บทเรียนเหตุการณ์สะพานถล่มที่อิตาลี สภาวิศวกร ชี้ไทยต้องเตรียมพร้อม-ไม่ประมาท
เลขาธิการสภาวิศวกร ชี้การวิบัติของสะพานโมรานดิในอิตาลี มีอายุการใช้งานมากว่า 50 ปี จัดเป็นการวิบัติแบบเฉียบพลัน สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ต้องรอการพิสูจน์ทางนิติวิศวกรรมศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญ พร้อมแนะไทยอย่าละเลยตรวจสุขภาพโครงสร้างสะพาน รายวัน รายปี และรอบพิเศษ
จากกรณีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์สะพานโมรานดิที่ประเทศอิตาลีพังถล่มลงมามีผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบัน 39 รายแล้ว ปัจจุบันก็ยังอยู่ระหว่างค้นหาผู้ที่ยังติดใต้ซากสะพาน ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวถึงการถล่มของสะพานที่อิตาลีครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก และแม้ว่าจะเกิดขึ้นห่างไกลจากประเทศไทย แต่ก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวเลย เพราะแต่ละประเทศก็มีสะพานใช้งานจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย
เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า ในทางวิศวกรรม สะพานจำแนกได้ หลายรูปแบบ เช่น สะพานช่วงสั้น มักมีช่วงพาดไม่เกิน 20-40 เมตร สะพานช่วงปานกลางมีช่วงพาดประมาณ 40-80 เมตร และ สะพานช่วงยาวมีช่วงพาดเกิน 100 เมตรขึ้นไป สะพานยังอาจแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้างได้แก่ สะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก สะพานคอนกรีตอัดแรง และ สะพานเหล็ก สะพานที่มีขนาดใหญ่และช่วงพาดยิ่งยาว และที่ผ่านการใช้งานมานานก็ยิ่งมีระบบโครงสร้างที่ซับซ้อน ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก
สำหรับปัจจัยที่ทำให้สะพานถล่ม มี 5 สาเหตุหลักคือ 1. การออกแบบผิดพลาด 2. การก่อสร้างผิดพลาดหรือไม่ถูกวิธี 3. วัสดุเสื่อมสภาพ 4. น้ำหนักบรรทุกมากเกินไป เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่ และ 5. ภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และ แรงลม เป็นต้น
"การถล่มของสะพานอาจเกิดขึ้นได้ ทั้งขณะที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และ ที่เปิดใช้งานแล้ว ในบ้านเราพบการพังถล่มของสะพานเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง สาเหตุเกิดขึ้นจากระบบค้ำยันและนั่งร้านไม่แข็งแรงพอ" ศ.ดร. อมร กล่าว และว่า การวิบัติของสะพานโมรานดิในประเทศอิตาลี เป็นการวิบัติของสะพาน ที่มีอายุการใช้งานมากว่า 50 ปีแล้ว เพราะสะพานแห่งนี้เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 การวิบัติที่เกิดขึ้นจัดว่าเป็นการวิบัติแบบเฉียบพลัน สาเหตของการวิบัติยังไม่ทราบแน่ชัด และต้องรอการพิสูจน์ทางนิติวิศวกรรมศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม สะพานโมรานดิ มีลักษะเป็นสะพานขึงช่วงยาว เหล็กที่ใช้ขึงตัวสะพานฝังอยู่ในแท่งคอนกรีต ที่ดึงพื้นสะพานเพียงด้านละ 1 จุดเท่านั้น สันนิษฐานว่า วัสดุในการรับน้ำหนัก ได้แก่ เหล็กที่ใช้ขึงสะพาน อาจเกิดการวิบัติที่ตัวเหล็กเอง หรือ ที่ข้อต่อเหล็ก เนื่องจากการเสื่อมสภาพ การเกิดสนิม หรือ ความล้าของข้อต่อที่เกิดจากน้ำหนักรถบรรทุกและยานพาหนะอื่นที่วิ่งผ่านไปมาหลายล้านรอบตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา
ศ.ดร. อมร กล่าวอีกว่า การถล่มของสะพานที่อิตาลีนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจเกิดขึ้นได้อีก ณ ที่ใดก็ได้ในโลกนี้ ในทางวิศวกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวมีหนทางป้องกันได้โดยใช้วิธีการตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างสะพาน (Structural health monitoring system) ซึ่งเหมือนการตรวจสุขภาพร่างกายคน โดยแบ่งได้เป็น การตรวจสอบรายวัน รายปี และการตรวจสอบพิเศษ การตรวจสอบทำได้ทั้งการตรวจสอบด้วยสายตา โดยสังเกตรอยร้าว การบิด การเคลื่อนตัว หรือ แม้กระทั่งเสียงโครงสร้างที่ดังลั่นผิดปกติ หรือ การสั่นสะเทือนที่มากผิดสังเกต ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญานเตือนภัยบอกเหตุผิดปกติในโครงสร้างล่วงหน้าได้ทั้งสิ้น นอกจากการตรวจสอบด้วยสายตาแล้ว การตรวจวัดด้วยเครื่องมือทางวิศวกรรม อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงแบบไม่ทำลาย ในปัจจุบันสามารถวัดค่าความเค้น ความเครียด การเสียรูปของสะพานและทำการประมวลผลแบบเรียลไทม์ได้ ช่วยให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ซ่อมแซมหรือเสริมกำลังได้ทันท่วงที
"สาเหตุหนึ่งที่สะพานพังถล่ม อาจจะเกิดจากการละเลยเรื่องการตรวจสอบและดูแลรักษา อย่าลืมว่าโครงสร้างทุกประเภท มีอายุการใช้งาน โดยเฉพาะโครงสร้างประเภทสะพาน ที่ต้องรับรองน้ำหนักยานพาหนะที่เคลื่อนผ่านไปมา ทำให้เกิดแรงพลศาสตร์กระทำต่อโครงสร้าง เป็นอันตรายยิ่งกว่า น้ำหนักที่แช่อยู่นิ่งๆ เสียอีก และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งโครงสร้างจะเกิดความล้า (fatigue) นำไปสู่การวิบัติได้ หนทางที่ดีที่สุดคือต้องไม่ประมาท ต้องจัดให้มีโปรแกรมการตรวจสอบและดูแลรักษาสะพานอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความเสี่ยงการถล่มของสะพานได้"
ที่มาภาพ:https://myrepublica.nagariknetwork.com/news/italy-demands-500m-euros-from-broken-bridge-owner/