กสศ.โชว์ผลงานข้อมูลรายบุคคลนร.สังกัดสพฐ. 1.6 ล้าน ครอบครัวสถานะยากจน
ครั้งแรกของประเทศไทย กสศ.พัฒนาระบบ iSEE เข็มทิศติดตามเด็กยากจน-หลุดออกนอกระบบ กว่า 4 ล้านคน เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ 6 กระทรวง ทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
วันที่ 15 ส.ค. 2561 ที่โรงแรมคุ้มภูคำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นการกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางการดำเนินงานตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยมีนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเปิดการประชุม
จากนั้น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ เรื่องสำคัญและท้าทาย คือ การปฏิรูปการศึกษา ซึ่งปัญหาสังคมไทยในหลายมิติเกี่ยวเนื่องมาจากเรื่องการศึกษาทั้งสิ้น
"ความสำคัญของเรื่องนี้ ทำให้การปฎิรูปการศึกษาเป็นเพียง 1 ใน2 เรื่องการปฎิรูปสำคัญที่ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 261 กำหนดให้มี "คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา" (กอปศ.) และมาตรา 54 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้"
ดร.ประสาร กล่าวถึงหลักการทำงานของกองทุนฯ จะใช้นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆเพื่อสนับสนุนการใช้ข้อมูลจริง (Evidence-based) มาช่วยค้นหาเป้าหมาย คัดกรองความยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งติดตามการพัฒนาการกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง
"เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ (Information System for Equitable Education:iSEE) มีการพัฒนาระบบเชื่อมโยงเลขประจำตัว 13 หลักของกลุ่มเป้าหมายกองทุนกว่า 4 ล้านคน เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อค้นหาและคัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนในระยะยาว เพื่อให้ได้ข้อมูลครบทุกมิติในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ประธานกรรมการกสศ. กล่าว และว่า ระบบ iSEE จะช่วยให้เราสามารถมองเห็นเด็กเยาวชน และประชาชนทุกคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุนเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอีกแม้แต่คนเดียว
นอกจากนี้ ดร.ประสาร ยังกล่าวถึงการทำงานร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น โดยต้องประสานงานเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อน เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ หรือกองทุน 10 บาท
"กองทุนจะมีการนำเทคโนโลยีด้านระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้า เช่น การเบิกจ่ายสวัสดิการโดยตรงแก่ผู้รับ การใช้ GIS ในการบันทึกหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน เพื่อป้องกันการทุจริตและลดความรั่วไหลของการใช้งบประมาณ และทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย"
ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวด้วยว่า จากการทำงานร่วมกัน กสศ.และสพฐ. ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เรามีข้อมูลรายบุคคลของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.จำนวนมากกว่า 1.6 ล้านคนทั่วประเทศที่ครอบครัวมีสถานะยากจน รายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน มีสภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ผู้ปกครองไม่มีรายได้ ไม่มีรถยนต์ และไม่มีที่ดินทำกินเกิน 1 ไร่
"ในจำนวนนี้มีนักเรียนประมาณ 620,000 คนที่ผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเพียงเดือนละ 1,281 บาทหรือเฉลี่ยเพียงวันละ 42.7 บาทเท่านั้น ซึ่งกสศ.และสพฐ.เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า นักเรียนยากจนพิเศษ และต่างเห็นว่า เป็นนักเรียนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนโดยเร่งด่วน ก่อนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา"