เตรียมฟ้องศาลปกครอง ปม มติ คกก.วัตถุอันตราย ไม่แบน 3 สารพิษ
มูลนิธิชีววิถี-ไทยเเพน พร้อมเครือข่ายฯ เปิดข้อมูล 11 ประเด็นอัปลักษณ์ รายงานอนุกรรมการฯ พร้อมเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองปมมติ คกก.วัตถุอันตราย ไม่เเบน 3 สารพิษ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ขัดกม. -ไม่ปกป้องผลประโยชน์ ปชช. จี้โยกอำนาจตัดสินใจไปที่องค์กรด้านสุขภาพโดยตรงเหมือนสนง.ปกป้องสิ่งเเวดล้อม ในสหรัฐฯ
วันที่ 20 ส.ค. 2561 มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai Pesticide Alert Network:ThaiPan) จัดแถลงข่าว “เปิดเผยรายงานที่ถูกปกปิด เบื้องหลังมติอัปยศ ไม่แบนสารพิษร้ายแรง” ณ สวนชีววิถี จ.นนทบุรี
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยตอนหนึ่งถึงรายงานของอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายที่พบ 11 ประเด็นอัปลักษณ์ ได้แก่ 1.จงใจเลือกข้อมูลมาสรุปเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงต่อ 2.ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียน 3.โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4.บิดเบือนเหตุผลของการเสนอแบน 5.แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6.ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ ๆ 7.อ้างข้อมูลย่อยลดทอนปัญหาใหญ่ 8.เลือกใช้ข้อมูลบรรษัท 9.อ้างความผิดเกษตรกร 10.ละเลยทางเลือกที่ดีกว่า และ 11.ชี้นำการตัดสินใจของกรรมการ
ขณะที่ในรายงานบทสรุปผู้บริหารไม่ได้ระบุถึงทางเลือกทดแทนการใช้สารพิษ มีเฉพาะในรายงานส่วนบุคคลที่เสนอทางเลือกทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลายทางเลือกพบว่า มีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้พาราควอต เช่น ใช้พืชคลุมดิน ซึ่งอนุกรรมการรายบุคคลต้องจัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมาเฉพาะ และโชคดีที่เราได้เห็นข้อมูลดังกล่าว
“ การลงมติที่ผ่านมามีอนุกรรมการเพียง 2 ราย ที่ลงมติปกป้องสุขภาพของประชาชน ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอให้แบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด และนพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอให้ยกเลิก พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต”
ส่วนผลการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 25 คน กรณีพาราควอต มีเพียง 4 คน เรียกร้องให้ยกเลิก ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ตัวแทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย. และกรมปศุสัตว์
คลอร์ไพริฟอส มี 3 คน ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอย.
สุดท้าย ไกลโฟเซต มี 2 คน ได้แก่ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ภายใน 2 สัปดาห์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี รวมถึงสมาชิกเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรงกว่า 700 องค์กร จะฟ้องศาลปกครองในกรณีที่มีการลงมติที่อาจขัดต่อกฎหมาย ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับมติดังกล่าว และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่คุ้มครองปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน พร้อมกับเรียกร้องไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษเข้ามามีส่วนร่วมในการฟ้องครั้งนี้ด้วย
นอกจากนี้ควรให้อำนาจการตัดสินใจยกเลิกการนำเข้าและใช้สารพิษในประเทศกับหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่นเดียวกับสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency -EPA) ในสหรัฐฯ เป็นต้น .