รำลึกถึง Kofi Annan และข้อคิดในการนำประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง
ประโยคสำคัญที่ท่านฝากไว้ว่า เป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยได้ที่ผมจำได้แม่นยำคือถ้อยคำที่ว่า “นักการเมืองต้องเสียสละมากขึ้นและต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว”
ผมยังจำวันที่นั่งประชุมกับ Kofi Annan ที่ Kofi Annan Foundation ในกรุงเจนีวาเมื่อปี 2554 ได้ดี
ภารกิจของเราในตอนนั้นคือต้องการเชิญ Kofi Annan มาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ได้ เพราะการสนับสนุนของ Kofi Annan จะส่งผลอย่างมากต่อสถานภาพของ คอป.ในช่วงเวลานั้น
ถ้าย้อนเวลากลับไป หลายท่านคงจำได้ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง และ คอป.ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมือง แต่ต้องทำงานต่อเนื่องมาในช่วงเวลาของรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คอป.จึงอยู่ในสภาพที่ติดลบในความน่าเชื่อถือและยากลำบากในการทำงานตั้งแต่แรก
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คอป.สามารถมีบทบาทที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทยในยามขัดแย้งคือการสร้างความมั่นใจในแนวทางการทำงานของ คอป.ว่ามีความเป็นกลาง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่รับผิดชอบ มีความเป็นมืออาชีพ และได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
การได้นักการทูตระดับโลกอย่าง Kofi Annan มาเป็นที่ปรึกษาจึงเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง
การเข้าพบในครั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้ามาก่อน แต่เกิดขึ้นด้วยความอนุเคราะห์ของ Martti Ahtisaari อดีตประธานาธิบดี Finland ซึ่งถือเป็น Friend of Thailand คนหนึ่งที่เราบุกไปเชิญมาเป็นที่ปรึกษาถึง Helsinki
ด้วยความคุ้นเคยส่วนตัวและโทรศัพท์สายตรงจาก Helsinki เราก็บินตรงจาก Helsinki มา Geneva พร้อมกับโอกาสเข้าพบ Kofi Annan นักการทูตผู้ยิ่งใหญ่
ส่วนเมื่อพบแล้วผลจะเป็นยังไงไม่มีใครสามารถคาดเดาได้
ด้วยเหตุที่คอป.ไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐ และเราก็ไม่ต้องการได้รับการสนับสนุนหรือมีภาพใกล้ชิดกับรัฐบาลซึ่งถือเป็นฝักฝ่ายในความขัดแย้งมากเกินไป เราจึงมีสถานภาพเป็นเพียงแค่คณะบุคคลชุดหนึ่งที่ walk in เข้าไปพบ Kofi Annan เท่านั้น
Kofi Annan ซักถามอย่างละเอียดถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทย รวมไปถึงปรัชญาและแนวทางการทำงานของ คอป. สภาพการไม่ต่างจากการเข้าสอบสัมภาษณ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
ผมได้เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงความยากของงานที่ทำให้งาน คอป. ต่างจากการจัดการความขัดแย้งที่ประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เพราะ คอป.ต้องทำงานในขณะที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่และกำลังดำเนินต่อไป อันมีลักษณะต่างจากภารกิจในการสร้างความปรองดองหลังจากความขัดแย้งจบไปแล้วดังเช่นกรณีทั่วๆไป แม้ในทางการเมืองอาจต้องการให้ คอป.เป็นเพียงแค่ “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง” หรือ “Fact Finding Committee” เพื่อหาผู้รับผิดในสถานการณ์ความรุนแรงเท่านั้น แต่เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วเราตั้งใจว่าจะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะไม่ยอมเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองใด ภารกิจของเราจึงมิใช่เพียงแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การชี้นิ้วหาคนผิดเท่านั้น แต่เราจะพยายามแสวงหา “ความจริง” หรือ “Truth” ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความขัดแย้งของประเทศไทยให้ได้ด้วย
