กสทช. ผุด3 มาตรการป้องกัน วิทยุ-โทรทัศน์-เคเบิ้ลยั่วผีพนันพุ่ง
กสทช.ใช้ 3 มาตรการต้านส่งเสริมพนัน เร่งขอความร่วมมือภาคปชช.เป็น “ตาสับปะรด” แก้ปัญหาพนันในพื้นที่ กรมการปกครองติงสื่อฯรับส่วนแบ่งเอสเอ็มเอสผิดกฎหมาย
วันที่ 24 พ.ค. 55 สำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จัดการประชุมเรื่อง “แนวทางป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องต่อการพนันที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สื่อโฆษณาประเภทต่างๆ” โดยมีนายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวเปิดประชุมว่า เพื่อความต่อเนื่องจากเวทีเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาและต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเพื่อคุ้มครองสิทธิไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ
นายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา (กสทช.)กล่าวว่าข้อมูลจากเครือข่ายต่อต้านการพนันว่ากิจกรรมที่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม จัดนั้นส่งเสริมการพนันบอลทั้งผู้ดำเนินรายการ นักพากษ์ วิเคราะห์เกมการเล่นฟันธงผลแพ้ชนะ รวมทั้งมีการชิงโชคผ่านข้อความบนมือถือ(เอสเอ็มเอส) ซึ่งกรณีชิงโชคผ่านเอสเอ็มเอส ต้องมีการวางกติการ่วมกันระหว่างเครือข่ายโทรศัพท์ กับกสทช. โดยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือน่าจะระบุเป็นหนังสือว่าโทรทัศน์ วิทยุหรือรายการต่าง ๆ นั้นไม่ได้รับส่วนแบ่งใด ๆ จากการบริการ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบส่วนแบ่งรายได้จากส่งข้อความ
นอกจากนี้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมเองหรือเป็นผู้ให้การสนับสนุน นั้นหากพิสูจน์ได้ว่ามีข้อมูลเอื้อประโยชน์ต่อการพนัน ดังนี้ 1.การจัดให้มีการส่งเอสเอ็มเอส และผู้จัดได้รับเปอร์เซ็นส่วนแบ่งร่วมกับเครือข่ายโทรศัพท์ 2.โฆษณาส่งเสริมการพนันมีความผิดเสมือนเป็นผู้จัดให้เล่นพนัน 3.ชักชวนทั้งทางตรงและทางอ้อม จะมีความผิดตามมาตรา 12 ของพรบ.การพนัน จะต้องถูกดำเนินคดี
“กรณีหมายเลข 1900 -...ที่มักจะทำเพื่อวิเคราะห์ผลบอลในช่วงฟุตบอลยูโร 2012 หรือบริการให้คำแนะนำ เบื้องต้นต้องตักเตือนพฤติกรรม และหากพิสูจน์ได้ว่าส่งเสริมการพนัน หรือได้ส่วนแบ่งจากเครือข่ายโทรศัพท์ จะต้องส่งเรื่องให้กรมการปกครอง” นายประวิทย์กล่าว
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ (กสทช.) กล่าวว่า การผลักดันเชิงนโยบายมีผลสรุปดังนี้ 1.ระยะยาวจะให้คณะอนุกรรมการพิจารณากำกับด้านเนื้อหาไว้ในเงื่อนไข ถึงความเหมาะสมและไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยกำกับให้ครอบคลุม ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สื่อทุกประเภท 2.มาตรการเบื้องต้น กสทช.ส่งจดหมายขอความร่วมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามพรบ.การพนัน หากละเมิดขั้นต้นจะส่งจดหมายตักเตือนพฤติกรรมไปก่อน และถ้ายังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนจะขอให้กรมการปกครองดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ 3.ต้องให้เครือข่ายผู้บริโภค ผู้ปกครอง สถานศึกษา และสื่อมวลชนให้ช่วยกันสอดส่องหากพบพฤติกรรมของสื่อที่มีแนวโน้มผิดกฏหมายให้แจ้งที่สายด่วน 1200
“ร่างระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆต้องใช้เวลา ประมาณ 1-2 เดือน ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการรับความความคิดเห็น และการทำประชาพิจารณาซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ในระหว่างรอต้องอิงกฎหมายหลักของประเทศก่อน ซึ่งจะยึดการตัดสินใจของหน่วยงาน เช่นเรื่องอาหารและยา จะยึดคำตัดสินคณะกรรมการอาหารและยา และการพนันก็จะยึดการพิจารณาของกรมการปกครองเป็นหลัก ”นางสาวสุภิญญากล่าว
นางสุภิญญายังกล่าวต่ออีกว่า การพนันเป็นปัญหาใหญ่ของไทยขอให้ผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียนช่วยเป็นตาสับปะรดสอดส่องปัญหาพนันบอล และสร้างการรู้เท่าทันสื่อ เตือนสติ เยาวชนก่อนเกิดปัญหาหนี้สินและผลการเรียนตกต่ำ
นายบัญชา อินทรวิเศษ กรมการปกครองกล่าวว่า คดีที่สื่อละเมิดพรบ.การพนันส่วนใหญ่นั้นตกเป็นจำเลยเพราะไม่ทราบว่าการกระทำใดเข้าข่ายส่งเสริมการพนัน ทั้งนี้การพนันแบ่งเป็น 4 กรณี 1.ตามบัญชีก. 2.บัญชีข. 3.ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีก.และข. เช่นพนันฟุตบอล 4.แถมพกหรือชิงโชค กรณีนี้กฎหมายอนุญาติให้ทำได้ ซึ่งในผู้ประกอบการกระทำผิดบ่อยครั้งเพราะร่วมรับผลประโยชน์ด้วย
“ชิงโชคผู้ประกอบจะต้องมีใบอนุญาต และก่อนจับรางวัลต้องพิมพ์รายชื่อลงในกระดาษ พร้อมกับเชิญคณะกรรมการเข้าเป็นพยานถึงจะจับรางวัลได้ ผู้ประกอบการต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ค่าตอบแทนใดๆจากการส่งเอสเอ็มเอส มิฉะนั้นจะเข้าข่ายพนันทันที”นายบัญชากล่าว.