ปรับโครงสร้าง คตช.ปลด‘บิ๊กป้อม-วิษณุ’ พ้นที่ปรึกษา-เพิ่มอดีตเลขาฯ ป.ป.ท.นั่ง กก.
พล.อ.ประยุทธ์ สั่งปรับโครงสร้าง คตช. ปลดชื่อ ‘ประวิตร-วิษณุ’ ออกจากที่ปรึกษา เพิ่ม ‘ประยงค์’ อดีตเลขาฯ ป.ป.ท. นั่งเป็น กก. ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ใหม่ ประสานหน่วยงานรัฐ-เอกชนป้องปรามทุจริต เชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจง-ให้ความเห็นได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มีสาระสำคัญคือปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ คตช. ใหม่ นอกจากนี้ยังถอดชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงชื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกจากการเป็นที่ปรึกษากรรมการแล้ว ขณะเดียวกันได้เพิ่มชื่อนายประยงค์ ปรียาจิตต์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นกรรมการด้วย (ดูเอกสารรายชื่อทั้งหมดประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้ง คตช. ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2558 มีการปรับปรุงโครงสร้างรายชื่อกรรมการ และอำนาจหน้าที่รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยทุกครั้งมี พล.อ.ประวิตร และนายวิษณุ เป็นที่ปรึกษากรรมการมาโดยตลอด กระทั่งคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2561 ที่เพิ่งปรับบุคคลทั้ง 2 ราย ออกจากการเป็นที่ปรึกษากรรมการ
สำหรับอำนาจหน้าที่คือ 1.ให้จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้าง และประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อดำเนินการตามอำนาจต่อไป
2.ประสาน เร่งรัด ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล
3.ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในส่วนของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ คณะกรรมการตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัดการทุจริต และประพฤติมิชอบ
4.จัดทำผลการดำเนินการ และเสนอแนะความเห็น หรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็นในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน
5.ในกรณีที่เห็นสมควรอาจเสนอหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของ คสช. และคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความจำเป็น
7.เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะความเห็น หรือคำแนะนำทางวิชาการ ตลอดจนขอให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
8.ดำเนินการอื่นใดตามที่ คสช. หรือหัวหน้า คสช. มอบหมาย
อ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ ที่นี่