อให้มีการกระจายรายได้
นางอรรชกา กล่าวยกตัวอย่างที่ผ่านมา ส่วนใหญ่การจัดงาน เช่น นิทรรศการ มักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง ต่อไปต้องให้เกิดการกระจายการจัดงานไปยังต่างจังหวัด เมืองหลัก และเมืองรอง ด้วย และเชื่อว่า อุตสาหกรรมไมซ์เพื่อชุมชนจะประสบความสำเร็จ เพราะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคและชุมชนอย่างแท้จริง
“เรามักหลงลืม เวลาเราคิดถึงชุมชนมักคิดถึงโอทอป แต่ลืมไปว่า ‘สหกรณ์’ เป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมเกษตรกรในชุมชน ซึ่งบางแห่งมีการบริหารจัดการและมีผลิตภัณฑ์ดีมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ บางแห่งยังมีศักยภาพจัดประชุมสัมมนาด้วย ทำให้สามารถดึงผู้สนใจเข้ามาจัดงานหรือประชุมได้เลย เพราะฉะนั้นเห็นว่าสหกรณ์การเกษตร 8,171 แห่งทั่วประเทศ เบื้องต้นคัดเลือกมา 35 แห่ง ที่มีความพร้อม และอนาคตจะขยายโครงการให้ครอบคลุมอีกกว่า 700 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถเยี่ยมชมและซื้อสินค้า ทำให้ประโยชน์เกิดกับสหกรณณ์อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมฯ กล่าวในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสหกรณ์การเกษตรนำร่อง 35 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด จ.ราชบุรี, สหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมแปลงใหญ่ วัดเพลง จำกัด จ.ราชบุรี, สหกรณ์โคนมมวกเหล็ก จำกัด จ.สระบุรี, สหกรณ์นิคมลานสัก จำกัด จ.อุทัยธานี, สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด จ.เพชรบุรี, สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด จ.ชุมพร, สหกรณ์นิคมท่าแซะ จำกัด จ.ชุมพร, สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่, สหกรณ์การเกษตรนาโยง จ.ตรัง, กลุ่มอันดาบ่อแร่บาติก สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ่อแร่สันติสุข จ.ภูเก็ต, สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จ.สงขลา, สหกรณ์ประมงคุ้งกระเบน จำกัด จ.จันทบุรี, สหกรณ์นิคมสอยดาว จำกัด จ.จันทบุรี, สหกรณ์โคนมบ้านบึง จำกัด จ.ชลบุรี, สหกรณ์การเกษตรธรรมชาติวัดญาณฯ จำกัด จ.ชลบุรี, สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา, สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี
สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด จ.นครปฐม, สหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด, จ.นครปฐม, สหกรณ์นิคมสมุทรสาคร จำกัด จ.สมุทรสาคร, กลุ่มอาชีพผู้ปลูกจำปี สหกรณ์การเกษตรหนองแขม บางขุนเทียน จำกัด จ.กรุงเทพฯ, สหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด จ.ขอนแก่น, กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย สหกรณ์การเกษตรชนบท จ.ขอนแก่น, สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จ.นครราชสีมา, สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว จำกัด จ.นครราชสีมา, สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จ.ร้อยเอ็ด, สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด จ.เชียงใหม่, สหกรณ์ประมงพาน จำกัด จ.เชียงราย, สหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด จ.เชียงราย, สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าวังผา จำกัด จ.น่าน, สหกรณ์นิคมวังทอง จำกัด จ.พิษณุโลก, สหกรณ์นิคมห้างฉัตร จำกัด จ.ลำปาง, สหกรณ์นิคมหนองบัวพัฒนา จำกัด จ.สุโขทัย, และสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จ.เลย
อ่านประกอบ:นำร่อง 35 สหกรณ์ ชู “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ที่นี่มีเรื่องเล่า...อาชีพพระราชทาน ณ สหกรณ์โคมนมมวกเหล็ก