ข้อเสนอเครือข่ายปฏิรูป ตร.ถึง’มีชัย’เพิ่มอำนาจอัยการตรวจสอบการสอบสวน
"พนักงานสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการมีความเห็นทางคดี โดยผู้บังคับบัญชาต้องไม่กระทำการใดอันเป็นแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการมีความเห็นทางคดีอย่างอิสระนั้น หากมีการกระทำดังกล่าว ให้ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง"
ด้วยเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2561 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) ได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนจัดงานเสวนาวิชาการ ขึ้นที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีนักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาซึ่งคณะกรรมการชุดที่ท่านเป็นประธานได้ร่างขึ้นและเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
จากการศึกษาของ คป.ตร. และการเสวนาดังกล่าวได้ข้อสรุปตรงกันว่า ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ มีหลายมาตราที่ถือเป็นการปฏิรูปตำรวจอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอยู่ระดับหนึ่ง เช่น
1.1 มาตรา 9 (2) กำหนดให้ตำรวจในสายงานแพทย์ วิทยาศาสตร์และการพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งการสอนในกองบัญชาการศึกษาและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศ
1.2 มาตรา 151 การกำหนดให้ยุบตำรวจรถไฟในหนึ่งปี และให้โอนตำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปยังหน่วยที่รับผิดชอบภายในสองปี และมาตรา 154 งานจราจรให้กรุงเทพมหานคร และเทศบาลนครภายในห้าปี
1.3 อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้กำหนดให้มีการโอนตำรวจอีก 8 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 คือ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจน้ำ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจปราบปราบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ ตำรวจท่องเที่ยว คงปรากฏอยู่ในมาตรา6 วรรคสามเท่านั้น ทั้งไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการแต่อย่างใด
จึงขอให้บัญญัติเพิ่มเติมในมาตรา 6 วรรคท้ายว่า “ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตามวรรคสามให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามปี โดยรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติทราบทุกหกเดือน” ด้วย
ส่วนการโอนงานจราจรตามมาตรา 145 ควรกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาสามปี
1.4 การกำหนดให้มี “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” ซึ่งยังมีจุดอ่อนคือ ยังให้สำนักงานจเรตำรวจ ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจด้วยกันเป็นหน่วยงานทางธุรการดำเนินการสืบสวนสอบสวน ควรกำหนดให้โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแทน
1.5 “หลักการสำคัญเรื่องตำรวจจังหวัด” การกำหนดให้ตำรวจเป็นราชการส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการและควบคุมบังคับบัญชาตำรวจในจังหวัดตามเสียงเรียกร้องของประชาชนยังไม่ปรากฏ
จึงขอให้บัญญัติเพิ่มเติมว่า “กองบังคับการตำรวจจังหวัด และสถานีตำรวจทุกแห่งในจังหวัดนอกจากกรุงเทพมหานคร ถือเป็นราชการส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจควบคุมบังคับบัญชาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในจังหวัดได้ เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามระเบียบคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ”
2. ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา
คป.ตร. และเครือข่าย เห็นร่วมกันว่า ไม่ควรออกเป็นพระราชบัญญัติต่างหาก แต่ควรแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจะใช้สำหรับการสอบสวนโดยเจ้าพนักงานอื่นด้วย มิใช่เฉพาะตำรวจ
อย่างไรก็ตาม
2.1 การกำหนดไว้ใน มาตรา 15 กรณีการแจ้งให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวน เฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกขั้นต่ำสิบปีขึ้นไป และเมื่อแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว เป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการดำเนินคดีต่างๆ ได้แต่อย่างใด
นอกจากนั้นอัยการก็ไม่ควรไป “ร่วมสอบสวนกับตำรวจ” แต่ต้องทำหน้าที่ “ตรวจสอบการสอบสวน” ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง (2) บัญญัติไว้ โดยแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้
2.1.1 เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุการกระทำผิดที่มีโทษจำคุกห้าปีขึ้นไป ให้แจ้งพนักงานอัยการและนายอำเภอทราบเพื่อร่วมตรวจที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานทันที หากพนักงานอัยการสั่งเป็นหนังสืออย่างใดก็ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น
2.1.2 การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาและการเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตรวจสอบว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้หรือไม่
2.1.2 คดีที่ประชาชนร้องเรียนว่าการสอบสวนไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ได้รับความยุติธรรม ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนและสั่งการเป็นหนังสือไว้ทุกคดี
2.2 มาตรา 22 การกำหนดให้คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ต้องส่งให้ผู้บังคับการสอบสวนจังหวัด ตรวจสอบนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากผู้บังคับการสอบสวนได้ถูกกำหนดให้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนจังหวัด ผู้มีอำนาจเสนอสำนวนมีความเห็นส่งพนักงานอัยการ เมื่อได้มีความเห็นควรฟ้อง ไปแล้ว หากอัยการจังหวัดสั่งไม่ฟ้อง ผู้บังคับการสอบสวนก็ย่อมต้องยืนยันความเห็นเดิมของตนเป็นการแย้งอัยการ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความยุติธรรม
นอกจากนั้นยังผิดหลักการบริหารที่อัยการจังหวัดผู้มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการหนึ่งในจังหวัด ต้องส่งสำนวนให้บุคคลที่ไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการตรวจสอบ จึงควรแก้ไข “ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด”เช่นเดิมตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ก่อนที่หัวหน้า คสช.จะออกคำสั่งที่ 115/2557เปลี่ยนแปลงเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจภาคซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมายในปัจจุบัน
อีกทั้งการที่ให้อัยการส่งฟ้องไปก่อน ถือเป็นการละเมิดการใช้ดุลยพินิจของอัยการ และประการสำคัญยังเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา เมื่อต้องถูกฟ้องร้องต่อศาลทั้งที่ยังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าได้กระทำความผิดจริง ซึ่งผู้ต้องหาก็จะกลายเป็นจำเลยและถูกจำกัดสิทธิมากมายโดยที่มิใช่เนื่องมาจากพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าอาจเป็นผู้กระทำผิด แต่เพราะเหตุจำเป็นอื่น ซึ่งอาจรวมถึงอำนาจในการควบคุมตัวระหว่างการสอบสวนกำลังจะสิ้นสุดลงด้วย
2.3 ให้เพิ่มเติมความ หรือมาตราใหม่ดังต่อไปนี้
"พนักงานสอบสวนมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวงเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งการมีความเห็นทางคดี โดยผู้บังคับบัญชาต้องไม่กระทำการใดอันเป็นแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการมีความเห็นทางคดีอย่างอิสระนั้น หากมีการกระทำดังกล่าว ให้ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง" และ
"ความผิดตามกฎหมายฉบับใดที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นอีกส่วนด้วย โดยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในการทำหน้าที่สอบสวนไปตามปกติเมื่อมีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ"
"การสอบปากคำผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และบุคคลที่เป็นประจักษ์พยาน ต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดขึ้นเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้พนักงานอัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจจะทำได้อย่างแท้จริง ก็ให้บันทึกเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้ง"
หมายเหตุ - เมื่อวันที่16ส.ค.2561เวลา14.00น.ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ(คป.ตร.)police watch และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)นำโดยนางสมศรี หาญอนันทสุข และ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บตำรวจแห่งชาติ ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เพื่อปฏิรูปตำรวจให้สอดคล้องกับหลักสากลสร้างหลักประกันความยุติธรรมต่อประชาชน
หมายเหตุ : ภาพประกอบ https://goo.gl/QDCQFz