กรมชลประทานเเจงโครงการอาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ อ.เบตง จ.ยะลา ยันก่อสร้างใช้หินตามสเปค ระเบิดจากโรงโม่คละกัน เผยสาเหตุชำรุด เหตุใช้งานมา 1 ปี ผ่าน 1 ฤดูฝน สั่งบ.รับจ้างเเก้ไข ตามช่วงประกันผลงาน
สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างของสำนักงานชลประทานยะลา อาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา งบประมาณ 23 ล้านบาท มีการตรวจสอบพบข้อสงสัยว่า หินที่นำมาใช้เรียงหน้าฝายและท้ายฝายในโครงการ น่าจะเป็นหินภูเขาซึ่งได้มาจากหน้างานก่อสร้างนั่นเอง เนื่องจากเวลาก่อสร้างฝ่ายหรือพนังกั้นน้ำ รวมถึงอาคารป้องกันตลิ่ง จะมีการขุดหรือเจาะหินภูเขา จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำหินพวกนี้มาเรียง ทั้งๆ ที่ตามแบบมาตรฐานของกรมชลประทาน ต้องใช้หินใหม่ มีขนาดและรูปแบบตามที่กำหนดในระเบียบอย่างละเอียดชัดเจน
(อ่านประกอบ:สอบโกงชลประทานชายแดนใต้พ่นพิษ สั่งเร่งแก้งานหนีผิด?)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้เเจงถึงกรณีโครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคลองกาเดาะ พร้อมระบบส่งน้ำ ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการก่อสร้าง 17 สำนักงานชลประทานที่ 17 โดยใช้งบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และเป็นโครงการที่เกิดจากการร้องขอผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ยะรม ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก ท่อสี่เหลี่ยมขนาด 1.50 x 1.50 เมตร จำนวน 1 แถว และอาคารประกอบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเหล็กอาบสังกะสีและ PVC ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.25 – 0.10 เมตร ความยาวรวม 5,400 เมตร เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือสำหรับการอุปโภค–บริโภคของราษฎรในเขตพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านลูโบ๊ะบือเด ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา จำนวน 96 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร จำนวน 500 ไร่
โดยบริษัทผู้รับจ้างใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ค. 2560 จนถึง ก.ย. 2560 รวมระยะเวลาดำเนินการประมาณ 5 เดือน มีการตัดทางลำเลียงขนส่งวัสดุ วางท่อส่งน้ำไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นระยะทาง 5,400 เมตร การก่อสร้างได้ใช้หินที่เป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะ (Specification) ซึ่งเป็นหินระเบิดจากโรงโม่คละกัน โดยเป็นงานหินเรียงด้านหน้าและด้านท้ายฝาย อีกทั้ง ตลอดแนวการก่อสร้างมีบ้านเรือนของราษฎรที่ได้รับประโยชน์และรับรู้การก่อสร้างตลอดจนโครงการแล้วเสร็จ ส่วนการตั้งจุดการก่อสร้างหัวงานประเภทอาคารบังคับน้ำ จำเป็นต้องมีความสูงเพียงพอที่จะส่งน้ำให้กับพื้นที่รับน้ำด้านล่างได้ใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
สำหรับข้อกังวลหลังจากโครงการได้ผ่านการใช้งานมาเพียง 1 ปี แต่เกิดการชำรุดนั้น อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านการใช้งานเป็นระยะเวลา 1 ปี ผ่านฤดูฝนมา 1 ฤดู ซึ่งฝนที่ตกหนักในปีที่ผ่านมา อาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหายในบ้างจุด ทั้งนี้ กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และโครงการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงการประกันผลงาน จึงได้ดำเนินการแจ้งให้บริษัทผู้รับจ้างเร่งแก้ไขซ่อมแซมในจุดที่เสียหายต่อไป .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์เเนวหน้า