คุยกับ ‘แล ดิลกวิทยรัตน์’ ในวันที่มหาวิทยาลัยเอกชนทยอยปิด ‘คณะเศรษฐศาสตร์’
“มหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้เน้นตลาดเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มุ่งผลิตคนป้อนให้กับกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกในการบริหารประเทศ แต่มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตคนเพื่อป้อนให้กับเอกชนด้วยกัน..."
ปัญหาประชากรไทยลดลงกำลังส่งผลกระทบต่อวงการศึกษาไทย โดยเฉพาะหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า หลายมหาวิทยาลัยเริ่มมีการ "ปิด" คณะเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้น ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยที่ยังเปิดการสอนอยู่กลับมีผู้สมัครเรียนลดลงร้อยละ 20-40 ต่อปี สาเหตุเกิดจากผู้เรียนประเมินว่า การเข้าเรียนในคณะดังกล่าวจะทำให้สมัครงานยาก เพราะสถานประกอบการในปัจจุบันเน้นการรับพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ
ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอธิบายว่า “วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นเครื่องมือของรัฐในการวางแผนบริหารประเทศ ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นศาสตร์ที่ตอบสนองความต้องการของระบบทุนนิยม ซึ่งแตกต่างจากวิชาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนหรือบริหารธุรกิจ”
ทั้งนี้ โดยภาพรวมพบว่า ปัจจุบันรัฐไทยมีขนาดเล็กลง ขณะที่ภาคทุนเติบโตขึ้น เพราะฉะนั้นความต้องการใช้ศาสตร์แห่งรัฐ ซึ่งในอดีตเรียกว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” จึงน้อยลงตาม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับคุณภาพการสอนของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
“เอาจริง ๆ มหาวิทยาลัยหลักผลิตบัณฑิตวิชาเหล่านี้ขายไม่ได้ในตลาด เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เช่น สาขาว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ การวางแผนเศรษฐกิจ การบริหารภาษีอากร และการเงินการคลัง ซึ่งวิชาเหล่านี้นำไปทำเป็นธุรกิจไม่ได้”
ศาสตราภิชาน แล ย้ำว่า ‘เศรษฐกิจ’ ไม่ใช่ ‘ธุรกิจ’ แต่เศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่กว่าธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการกระจายรายได้ และการคลังของประเทศ ดังนั้น ถามว่าเอกชนจะนำผู้เรียนเศรษฐศาสตร์ไปทำอะไร? ฉะนั้นเมื่อรัฐไทยเล็กลง จึงมีความต้องการใช้คนกลุ่มนี้น้อยลง
“มหาวิทยาลัยเอกชนไม่ได้เน้นตลาดเดียวกับมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มุ่งผลิตคนป้อนให้กับกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งล้วนแต่เป็นกลไกในการบริหารประเทศ แต่มหาวิทยาลัยเอกชนผลิตคนเพื่อป้อนให้กับเอกชนด้วยกัน ทั้งนี้ เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาการมากกว่าวิชาประยุกต์ เช่น วิชาว่าด้วยปริมาณวิเคราะห์ ซึ่งต้องเรียนคณิตศาสตร์เป็นหลัก ถามว่าเอกชนจะรับคนกลุ่มนี้ไปทำอะไร”
ศาสตราภิชาน แล ยังกล่าวถึงหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก คิดว่า ผู้เรียนจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ หากอนาคตไม่ต้องการทำงานในหน่วยงานรัฐ จะไม่เรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดิม แต่จะเรียนในหลักสูตรอื่นเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration:MBA) ดังเช่นกรณีศึกษาของจุฬาฯ เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นวิชายาก เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่จะเลี่ยงเรียนในหลักสูตรนี้ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
จึงกล่าวโดยสรุปว่า ปัจจุบันความต้องการบริการของมหาวิทยาลัยลดลง มีอาชีพนอกระบบมากขึ้น ซึ่งอาชีพเหล่านั้นไม่ต้องการใบประกาศนียบัตรหรือใบปริญญา เพราะฉะนั้นการเรียนจึงตามสะดวก เรียนอย่างหนึ่ง ประกอบอาชีพอย่างหนึ่งได้
ขณะเดียวกันเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งรัฐ ดังนั้นเมื่อบทบาทของรัฐไทยน้อยกว่าระบบทุนนิยมที่มีการขยายตัว ทำให้ความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้น้อยลงตาม และมีการเลือกสรรมากขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีจุดแข็งในด้านนี้จริงจะถือเป็นเรื่องปกติที่มีคนเรียนน้อย
“การเปลี่ยนแปลงของรัฐที่แคบลง มหาวิทยาลัยเอกชนที่ผลิตคนเหล่านี้ขึ้นมา ไม่สามารถเอาไปตอบรับความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ ประกอบกับการเรียนรู้ในเรื่องของวิชาบางอย่างที่ใช้แค่ทำมาหากิน อาจไม่ต้องใช้ใบปริญญา จึงเป็นเรื่องธรรมดา”
แต่คิดว่าเศรษฐศาสตร์ยังเป็นวิชาที่มีความต้องการอยู่ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