Final chapter: สิ่งที่รัฐควรทำเพื่อยุติเรื่องสารเคมีในการเกษตร
หากจะไม่ใช้สารเคมีเลยจะได้ไหม เปลี่ยนโลกและเปลี่ยนประเทศให้ทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีอันตรายไปเลย จะได้ปลอดภัยไร้กังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนในวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารเพื่อบริโภค แต่ คำถามที่คนเค้าคิด และหาคำตอบกันคือ "แล้วเกษตรปลอดสารเคมีจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้จริงไหม?"
หากตามข่าวกันมายาวนาน จะมีคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกกันลึกๆ ว่ายังไงก็ไม่มีทางจบวิวาทะเรื่องนี้กันแน่นอน เพราะดูจะกลายเป็นเรื่องแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ฝ่ายจะให้ยกเลิกทันที vs ฝ่ายที่เน้นการควบคุมการใช้ให้เข้มงวดขึ้น
ปัญหาที่น่ากังวลคือ การเอาอารมณ์มาเจือปน จนอาจทำให้เกิดการเขม่นกัน ใครไม่เห็นด้วยแสดงว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม
ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงแล้ว ทุกคนล้วนปรารถนาดี ไม่อยากให้เกิดผลเสียต่อประเทศ ต่อเกษตรกร และต่อผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเราๆ ท่านๆ
ขึ้นชื่อว่าสารเคมีในการเกษตรนั้น แปลว่าถูกคิดขึ้นเพื่อการใดการหนึ่ง และเราคงทราบกันว่าถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันวัชพืชและเหล่าแมลงที่จะมากัดกินพืชผลที่เพาะปลูก แต่นอกจากประโยชน์นั้นแล้วสารเคมีก็มีโทษได้หากใช้ไม่ถูกต้อง หรือไม่บันยะบันยัง
ที่พบเห็นปัญหากันในปัจจุบันจนวุ่นวายกันไปทั้งบาง ก็เพราะความโลภ และความประมาท ซึ่งเป็นสองสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง จะโดยผู้ผลิต นายทุน และ/หรือผู้บริโภคก็ตาม
หากจะไม่ใช้สารเคมีเลยจะได้ไหม เปลี่ยนโลกและเปลี่ยนประเทศให้ทำการเกษตรแบบไร้สารเคมีอันตรายไปเลย จะได้ปลอดภัยไร้กังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนในวัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารเพื่อบริโภค
คำถามที่คนเค้าคิด และหาคำตอบกันคือ "แล้วเกษตรปลอดสารเคมีจะเลี้ยงคนทั้งโลกได้จริงไหม?"
ถ้าทำได้ก็จะดีมากๆ เพราะทุกคนน่าจะปลอดภัย
สนับสนุนครับ หากทำได้จริง โดยมีผลกระทบที่ยอมรับได้สำหรับทุกคน และสำเร็จอย่างยั่งยืน
แต่ก่อนจะตัดสินใจแบนทุกสิ่งทุกอย่างนั้นต้องรู้กันก่อนว่า
หนึ่ง เกษตรแบบไร้สารเคมีนั้นมีแนวโน้มที่จะได้ภาพรวมของผลผลิตน้อยลง ภายใต้ข้อมูลว่าพื้นที่ที่ทำเกษตรลักษณะนี้มีค่อนข้างน้อย
สอง มีการคาดประมาณว่า เกษตรกรจะยังคงได้กำไรเมื่อราคาของผลผลิตนั้นจะสูงขึ้นอย่างน้อย 22-35% โดยผู้บริโภคจะต้องยอมรับภาระไปในส่วนนี้ นั่นแปลว่า ค่าครองชีพในด้านการกินผลผลิตเกษตรของประชาชนต้องสูงขึ้นเพื่อแลกกับเรื่องงดใช้สารเคมีและเพื่อให้เกษตรกรพอจะอยู่รอดได้
สาม มีการคาดประมาณกว่า 500 ฉากทัศน์เพื่อดูว่าเกษตรไร้สารเคมีล้วนๆ จะเลี้ยงคนทั้งโลกเกือบหมื่นล้านคนภายในปีค.ศ.2050 ได้หรือไม่? พบว่า มีโอกาสสำเร็จ 94% หากทุกคนบนโลกหันมาเป็นคนที่กินมังสวิรัติล้วนๆ และโอกาสสำเร็จจะลดลงเหลือ 39% หากคนในโลกหันมากินอาหารแบบออร์แกนิกส์ล้วนๆ และโอกาสสำเร็จจะเหลือเพียง 15% หากคนทั้งโลกยังกินอาหารประเภทเนื้ออยู่
