ออกกฎควบคุมเด็กโดยไม่เข้าใจเด็ก !!
"...พัฒนาการของเด็กวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พวกเขาต้องการความเป็นอิสระอยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง รวมไปถึงความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ บางคนสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อสารพัดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งจากที่บ้าน โรงเรียน และสังคม แต่นี่ไม่ใช่รากฐานของความคิดสร้างสรรค์หรอกหรือ สังคมเราต้องการความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่หรือต้องการคนรุ่นใหม่ที่เดินตามรอยผู้ใหญ่ยุคนี้อย่างเดียวกันแน่..."
ภายหลังเห็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียน นักศึกษา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา 3 ประเด็น ดังนี้
หนึ่ง - กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
สอง - แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย
สาม - แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก
ด้วยเหตุผลที่กระทรวงศึกษาธิการแจ้งว่า เนื่องจากมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษา และตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา จึงได้มีทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2548
“เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เป็นกฎที่มีมานาน จำต้องปรับแก้กฎกระทรวงจากเดิมเพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น โดยกฎกระทรวงที่ออกมาจะเป็นเกณฑ์กลาง ว่าเวลาเด็กทำผิดในลักษณะไหน จะลงโทษอย่างไร อีกทั้งกฎกระทรวงเดิมไม่กำหนดและขยายความเพิ่มเติมให้ทันสมัย เช่น ข้อกำหนดที่ว่านักเรียนนักศึกษาต้องไม่ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืนเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น และไม่มีข้อห้ามครอบคลุมถึงรวมกลุ่มมั่วสุมของเด็กแว้น อย่างไรก็ตามต้องดูภาพรวม และตีความคำว่ามั่วสุมให้เข้าใจด้วย เช่น เด็กรวมกลุ่มกันเพื่อไปเรียนพิเศษแล้วรถติดกลับบ้านดึก ไม่ถือว่ามั่วสุม”
ข้างต้นคือคำกล่าวของนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ช่างเป็นเหตุผลของรัฐมนตรีที่เป็น “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น” ที่ทันสมัยจริงจริ้งจริง ๆ !!
และแน่นอน ดิฉันไม่รีรอที่จะถามไถ่ความคิดเห็นของลูกชายคนโต ต่อข่าวคราวเรื่องนี้
“ในฐานะเยาวชนคนหนึ่ง การตั้งกฎหรือข้อห้ามรวมถึงการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนในลักษณะนี้ เป็นการจำกัดเสรีภาพ และลดทอน 'ความเป็นมนุษย์' ของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของชาติในภายภาคหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยอย่างยิ่ง...
ถ้าต้องการแค่จะควบคุมพฤติกรรมเด็กจริง ๆ ผมก็ไม่เห็นว่ามันเป็นวิธีที่ฉลาดเท่าไรนัก ถ้าคิดว่าการตั้งกฎเป็นวิธีรับมือกับคนที่เกิดมาเพื่อแหกกฏจริง ๆ หรือ เหมือนสร้างกฏมาให้พวกเขาแหกเพิ่มมากกว่าละมั้ง เพราะถ้าจะบังคับใช้จริง ๆ น่าจะตั้งกฎมาเพิ่มอีกข้อหนึ่งคือห้ามใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มในการโจมตีและไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ด้วย..ขอเถอะครับ อย่านำนโยบายที่ร่างโดยผู้อาวุโสที่ไม่ได้เข้าใจ 'ความเป็นเด็ก' มาบังคับใช้กับเยาวชนโดยที่ไม่ได้มีการถามความคิดเห็นของเยาวชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้เสียก่อน”
นี่เป็นเพียงความคิดเห็นของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับปฏิกิริยาของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านกฏกระทรวงดังกล่าวต่อผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว และเริ่มมีปฏิกิริยาต่อวัยรุ่นอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ก็ต้องรอดูต่อไปว่า เสียงของเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะได้รับความใส่ใจหรือไม่
ผู้ใหญ่ทุกคนเคยผ่านช่วงชีวิตวัยรุ่นมาด้วยกันทั้งนั้น เคยนึกถึงช่วงชีวิตในวัยรุ่นหรือไม่ว่าเรามีลักษณะนิสัยอย่างไร เคยท้าทายหรือทำอะไรโลดโผน รวมไปถึงแหกกฎหรือไม่ และเมื่อผู้ใหญ่พยายามควบคุมเรามากเท่าไหร่ ปฏิกิริยาในการต่อต้านของวัยรุ่นเป็นอย่างไร จำกันได้ไหม?
