พม่า-ลาว จ่อแซงหน้าไทยฐานผลิตเกษตรอินทรีย์อาเซียน
เวทีออร์แกนิกส์อาเซียนวิพากษ์เกษตรอินทรีย์ไทยโตต่ำ แหล่งผลิตเพียง 0.6% หวั่นพม่า-ลาวขึ้นแท่นแหล่งผลิต-เขี่ยไทยตกชั้น “นายกการค้าเกษตรอินทรีย์” เผยไทยได้เปรียบมาตรฐานสินค้า เชื่อมั่นเป็นผู้นำได้
วันที่ 24-27 พ.ค. 55 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จัดงาน “Organic and Natural ASEAN Expo 2012” ณ อาคาร 3 ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยในเวทีสัมมนา “โอกาสและแนวโน้มตลาดเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลก” Dr.John Thogerser Aarhus University, Denmark กล่าวว่า เกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา จนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะประชาชนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แม้จะมีบางช่วงที่การพัฒนาหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยปัจจัยในการควบคุมการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์
ด้านการกระจายตลาดเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่แถบทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือถึง 96% มีสัดส่วนประเทศละ 50:50 ส่วนทวีปเอเชียมีเพียง 2% เท่านั้นที่เป็นแหล่งผลิต โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ญี่ปุ่นและอินเดีย ซึ่งต้องพึ่งพาตลาดแถบยุโรปในการส่งออกสินค้าเป็นหลัก
Dr.John กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักที่ประเทศแถบเอเชียไม่มีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จริงจังเหมือนชาติตะวันตกนั้น เพราะยังขาดความมั่นใจในสินค้าที่วางขายเกลื่อนในศูนย์การค้าเมื่อเทียบกับราคาแล้ว บางรายเห็นว่าไม่คุ้มค่าสำหรับการซื้อหามาบริโภค ดังนั้นผู้ผลิตจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ทางการตลาดให้มีคุณภาพมากกว่าสินค้าทั่วไป และสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์
สำหรับการเติบโตด้านเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยอยู่ในระดับอ่อน เพราะมีพื้นที่ในการผลิตเกษตรอินทรีย์เพียง 0.6% ของพื้นที่ทั้งหมดเมื่อเทียบกับการผลิตด้านอื่น แม้จะมีผลผลิตจำพวกข้าวและผักสดที่แข็งแกร่งก็ตาม ฉะนั้นเสนอให้ไทยแปรรูปสินค้าให้หลากหลาย ขับเคลื่อนหน่วยงานวัดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ทัดเทียมนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ต้องศึกษาวิเคราะห์ตลาดให้ลึกซึ้งด้วย
ด้านดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อัคราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวถึงโอกาสเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนและจีนว่า ประเทศจีนใช้ระยะเวลาในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกและอาเซียน แม้จะมีกระแสด้านลบเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าที่ไร้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ไข่ปลอม ข้าวปลอม หรือที่ตื่นตระหนกมากคือสินค้าอาหารปนเปื้อนด้วยเมลามีนในผลิตภัณฑ์นม ซึ่งส่งผลให้เด็กเสียชีวิตมากมาย สุดท้ายรัฐบาลจีนจึงผลักดันศูนย์พัฒนาอาหารออร์แกนิกส์แห่งชาติ เพื่อรับรองและพัฒนาสินค้าออแกนิกส์เป็นการเฉพาะ
ปัจจุบันตลาดออแกนิกส์ของจีนเติบโตร้อยละ 20 ต่อปี หรือราว 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่จำพวกชา โสม และสินค้าแปรรูปทั่วไป โดยตลาดในประเทศมักวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตอย่างเจนนี่ ลัวส์, โอเล่ มาเก็ตเพลส และไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างคาร์ฟูร์และเทสโก้ นอกจากนี้ยังมีในร้านจำหน่ายอาหารสุขภาพด้วย
อัคราชทูตจีน กล่าวต่อว่า การทำตลาดสินค้าออร์แกนิกส์ของไทยในจีน ระยะแรกภาครัฐต้องมีบทบาทในการริเริ่มนำผู้ประกอบการออกสำรวจสภาพตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เข้าร่วมมือกับผู้ประกอบการจีน และต้องหาจุดยืนของตนเองให้ได้ นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่คิดค่าตอบแทนจากยอดขายในระยะสั้นเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับการวางรากฐานสินค้าไทยเพื่อประโยชน์ในจีนระยะยาว ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ต้องยอมลงทุนในกิจกรรมทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้า
“จะเจาะตลาดจีนได้ต้องเตรียมสินค้ารสดี ไม่แพง สอดคล้องกับวัฒนธรรมบริโภคชาวจีน เลือกช่องทางเข้าสู่ตลาดที่เหมาะสม โดยเฉพาะซุปเปอร์มาเก็ตระดับบน พร้อมเจรจาธุรกิจในงานประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพของไทยและงานแสดงสินค้าออร์แกนิกส์ของจีน เพื่อหาลู่ทางการค้า ที่สำคัญต้องเน้นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ด้วย” ดร.ไพจิตรกล่าว
ดร.สุนันทา เศรษฐ์บุญสร้าง นักวิจัยเรื่องความยากจน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ในทิศทางที่ดี แต่ควรเพิ่มการเรียนรู้ด้านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าแก่เกษตรกรรายย่อย พร้อมสร้างฐานข้อมูลผู้ผลิตและสินค้าให้ครบวงจรเพื่อง่ายแก่การตรวจสอบ ทั้งนี้ยังเสนอให้ไทยจับตามองพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างลาวและพม่าที่จะกลายเป็นเป้าหมายแหล่งผลิตสำคัญของอาเซียน เพราะประเทศดังกล่าวยังมีการใช้สารเคมีในดินไม่มากนัก เมื่อเทียบกับไทยและประเทศอื่น
นายวิฑูรย์ ปัญญากุล นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของเกษตรอินทรีย์ไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นประเทศหลักในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ รวมถึงความรู้ด้านการผลิตระบบฟาร์มและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วย โดยมุ่งเน้นที่เกษตรกรรายย่อยให้มีรายได้ดีเป็นหลัก.