ดังนั้น เวลาคิดนโยบายของรัฐจึงต้องรู้รอบ ฟังและคิดอย่างลึกซึ้ง รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงโอกาสหรือความได้เปรียบของแต่ละกลุ่ม คิดถึงประโยชน์ของคนในสังคมโดยรวม และยืนบนพื้นฐานความเป็นจริง ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่รอบด้านไม่ใช่แค่มิติใดมิติหนึ่ง
เรื่องผลผลิตการเกษตรนั้น เกี่ยวพันกับทั้งระบบสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความอยู่รอดของคนในประเทศ
การศึกษาวิจัยแทบทั้งหมดมักตอบคำถามวิจัยตั้งต้นในมิติใดมิติหนึ่ง และมีโอกาสถูกนำมาใช้ตีความจนเกินเลย โดยทำให้หลงไปมองในมุมที่ไม่คิดถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวม
ใช้แต่ละวิธีอย่างรู้เท่าทัน ลดความโลภ ลดความประมาท ใช้สติและปัญญาในการชี้นำสังคม...มิใช่ใช้อารมณ์และยึดติดกับตำแหน่งอำนาจที่มีจนคิดว่าข้าคิดแล้วต้องถูกทุกอย่าง คนอื่นที่คิดต่างกลายเป็นคนไม่ดีไปหมด
ถ้าบ้าจี้ฟังจนเคลิ้มตามข่าวที่ประโคมทุกวัน ระยะยาวคนที่จะลำบากมากขึ้นเพราะไม่มีเงิน ไม่มีทางเลือกในการดำรงชีพ ก็คือคนยากจน และคนฐานะปานกลางระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในโลกนั่นเอง
แบบที่เห็นกันอยู่นี้...ไม่ใช่สิ่งที่สังคมเราและสังคมโลกปรารถนา มิใช่หรือ?
สิ่งที่รัฐควรนำไปพิจารณา และวางแผนปฏิบัติการให้จบศึกนี้ คือ เลิกตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการ ที่ต้องมานั่งทบทวนเรื่องพิษภัยของสารเคมีทั้งหลายแหล่ เพราะยังไงๆ ก็ชัดเจนว่าสารเคมีนั้นมีพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบระยะยาวได้ หากใช้ไม่ถูกต้อง และขืนใช้วิธีเลี่ยงบาลี ตั้งกรรมการไปเรื่อยๆ ชุดแล้วชุดเล่า ก็เป็นเพียงการยื้อเวลาวิวาทะไปแบบหาทางจบได้ยาก และควรพิจารณายอมรับสัจธรรมว่า สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่งมักจะทำให้เกิดปัญหา และควรตัดสินใจเสียทีว่า การใช้วิธีต่างๆ อย่างรู้เท่าทันทั้งเรื่องประโยชน์และโทษย่อมน่าจะดีที่สุด จนกว่าจะเห็นหนทางที่มีผลดีแต่ไม่เกิดผลเสีย นั่นย่อมแปลว่าเจอหนทางที่ปรารถนาอย่างแท้จริง แต่จะเป็นไปได้จริงหรือ นั่นคงต้องดูกันต่อไป
หลังจาก"เลิก" และ"ยอมรับ" ทั้งสองเรื่องนั้นแล้ว รัฐควรดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรที่ใช้สารเคมีลดลง
หนึ่ง มอบหมายหน่วยงานหลักคือ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "กำหนดทางเลือกที่จะแนะนำให้เกษตรกรใช้แทนสารเคมีอันตราย" โดยรวบรวมหลักฐานวิชาการอย่างเป็นระบบ และสรุปข้อมูลทางเลือกในรูปแบบที่เข้าใจง่ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่แต่ละชนิดอย่างชัดเจน พร้อมอธิบายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หรือหากมีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นระยะยาวจากทางเลือกเหล่านั้นก็จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนและบอกวิธีจัดการ
สอง มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ทางเลือก ที่ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ใช้แทนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง หากต้องมีการใช้ทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม ก็ต้องเตรียมองคาพายพเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้สามารถดำเนินการใช้ได้เองในอนาคต
