“พลังงานเพื่อใครยั่งยืน?”…ความฝันของตาแม้น กับ ความทุกข์ของตาเต็ก
นี่คือ “โฆษณาที่สวยหรู” กับ “ความจริงที่แตกต่าง” ของโรงไฟฟ้าที่เข้าไปสร้างในพื้นที่ชุมชน…ความจริงที่มีพื้นที่นำเสนอน้อยนักในสังคมบริโภคนิยม ที่สนองหาความต้องการไม่สิ้นสุด แม้แต่ “พลังงาน” !
“โฆษณาชีวิตที่ปลูกพลังงานได้”... ในความฝันของตาแม้น
หากเรายังพอจำได้ ภาพยนตร์โฆษณาโทรทัศน์เมื่อต้นปี 2554 ที่นำเสนอเรื่องราวของตาแม้น (ตัวละครสมมุติ) ที่ฝันว่าถ้าเขาปลูกพลังงานได้ชีวิตจะเป็นอย่างไร... โดยติ้งต่างให้ตาแม้น มองแล้วชูหลอดไฟขึ้น หลังจากนั้นฝังหลอดไฟลงในหลุมที่ขุดเตรียมไว้แล้วเอามือกลบพร้อมยกมือไหว้ ต่อจากนั้นตาแม้นและหลานก็ปะแป้งเต็มหน้าเฝ้ารอด้วยรอยยิ้มอย่างมีความหวัง
กระทั่ง “ต้นพลังงาน” เติบโตผลิดอกออกผล ตาแม้นและหลานเก็บเกี่ยวผลพลังงานใส่ตระกร้า ปั่นจักยานไปเผื่อแผ่ให้กับคนในชุมชน พร้อมกับคำบรรยายสำทับ “มีความสุข มีพลังงานทดแทนให้ลูกหลาน” ซึ่งตาแม้นและหลานมีใบหน้าเปี่ยมสุขเป็นอย่างมาก เมื่อถึงไคลแมกซ์ตอนท้าย ภาพตัดเข้าไปที่ชายหนุ่มหน้าตาดีใสเสื้อช็อปสวมหมวกนิรภัยติดโลโก้หราออกมาพูดว่า “มีจริงแล้วครับ ที่โรงไฟฟ้าบราๆๆๆ เราใช้ไม้พลังงานที่ปลูกขึ้นเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีที่สะอาด” ตบท้ายบรรยายบนภาพแบ็คกราวของโรงไฟฟ้าที่สวยงาม “ดับเบิ้ลเอพาวเวอร์ ปลูกพลังงานเพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต”
ภาพซ้ายมือนำมาจากเว็บ http://www.doubleapower.com/th/ ส่วนขาวมือถ่ายเมื่อวันที่ 22 พฤษาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็ดูสวยงามดีใกล้เคียงกับข้อเท็จจริง
“ความฝันของตาแม้น” นำเสนอแนวคิดใหม่ “ปลูกพลังงานเพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต” เรียกเสียงอือฮาสำหรับผู้ชมโทรทัศน์ได้ค่อนข้างดีทีเดียว... แต่หากลองตัดสลับมา ณ วันนี้ ลองไปพิจารณาเขยิบออกจากภาพด้านซ้ายมือร่นลงมาตามสายพานลำเลียงถ่านหินอีกนิด ผมกลับพบเรื่องราวต่อไปนี้...
