เยาวชน กับ “ความปลอดภัยทางถนน”
ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญ ที่เด็กนักเรียนมัธยมปลายชาวบังคลาเทศ ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องหา “ความปลอดภัยในการเดินทาง” ของรถประจำทาง ภายหลังจากเหตุการณ์เช้าวันที่ 29 กรกฏาคม 2561 ที่นักเรียน 2 คน เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารพุ่งชนเพราะขับด้วยความเร็วเพื่อแย่งรับผู้โดยสารในกรุงกาธาเมืองหลวงของบังคลาเทศ โดยเยาวชนบังคลาเทศนับหมื่นคนออกมารวมตัวกัน ประท้วงเพื่อทวงความยุติธรรมให้แก่เด็กทั้งสอง รวมทั้งเรียกร้องให้เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อทุกคน กลุ่มนักเรียนประท้วงด้วยการปิดถนนหลายสาย มีนักเรียนกว่า 150 คน ในกรุงกาธา ทำหน้าที่ตำรวจจราจรในการอำนวยการการจราจรในหลายเส้นทาง รวมถึงการตรวจสอบใบขับขี่ บัตรรับรองสุขภาพ และยึดกุญแจรถกรณีคนขับมีเอกสารไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเรื่อง การใช้ทางม้าลาย การใช้ทางเท้า จัดแยกเลนสำหรับรถส่วนตัว รถสามล้อที่ใช้ก๊าซ CNG รถจักรยานยนต์ และเลนพิเศษสำหรับรถฉุกเฉินอีกด้วย
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ได้เกิดเหตุการณ์รถบัสชนท้ายรถจักรยานยนต์ของบุรุษพยาบาล ขณะขับขี่กลับที่พัก ทำให้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่คนขับรถบัสถูกจับกุม และเหตุการณ์เด็กนักเรียนหญิงวัย 15 ปี เสียชีวิตจากการถูกรถบรรทุกชน แต่ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่ผู้ประท้วงโกรธแค้นจนจุดไฟเผารถบัส ทำให้คนในพื้นที่ไม่พอใจและก่อเหตุทำลายรถ 5 คัน และจุดไฟเผารถบัส 2 คัน เพื่อประท้วงเหตุเศร้าสลดนี้
Mohammad Sifat หนึ่งในผู้ชุมนุมเรียกร้อง เผยว่า “พวกเราไม่ต้องการให้ยานพาหนะที่ไม่ได้รับใบอนุญาตวิ่งบนท้องถนน คนกลุ่มนี้ไม่สมควรจะได้รับใบขับขี่ และพวกเราไม่ต้องการให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะขับขี่ยานพาหนะใดๆในพื้นที่สาธารณะเป็นอันขาด” Saiyara Islam Roj นักเรียนวัย 17 ปี เล่าว่า เธอไม่เคยเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงมาก่อนเลยในชีวิต และนี่คือการร่วมชุมนุมครั้งแรกของเธอ “ฉันเข้าร่วมด้วยเพราะฉันรู้ดีว่าท้องถนนบ้านเราอันตรายมากแค่ไหนในทุกๆ วันที่ฉันก้าวขาออกจากบ้าน เราอยากให้การทุจริตคอร์รัปชั่นและพวกใต้โต๊ะหมดไป และเลิกออกใบขับขี่ง่ายๆ เหมือนแจกขนมเสียที”
ในขณะที่ นาย Asaduzzaman Khan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ออกมาระบุว่า สนใจฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ โดยกล่าวว่ารัฐบาลจะออกมาตรการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ขณะที่กระทรวงศึกษา ได้ประกาศหยุดโรงเรียนทั่วประเทศ และสัญญาจะนำข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงไปพิจารณา แต่ก็ไม่ช่วยให้การประท้วงยุติลงแต่อย่างใด เพราะผู้ประท้วงยังไม่เห็นความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างจริงจังนั่นเอง
ทั้งนี้ จากตัวเลขของคณะกรรมการการขนส่งทางเรือ ถนน และรถไฟของบังคลาเทศ ระบุว่า มีผู้ใช้ถนน (เดินเท้า) เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่า 4,200 คน ในปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 จากปีก่อนหน้า
สรุปข้อเรียกร้องหลักๆ ที่เยาวชนบังคลาเทศต้องการให้เกิดขึ้นคือ
1.ยานพาหนะทุกคันต้องมีทะเบียน
2.ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่และบัตรรับรองสุขภาพ โดยต้องมีหลักเกณฑ์การออกให้ขับขี่ที่เข้มงวด เนื่องจากปัจจุบัน การออกใบขับขี่ทำได้ง่ายเกินไปและมีปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัจจัย ให้สามารถครอบครองใบขับขี่โดยง่าย
3.ไม่อนุญาตให้ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นผู้ขับรถสาธารณะหรือขับขี่บนถนนสาธารณะ
