พอช.ยันบังคับใช้ กม.เคร่งครัด ตามมาตรการป้องกันผลกระทบสวล. สร้างบ้านมั่นคง
ผอ.พอช.ชี้เเจงหลังถูก 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เเจ้งความเอาผิด ฐานบังคับใช้กม.ไม่เคร่งครัด ก่อสร้างบ้านมั่นคง ยันการดำเนินงานถูกต้องตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งเเวดล้อม
กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยชาวชุมชนริมคลองที่ไม่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงส่วนหนึ่งได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลสายไหม เพื่อแจ้งความเอาผิดกับนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการเขตสายไหม กรณีดำเนินโครงการบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวในพื้นที่เขตสายไหม โดยไม่บังคับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านในโครงการฯ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่มีการจัดทำรั้วหรือกำแพงล้อมรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและเศษวัสดุก่อสร้างร่วมหล่นและลดความดังของเสียง นำเศษวัสดุจากการก่อสร้างถมทิ้งลงไปในคลองลาดพร้าวทำให้ลำคลองตื้นเขิน มีการตัดต้นไม้ใหญ่ทำลายพื้นที่สีเขียว ฯลฯ ซึ่งมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น
(อ่านประกอบ:‘ศรีสุวรรณ’ แจ้งความ ผอ.พอช.-ผอ.เขตสายไหม บังคับ กม. หละหลวม สร้างบ้านมั่นคง)
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองลาดพร้าว เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและการปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ รวมทั้งเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลมอบหมายให้ กทม.สร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวระยะทางรวมประมาณ 45 กิโลเมตร และให้ พอช.จัดหาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำคูคลองในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ โดยขยับบ้านเรือนให้พ้นจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ และสร้างบ้านใหม่ โดยมีเป้าหมายทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 6,841 ครัวเรือน ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว 26 ชุมชน จำนวน 2,592 ครัวเรือน
ส่วนการร้องเรียนว่าผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ไม่บังคับให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ผอ.พอช. ระบุว่า ในการก่อสร้างบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวในชุมชนต่าง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ รวมทั้งตัวแทนชุมชน เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตในพื้นที่นั้น ๆ ร่วมกันตรวจสอบและดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้กับสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อย่างเคร่งครัด และเมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวให้ สผ.พิจารณาปีละ 2 ครั้งด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ดำเนินการต่าง ๆ อย่างถูกต้องและไม่ได้มีปัญหาร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่แต่อย่างใด
นายสมชาติ ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ พอช. เสนอต่อ สผ.และได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
1.ระยะก่อนการก่อสร้าง เช่น ทำความเข้าใจกับชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ ฯลฯ
2.ระยะเคลื่อนย้ายชุมชน เช่น แบ่งการก่อสร้างออกเป็นเฟส การสร้างบ้านชั่วคราวหรือที่พักชั่วคราวสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ต้องรื้อบ้านระหว่างการก่อสร้าง ฯลฯ
3.ระยะก่อสร้าง เช่น จัดทำรั้วหรือกำแพงล้อมรอบบริเวณที่ก่อสร้าง ป้องกันผลกระทบจากเสียง คุณภาพอากาศ ฯลฯ
และ 4.ระยะดำเนินการ เช่น จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน การกำจัดขยะ ฯลฯ
“โดยหลักการของมาตรการดังกล่าวนี้ คือรัฐบาล และ พอช. รวมทั้ง สผ.ต่างก็ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่ง พอช.ในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติงานก็ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช. รวมทั้งทำรายงานตามมาตรการของ สผ.จนผ่านความเห็นชอบแล้ว ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงก็จะได้มีที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนจากผู้บุกรุก เป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครก็สามารถสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้” ผอ.พอช.กล่าว
ด้านนายสมพงษ์ เนียมประเสริฐ นักกิจกรรมเพื่อชาวริมคลอง กล่าวว่า กลุ่มชาวบ้านคัดค้านการเข้ามาของนายศรีสุวรรณ จรรยา ทั้งนี้ ปัจจุบันผลงานค่อนข้างชัดเจนเเล้วว่า การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐเเละภาคประชาชนทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นเเละผ่านไปได้ด้วยดี ดังนั้น กรณีของนายศรีสุวรรณ ที่เข้ามาในพื้นที่ อาจเกิดจากมีผู้เสียผลประโยชน์จากการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพียงไม่กี่รายที่ชักจูงเข้ามา เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เเสวงหาผลประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุเเละต้องการขัดขวางโครงการบ้านมั่นคง
"เเนวเขื่อนที่ต้องก่อสร้างในเขตสายไหมในระยะทาง 7 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งคลอง ปัจจุบันเหลืองานต้องดำเนินการอีกเเค่ 1 กิโลเมตร เท่านั้น เเละบ้านเรือนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายเพื่อหลบเเนวเขื่อนเหลือเพียง 20 กว่าหลัง ซึ่งคาดว่าจะเเล้วเสร็จในต.ค.นี้"
นักกิจกรรมเพื่อชาวริมคลอง กล่าวด้วยว่า ภาคประชาชนให้การสนับสนุนเเละพร้อมให้ความร่วมมือเต็มรูปเเบบกับหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาจัดการด้านที่อยู่อาศัยเพื่อสนองนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เเละขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติงานเเละสนองนโยบายของรัฐบาลต่อไป เพื่อประโยชน์ของประชาชน
"ถ้านายศรีสุวรรณจะช่วยเหลือชาวบ้าน อยากให้ความสำคัญกับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐที่พยายามปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เเต่ตอนนี้นายศรีสุวรรณกำลังส่งเสริมชาวบ้านที่ผิดกฎหมายเเละขัดต่อนโยบายของรัฐบาล" นายสมพงษ์ กล่าวในที่สุด
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/thaisgwa