คอป.เชื่อมั่นว่าด้วยความเข้าใจถึง “ความจริง” นี้ร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้ง เราจึงจะสามารถนำประเทศไปสู่ความปรองดองที่แท้จริงและยั่งยืนได้ เราจึงตั้งชื่อคณะกรรมการว่า Truth “for” Reconciliation Committee ไม่ใช่ Truth “and” Reconciliation Committee เหมือนคณะกรรมการในประเทศอื่นๆที่เคยมีมา
และดูเหมือนว่าเราจะสอบผ่านการสอบสัมภาษณ์ เพราะ Kofi Annan ตอบตกลงที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับ คอป.และยินดีที่จะเดินทางมาประเทศไทย โดยยอมยกเลิกภารกิจมากมายเพื่อที่จะเดินทางมาให้เร็วที่สุด และเป็นการเดินทางที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ
ท่านบอกว่าเหตุผลสำคัญที่ท่านตอบรับก็เพราะรักประเทศไทย รักคนไทย และศรัทธาในการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนามนุษย์ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมาตลอดรัชสมัย ท่านเองเป็นคนนำ “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” หรือ “Human Development Lifetime Achievement Award” ของ UNDP มาถวายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยตนเองในปี 2549 ในขณะที่เป็นเลขาธิการสหประชาชาติ
ในช่วงเวลาที่ทำงานร่วมกัน ผมได้มีโอกาสเรียนรู้แนวทางการทำงานของท่านที่ให้ความสำคัญกับการเป็นผู้รับฟังที่ดี เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะมีคำแนะนำและข้อเสนอแนะใดๆ
หลังจากท่านได้ศึกษาและรับฟังปัญหาโดยละเอียดแล้ว ผมมีโอกาสถามท่านเป็นการส่วนตัวว่าจากประสบการณ์ของท่านที่ผ่านสถานการณ์ความขัดแย้งมามากมาย ท่านคิดว่าปัญหาความความขัดแย้งในประเทศไทยยากต่อการแก้ไขไหม และอะไรคือปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุด
ท่านบอกผมว่า จริงๆแล้วประเทศไทยถือว่าโชคดีมาก เพราะความขัดแย้งในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลกแล้วถือว่าเล็กน้อยมาก ประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งที่รุนแรงในเรื่องอุดมการณ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม เรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนบ้างแต่ก็เป็นประเด็นซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงและมีทิศทางที่ดีขึ้น คนไทยมีความภูมืใจในชาติ และเรายังโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยมาช้านาน
แม้ปัญหาในระดับโครงสร้างจะไม่รุนแรง แต่ท่านเห็นว่าต้องพยายามยุติความขัดแย้งให้รวดเร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้นานอาจกลายพันธุ์ไปสู่ปัญหาเรื้อรังซับซ้อนที่ยากต่อการเยียวยาได้
ประโยคสำคัญที่ท่านฝากไว้ว่า เป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยได้ที่ผมจำได้แม่นยำคือถ้อยคำที่ว่า
“นักการเมืองต้องเสียสละมากขึ้นและต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว”
ผมว่า Kofi Annan มองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่งว่า รากเหง้าของปัญหาทั้งปวงของประเทศนี้คือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมของกลุ่มคนบางกลุ่มทั้งสิ้น
ผมเอง หลังจากที่ได้จับงานปฏิรูปมาตลอดชีวิตการทำงานและได้เห็นยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศมาแล้วหลายฉบับ ก็มีข้อสรุปในทำนองเดียวกันว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนคือ “การพัฒนาคน” และหัวใจสำคัญที่สุดของการพัฒนาคนคือการสร้าง “ค่านิยม” ให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวนั่นเอง
แม้วันนี้ Kofi Annan นักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ที่ทุ่มเทชีวิตเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและสันติภาพจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ถ้อยคำแห่งปัญญาที่ท่านได้ฝากไว้สำหรับประเทศไทยจะเป็นแนวทางสำคัญในการทำงานของผมต่อไป
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
19 สิงหาคม 2561