สาม หากเป็นกรณีที่เกษตรกรจำเป็นจะต้องลงทุนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อนำมาดำเนินการแทนการใช้สารเคมีอันตราย คงจะเป็นการดี หากรัฐจัดงบประมาณช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องควักเนื้อ และเป็นการจูงใจให้ลดละเลิกสารเคมีอันตรายเหล่านั้นตามความสมัครใจ
สี่ รัฐควรเสริมความเข้มแข็งให้เกิดระบบเฝ้าระวังการนำเข้า การซื้อขาย และการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อให้ทราบได้ชัดเจนแม่นยำว่า ตอนนี้มีที่ใดที่ใช้อยู่ โดยใคร และปริมาณมากน้อยเพียงใด พร้อมกับการเฝ้าระวังผลกระทบต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ห้า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านั้น มิใช่ปล่อยให้เกิดการแพร่ข้อมูลหลายทางจนทำให้เกิดความงุนงงแก่ประชาชนดังที่เห็นในปัจจุบัน และเป็นการลดโอกาสเกิดความบาดหมางระหว่างกลุ่มจากการสื่อสารแบบอิสระดังที่เห็นมา
หก รณรงค์ และสนับสนุนสินค้าการเกษตรปลอดสารเคมี ทั้งในแง่ของแหล่งผลิต และผู้บริโภค และสร้างมาตรการในการลดโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยใช้มาตรการต่างๆ เต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าผ่านแนวคิดประชารัฐ ตลอดจนการใช้กลไกชุมชนในการดำเนินการควบคู่ไปด้วย
เจ็ด พัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรที่ครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อยกระดับให้เกิดผู้ประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม และผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าจากคุณค่าความปลอดภัยที่นำส่งแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าใช้แต่ละวิธีอย่างมีสติ อยู่อย่างสมดุล ไม่ควรโลภและไม่ควรประมาท หากทำเช่นนี้ได้คงดีมากครับ
ชีวิตคนเรานั้นมีความเสี่ยงมากมายก่ายกอง ไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว สาเหตุที่เกิดผลเสียล้วนมาจาก"คน"
เรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ล้วนมีความโยงใยเกี่ยวพันกันอย่างตัดไม่ขาด การจะประกาศนโยบายอะไรไปนั้นต้องใคร่ครวญให้ดีว่าประกาศไปแล้วทำได้จริงไหม จะเกิดผลกระทบต่อใคร อะไรบ้าง มิใช่มองแต่มิติใดมิติหนึ่ง หรือใช้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเชิงลึกเฉพาะประเด็น เพราะสังคมคือการที่คนหมู่มากอยู่ร่วมกัน นโยบายรัฐนั้นมีไว้เพื่อกำหนดทิศทางให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และสามารถช่วยกันพัฒนาประเทศไปได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง:
1. Reganold J. Can we feed 10 billion people on organic farming alone? The Guardian. 14 August 2016.
2. Erb KH et al. Exploring the biophysical option space for feeding the world without deforestation. Nature Communications 2016;7:Article number 11382.
3. Organic farming statistics. Eurostat. November 2017.
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ สสส.