“ความทุกข์ของตาเต็ก”…ความจริงที่ต้องอยู่ใกล้กองถ่านหิน และโรงไฟฟ้า
“ตาเต็ก” หรือ นายไผ่ อยู่สุขสบาย อายุ 71 ปี ชาวบ้าน บ.หัวโล่ ม.4 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ชาวบ้านที่ตั้งหลักปักฐานในที่ดินขนาด 27 ไร่ มา 40 กว่าปี ก่อนที่ บ. 304 อินดัสเดรียล ปาร์ค (ปราจีนบุรี) จะเข้ามากว้านซื้อพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม และเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2537 บนพื้นที่ 7,500 ไร่ เล่าให้ผมฟังว่า
“ตอนแรกมีคนมาติดต่อขอซื้อที่ ไร่ละ 2-3 พันบาท โดยบอกว่าจะนำไปทำเป็นฟาร์มเลี้ยงโคนม แต่กลายเป็นโรงต้มไม้ซึ่งชาวบ้านในละแวกนี้ก็ต่างเริ่มทยอยขายให้ แต่ไม่นานก็เริ่มมีคนงาน นำเครื่องจักรทยอยเข้ามา ในพื้นที่ใกล้ๆเคียงบริเวณบ้าน มีการตอกเสาเข็มดังโป้งป้างอึกทึก แต่ชาวบ้านแถบนี้บางส่วนก็ยังไม่ยอมขายจนปัจจุบันราคาก็ขยับไปเป็นไร่ละแสน บางคนที่คิดว่าอยู่ไม่ได้ก็ต่างขายทิ้งให้โรงงานเป็นทิวแถว”
40 ปี นับจากตั้งรกรากครอบครัวอยู่สุขสบายของตาเต็กและภรรยา จวบปัจจุบันกลายเป็นครอบครัวขยาย 5 ครอบครัว โดยปลูกบ้านในขอบรั้วเดียวกัน 5 หลังคาเรือน มีสมาชิกรวม 17 คน มีชิวตสุขสงบทำสวนทำนารับจ้าง หาเลี้ยงลูกเต้าจนเติบใหญ่ และมีหลานให้ชื่นใจ
แต่ในช่วง13 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวอยู่สุขสบาย ชักจะไม่สบายอย่างที่เคยเป็นอยู่มาก่อนหน้าแล้ว เพราะมีคนเอาถ่านหินมากองไว้หน้าบ้าน ห่างไปเพียงช่วง 3-4 ต้นเสาไฟฟ้า เพื่อจะนำมาเป็นเชื่อเพลิงร่วมในการผลิตกระแสไฟฟ้า ป้อนโรงงาน
ด้วยยึดประกอบอาชีพเกษตรกร เคยยกพื้นที่เป็นสวนส้มโอ แต่ต้องมาตัดโค่นลงเมื่อ 7 ปี ที่ผ่านมา เพราะส้มโอได้แต่ติดดอกแต่ไม่ออกผล และหันมาปลูกมันสัมปะหลังแทน แต่ก็ต้องมาประสบปัญหาใบเหลือง รากเน่าอีกเช่นกัน จากผลผลิตมันที่เคยได้ปีละ 8 หมื่นกว่าบาทลดลงเหลือ 3 หมื่นกว่าบาท
ตาเต็ก เล่าให้ผมฟังพร้อมทั้งชี้ให้ดูผืนคันตามจุดต่างๆ ของร่างกาย บ้างเกาเป็นแผล ตามมือมีลักษณะเปื่อยลอก พร้อมทั้งถอดแว่นตาดำ ชี้ให้ดูดวงตาที่เริ่มเป็นปัญหาต้องใส่แว่นตาดำอยู่ตลอดเวลา
“บ้านผมอยู่ตรงนี้ ต้องรับลมที่ผ่านมาจากโรงไฟฟ้า และกองถ่านหินมาโดยตลอด เวลาเขาเอาขึ้นสายพานลำเลียงเศษฝุ่นฟุ้งกระจาย ปลิวมาบ้านผมตลอดเวลา บ้านช่อง ห้องหับเต็มไปด้วยเศษถ่านหิน จนลูกสาวผมเขาเลิกกวาดบ้านและมาสร้างห้องปิดทึบติดแอร์อยู่ใต้ถุนเรือน สิ่งที่กระทบมากๆ คือบ้านลุงไม่มีน้ำประปา ต้องอาศัยน้ำบ่อท้ายไร่ มากินมาใช้ ทั้งที่รู้ว่าน้ำมันไม่ดีเหลืองขุ่นมีกลิ่นฉุน แต่ทำไงได้ นี่ยังไม่พูดถึงกลิ่นที่ช่วงหลังจากมีโรงงานผลิตผงปรุงรสมาตั้ง ลุงก็นอนดมกลิ่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”
ปัจจุบันลุงเต็กต้องไปหาหมอทุกเดือน แม้ทางนิคมจะมาติดต่อขอซื้อที่โดยให้ไร่ละแสน ลุงเต็กก็ยังไม่ยอมขาย อาจเป็นเพราะสมาชิกในครอบครัวจำนวน 17 คน กระมัง ที่หากขายที่ไป 27 ไร่ ก็ได้เงินแค่ 2.7 ล้านบาท มันจะพอและคุ้มค่ากับการต้องย้ายถิ่นและความมั่นคงของครอบครัวอยู่สุขสบายหรือไม่ ผมคิดว่าแกคงชั่งใจอย่างหนักหน่วงทีเดียว!!