มีผู้ใหญ่วันนี้สักกี่คนที่ไม่เคย “แหกกฎ” สมัยเป็นวัยรุ่น ?
หรือลองนึกย้อนไปถึงเรื่องระเบียบการแต่งกายและทรงผมในวัยเรียน ที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เด็กควรทำตามระเบียบ แล้วทำไมเด็กนักเรียนถึงพยายามแหกกฎมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะรู้ว่าตัวเองทำผิดระเบียบและจะต้องถูกลงโทษ และต่อให้จะมีมาตราการที่เข้มงวดแค่ไหนก็ตาม แต่สุดท้ายทำไมเด็กก็พยายามแหกกฏอยู่ดี
ประเด็นเรื่องระเบียบวินัยเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ประเด็นเรื่องพัฒนาการตามวัย การเรียนรู้ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงวัยของเด็กวัยรุ่น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม
พัฒนาการของเด็กวัยรุ่นมีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม พวกเขาต้องการความเป็นอิสระอยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง รวมไปถึงความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ บางคนสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อสารพัดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งจากที่บ้าน โรงเรียน และสังคม แต่นี่ไม่ใช่รากฐานของความคิดสร้างสรรค์หรอกหรือ สังคมเราต้องการความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่หรือต้องการคนรุ่นใหม่ที่เดินตามรอยผู้ใหญ่ยุคนี้อย่างเดียวกันแน่
ความรู้สึกและพฤติกรรมเหล่านี้ ผู้ใหญ่ก็ล้วนเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น เพียงแต่ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนที่ถูกเลี้ยงดูและหล่อหลอมมาแตกต่างกันอย่างไร เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แบบไหน
จริงอยู่ว่ามีเด็กที่มีพฤติกรรมแย่ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ต้องไปแก้ที่สาเหตุและแก้ไขให้เหมาะกับสภาพของเด็กด้วย มิใช่มาเหมารวมเอาปัญหาเรื่องเด็กแว้น หรือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางส่วน มาเหมารวมเด็กวัยรุ่น และใช้อำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ให้เหมือนกันหมด
เราอยู่ในสังคมที่ผู้ใหญ่จ้องจะสอนเด็กมาโดยตลอด ความคิดที่ว่าเด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่เท่านั้น ถ้าไม่เชื่อฟัง เป็นเด็กไม่ดี แล้วผู้ใหญ่ก็ชอบพูดซ้ำ ๆ ว่าทำเพื่อเด็ก หวังดีกับเด็ก เวลากำหนดกฏเกณฑ์ใด ๆ ก็บอกว่าเพื่อเด็ก
คำถามคือแล้วเด็กได้เคยมีส่วนร่วมใด ๆ ในเรื่องของพวกเขาได้จริงหรือไม่ ผู้ใหญ่เคยรับฟังเสียงของเด็กอย่างแท้จริงอย่างที่บอกว่าปรารถนาดีหรือไม่
กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่บรรดาผู้มีอำนาจทั้งหลายในบ้านนี้เมืองนี้ออกกฎ กติกา กฎหมาย ฯลฯ โดยไม่ได้ให้เด็ก ๆ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของเขาเองด้วยเลย
ความคิดที่ต้องการควบคุมและเน้นไปที่บทลงโทษ โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบททางสังคมอื่น ๆ ที่ควรจะคู่ขนานเอื้อให้เด็กกลุ่มเหล่านี้มีพื้นที่ดีๆ มีโอกาสดี ๆ มีกิจกรรมสร้างสรรค์ดีๆ ที่เหมาะสมกับวัยของเขา มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคุณภาพของเด็กและเยาวชนด้วยน่ะ มีไหม !
ถ้าไม่มี ก็เอาเวลาและสติปัญญาไปคิดวางแผนเรื่องปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จดีกว่าค่ะ !
ที่มา : สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www4.sit.kmutt.ac.th/