มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติข่าวความรุนแรง 7 เดือนคดีฆ่ากันตาย-ทำร้ายสาหัส พุ่งสูง
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดสถิติข่าวความรุนแรง เพียง 7 เดือนคดีฆ่ากันตาย-ทำร้ายสาหัส พุ่งสูง 367 ข่าว สัญญาณเตือนอันตรายร้อยละ69 พบเป็นข่าวฆ่ากันตายใช้ปืนเป็นอาวุธหลัก เผยร้อยละ 94ผู้พบเห็น เมินเข้าช่วยเหลือแจ้งเหตุ
วันที่ 23สิงหาคม2561ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ ในเวทีเสวนา “จับสัญญาณอันตรายความตายความรุนแรงในครอบครัว 2018” จัดโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ เก็บสถิติข่าวความรุนแรงในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ 11ฉบับ ปี2561พบว่า เพียงแค่7 เดือน ม.ค.-ก.ค. เกิดข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 367ข่าว เป็นข่าวฆ่ากันตาย 242ข่าว คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย84ข่าว คิดเป็นร้อยละ 22.9 และข่าวฆ่าตัวตาย 41ข่าว คิดเป็นร้อยละ 11.2
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่า ปี 61 สถิติสูงสุดกว่าทุกปี โดยปี 2555 มีข่าวร้อยละ 59.1 ปี2557 มีข่าวร้อยละ62.5 และ ปี 2559 มีข่าวร้อยละ48.5 ซึ่งหากวิเคราะห์เชิงลึกในรอบ 4 เดือน เฉพาะข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยแล้วจะมีประมาณเดือนละ 20 ข่าว
ส่วนปัจจัยกระตุ้น นางสาวอังคณา กล่าวว่า มาจากสุราและยาเสพติด ที่น่าห่วงคือ อาวุธที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุด ได้แก่ ปืน ร้อยละ 40.5 รองลงมาเป็นมีด ของใช้ใกล้มือ ไม้ ค้อน เมื่อลงลึกถึงมูลเหตุที่ลงมือ พบว่า บันดาลโทสะ หึงหวง และมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากพบว่านี้ร้อยละ94.9ของผู้ที่พบเห็นเหตุความรุนแรงเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือ
“ปรากฏการณ์ทำร้ายร่างกาย ฉุดกระชากรากถู ตบตีในพื้นที่สาธารณะมีให้เห็นมากขึ้น สถิติลงมือฆ่ากันตาย เป็นสัญญาณอันตราย ทั้งความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย รวมถึงโครงสร้างสังคมยังกำหนดความไม่เท่าเทียมผ่านสถาบันครอบครัว การศึกษา ระบบเครือญาติ การเมือง และศาสนา"
อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ดังกลาาว สะท้อนให้เห็นว่า
1. ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายยังมีวิธีคิดและทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดแสดงออกผ่านพฤติกรรมความหึงหวง บันดาลโทสะ
2.การผลิตซ้ำวาทกรรม “ชายเป็นใหญ่” ทั้งปรากฏอย่างชัดเจนและแฝงเร้น เช่น เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องลิ้นกับฟัน อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน เมื่อเขาคืนดีกันเราจะเป็นหมา เป็นต้น ส่งผลให้คนในสังคมไม่อยากเข้าไปช่วยเหลือ และไม่กล้าเข้าไปแก้ปัญหา ทำให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
" สังคมจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของสังคมหรือสาธารณะชน เมื่อพบเห็นเหตุการณ์ให้ช่วยเหลือทั้งการแจ้งปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจหน้าที่ หรือการเข้าไปช่วยเหลือด้วยตนเอง เป็นต้น รวมถึงการรณรงค์สร้างวัฒนธรรมให้เคารพเนื้อตัวร่างกายผู้อื่นซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่ายเตรียมจะยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เร็วๆนี้" นางสาวอังคณา กล่าว