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบังคลาเทศ ย้อนกลับมาที่สถานการณ์ความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งนับว่าอันตรายกว่าบังคลาเทศเป็นอย่างมาก ในแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 2,509 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เฉลี่ยปีละ 821 ราย และเยาวชนอายุ 15-19 ปี เฉลี่ยปีละ 1,688 ราย โดยมีสาเหตุการเสียชีวิตหลักๆ มาจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ที่น่าตกใจคือ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคที่ระบุว่า เด็กไทยเริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ตั้งแต่อายุ 12 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่สามารถทำใบขับขี่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ภาพเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ขับขี่รถจักรยานยนต์กลายเป็นภาพชินตา โดยเฉพาะในสังคมชนบท สอดคล้องกับผลการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ระบุว่า เด็กอายุน้อยที่สุดที่เริ่มหัดขับขี่รถจักรยานยนต์คือ 7 ปี ดังนั้นตัวเลขการเสียชีวิตของเด็กไทยปีละ 2,509 ราย หรือเทียบเท่าโรงเรียนขนาดใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดเดามากนัก
จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กฯ ได้ทำให้ภาพวงจรความเสี่ยงของเด็กไทยปรากฏชัดขึ้น วงจรดังกล่าวเรียกว่า “ซบ ซ้อน ซิ่ง”
ซบ จัดอยู่ในช่วงวัยแรกเกิด - 4 ปี ตามบริบทของคนไทยที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลัก เมื่อลูกคลอดที่โรงพยาบาลและถึงกำหนดที่ต้องพากลับบ้าน พ่อแม่มักจะใช้ผ้าห่อตัวและพาซบอกแม่ซ้อนรถจักรยานยนต์กลับบ้าน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ ผ้าห่อตัวไปพันกับซี่ล้อรถจักรยานยนต์ ทำให้เด็กทารกไปติดในซี่ล้อ บางรายพิการ บางรายเสียชีวิต ตามที่ปรากฏในข่าวรายวัน
ซ้อน จัดอยู่ในช่วงอายุ 5-9 ปี เด็กในวัยนี้จะเริ่มซ้อนรถจักรยานยนต์ ทั้งซ้อนพ่อแม่เพื่อไปโรงเรียน หรือซ้อนเพื่อนเพื่อไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ด้วยลักษณะทางกายภาพของเด็ก การขับขี่หรือการซ้อนรถจักรยานยนต์จะมีความเสี่ยงเนื่องจากกล้ามเนื้อหรือการยึดเกาะเมื่อต้องนั่งซ้อนรถยังไม่ดีนัก จึงอาจเกิดอันตรายระหว่างการเดินทางได้ และจะมีความเสี่ยงมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่สวมหมวกนิรภัย
ซิ่ง จัดอยู่ในช่วงอายุ 10-14 ปี จากผลการศึกษาพบว่า เด็กจะเริ่มขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงวัยที่สามารถทำใบขับขี่ได้ นั่นหมายถึงยังไม่ผ่านการทดสอบว่ามีทักษะในการขับขี่รถจักรยานยนต์ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เด็กไทยเรียนรู้เรื่องการขับขี่รถจักรยานยนต์จากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน มีเด็กส่วนน้อยที่จะได้เรียนกับโรงเรียนสอนขับขี่รถที่ถูกต้อง ทำให้ขาดทักษะการขับขี่เชิงป้องกันที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้าได้
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยตลอดมาถูกอธิบายด้วยคำว่า “เด็กแว๊น” กล่าวคือ เด็กที่ขับขี่ก่อนวัยอันควรมักจะถูกตีตราว่าเป็นเด็กเกเร ทำตัวเอง หรืออย่างมากก็ถูกมองว่าครอบครัวปล่อยปละละเลย ตราบใดที่เรายังมีท่าทีต่อสถานการณ์ดังกล่าวโดยการต่อว่า โดยไม่ออกมาเรียกร้องหาผู้ร่วมรับผิดชอบ จากตัวเลข 2,509 ราย ที่ต้องสังเวยชีวิตบนถนนไทยคงเพิ่มอีกเป็นเท่าตัวในไม่ช้า การปล่อยให้เด็กที่ไม่มีใบขับขี่ออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์ ครอบครัวของเด็กและเจ้าของรถจักรยานยนต์ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและต่อผู้ใช้ถนนทุกคนที่ต้องมาร่วมรับความเสี่ยง
เราคงไม่ต้องรอให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงและต้องลุกขึ้นมาปิดถนนเหมือนบังคลาเทศ แต่ถึงเวลาแล้วที่เราต้องไม่เพิกเฉยต่อภาพเด็กขับขี่รถจักรยานยนต์ ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามต่อครอบครัวและเจ้าของรถที่ปล่อยให้เด็กออกมาขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างสังคมแห่งความปลอดภัย และเรียกร้องความปลอดภัยทางถนนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานกลับมาสู่สังคมไทย เพื่อให้เด็ก เยาวชน และทุกๆ คนได้ใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัย
ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน