กรีนแบงค์ : ดินแดนไร้คลื่น – ชีวิตที่ไม่ไร้สุข
ในขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยคาดหวังว่า ยิ่งโครงข่ายมีความเร็วมากเท่าใดตัวเองก็จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีมากเท่านั้น ทุกประเทศจึงมีจุดหมายเดียวกันคือทำให้โครงข่ายของตัวเองสามารถส่งผ่านข้อมูลข่าวสารให้เร็วที่สุดและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดของโลกและเป็นที่ตั้งของ Silicon Valley แหล่งนวัตกรรมอันมีชื่อเสียง กลับมีเมืองเล็กๆอีกฟากฝั่งหนึ่งที่ผู้คนใช้ชีวิตตรงกันข้ามราวกับหยุดเวลาไว้ที่ช่วงปี 1950
คนในเมืองนี้ไม่ใช่พวกต่อต้านเทคโนโลยี พวกเขาไม่ใช่ อามิช หรือเป็นผู้เชื่อในลัทธิใดๆ คนเหล่านี้เป็นคนอเมริกันผิวขาวที่ใช้ชีวิตอย่างเงียบๆในเมืองชื่อ “กรีนแบงค์” (Green Bank) ของ รัฐเวอร์จิเนียตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประชาชนในเมืองนี้ใช้ชีวิตต่างจากคนอเมริกันในพื้นที่อื่นๆอย่างสิ้นเชิง เพราะโทรศัพท์มือถือที่คนทั่วโลกเห็นว่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตกลับเป็นสิ่งต้องห้ามของที่นี่ นอกจากไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือแล้ว พวกเขายังไม่ได้รับความบันเทิงจากวิทยุหรือโทรทัศน์และไม่มีสัญญาณ Wi-Fi สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แม้แต่อุปกรณ์ส่งคลื่นประเภท บลูทูธ และ เครื่องเล่นบังคับวิทยุ ก็ไร้ประโยชน์เพราะไม่สามารถใช้งานได้เช่นกัน
ประตูเลื่อนอัตโนมัติ เตาไมโครเวฟและกริ่งประตู ซึ่งเป็นของคู่บ้านกลับกลายเป็นปัญหาของเมืองนี้และ ที่น่าแปลกสำหรับคนทั่วๆไปคือเครื่องยนต์ที่ใช้หัวเทียนจุดระเบิดก็เป็นของต้องห้าม ดังนั้นยานพาหนะต่างๆที่เข้ามาวิ่งในเขตเมืองจึงต้องใช้เครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น เมืองทั้งเมืองจึงกลายเป็นสถานที่ปลอดจากคลื่นวิทยุและกลายเป็นเมืองเงียบสงบจากเทคโนโลยีประเภทไร้สายมาอย่างยาวนาน เครื่องมือสื่อสารที่พวกเขาใช้ติดต่อกับโลกภายนอกหรือภายในชุมชนด้วยกันเองคือโทรศัพท์บ้านแบบที่ใช้คู่สายทองแดง พวกเขาสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ผ่านทางคู่สายโทรศัพท์ โดยการหมุนเลขหมายโทรศัพท์เพื่อเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์โมเด็ม ซึ่งหมายความว่า อินเทอร์เน็ตของเมืองนี้ยังเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำเหมือนกับเมืองไทยสมัยที่เริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้งานใหม่ๆ แต่บางบ้านอาจใช้ระบบ อีเทอร์เน็ต เพื่อการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตได้ แม้ว่าปัจจุบันได้มีการเดินสายไฟเบอร์ ออพติก เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วก็ตาม แต่ยังมีข้อกังวลจากผู้ให้บริการว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเป็นที่ต้องการของคนในเมืองนี้สักกี่คน
โทรศัพท์สาธารณะยังคงมีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารของผู้มาเยือนหรือกรณีฉุกเฉิน ต่างกับเมืองอื่นๆทั่วโลกที่โทรศัพท์สาธารณะกำลังกลายเป็นของแปลกตาสำหรับคนยุคหลัง
สาเหตุที่คนใน กรีนแบงค์ กลายเป็นพวกล้าหลังทางเทคโนโลยีทั้งๆที่อยู่ห่างจาก วอชิงตัน ดีซี แค่สองร้อยกว่าไมล์ เป็นเพราะว่าเมืองนี้และบริเวณรอบๆ คือ เขตประกาศห้ามใช้เทคโนโลยีทุกประเภทที่สามารถแพร่กระจายคลื่นวิทยุรบกวนการรับสัญญาณของ หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งตั้งอยู่ ใกล้ๆกัน
ย้อนไปในปี 1957 มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้สร้างหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Radio Astronomy Observatory) เพื่อตรวจจับสัญญาณต่างๆจากกลุ่มดาวนอกโลกและในปีถัดมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้กำหนด เขตปลอดคลื่นวิทยุแห่งชาติ ( National Radio Quiet Zone) ขึ้น เพื่อควบคุมการรบกวนจากคลื่นวิทยุทุกประเภทภายในพื้นที่ 33,669 ตารางกิโลเมตรรอบหอสังเกตการณ์ ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ใดๆก็ตามที่อาจสร้างคลื่นวิทยุไปรบกวนหอสังเกตการณ์ จึงถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัศมีสิบหกกิโลเมตรจากหอสังเกตการณ์คือเขตควบคุมเข้มงวด คนที่อาศัยอยู่ในเมือง กรีนแบงค์ จึงต้องปฏิบัติตามข้อห้ามและใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความสงบปราศจากการรบกวนของคลื่นวิทยุตั้งแต่นั้นมา
เมื่อคลื่นวิทยุเป็นสิ่งต้องห้าม ในเมืองนี้จึงจำเป็นต้องมี ตำรวจตรวจคลื่นวิทยุ (Radio police) ขับรถสีขาวตระเวนรอบๆเมืองและใช้เครื่องมือคอยตรวจสอบสัญญาณแปลกปลอมซึ่งอาจมาจากการใช้เทคโนโลยีต้องห้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบใช้สัญญาณ Wi-Fi ของบางครอบครัวซึ่งถ้าตรวจพบมักจะขอความร่วมมือและตักเตือนเพื่อไม่ให้กระทำอีก
การที่หอสังเกตการณ์ต้องรับสัญญาณจากนอกโลก ไกลหลายร้อยล้านปีแสงนั้น สัญญาณจะมีความแผ่วเบามาก ภายในเมืองและพื้นที่โดยรอบจึงต้องกำจัดคลื่นวิทยุรบกวนต่างๆออกให้หมดเพื่อให้บริเวณนั้นเงียบที่สุดต่อการฟังสัญญาณจากนอกโลก กรีนแบงค์ จึงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่าเป็น “เมืองที่เงียบที่สุดของอเมริกา” สถานที่นี้จึงเป็นเหมือนหูทิพย์ของสหรัฐอเมริกาที่สามารถสอดแนมไปได้ทั่วทั้งจักรวาล เพราะแม้แต่สัญญาณวิทยุอ่อนที่สุดเทียบได้กับเกล็ดหิมะเพียงเกล็ดเดียวหล่นสู่พื้นดิน หอสังเกตการณ์ก็ยังรับรู้ได้และหากจะมีเอเลียนมาเยี่ยมเยียนโลก คนที่หอสังเกตการณ์แห่งนี้จะต้องรู้ก่อนใคร จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงสามารถหยั่งรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้แม้กระทั่งเสียงกระซิบจากนอกโลก
ด้วยประชากรแค่ 143 คน ชาว กรีนแบ็งค์ จึงรู้จักกันเกือบทุกคน (ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขของศาสตราจารย์ โรบิน ดันบาร์ ซึ่งอธิบายว่าจำนวนเพื่อนของมนุษย์ที่จะคงความสัมพันธ์กันอยู่ได้นั้นมีจำกัดประมาณ 150 คนเท่านั้น จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ ตัวเลขของดันบาร์”)
เมืองนี้มีถนนสายหลักเพียงแค่สายเดียว ในชุมชนมี ห้องสมุด โรงเรียน ร้านตัดผม ปั๊มน้ำมัน ไปรษณีย์ โบสถ์ ศูนย์ศิลปะ ร้านสะดวกซื้อ และมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายสัปดาห์ให้อ่าน ทำให้การใช้ชีวิตในเมืองนี้ไม่ลำบากยากเย็นนัก
ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไปถูกห้ามใช้เทคโนโลยีหลายประเภทจนดูเหมือนว่าโลกของที่นี่หยุดนิ่งมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน แต่ที่หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติที่อยู่ไม่ไกลออกไป กลับมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งกำลังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด เพื่อเรียนรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงดาวอื่นๆ เมืองนี้จึงเป็นเหมือนความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างความเจริญสุดขั้วทางเทคโนโลยีกับความเรียบง่ายของชีวิตผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีอย่างจำกัด
ด้วยความสงบและปลอดจากคลื่นวิทยุมานานถึงหกสิบปีเต็ม กรีนแบงค์ จึงเป็นที่หมายดึงดูดใจและเป็นแหล่งพักพิงของ ผู้ที่เจ็บป่วยจากคลื่นวิทยุ พวกเบื่อหน่ายเทคโนโลยี ผู้ต้องการความเงียบสงบและผู้ต้องการชำระร่างกายและจิตใจจากการรบกวนของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital detox) แต่การอยู่อาศัยของผู้ย้ายถิ่นฐานก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะนอกจากต้องปรับตัวกับความไม่สะดวกสบายจากการถูกจำกัดการใช้เทคโนโลยีแล้ว การต้องอยู่ร่วมกับคนในชุมชนที่แยกตัวห่างไกลและไม่คุ้นเคยก็เป็นปัญหาอยู่บ้าง
แม้ว่าใครต่อใครมองว่าคนในเมืองนี้ เป็นกลุ่มคนค่อนข้างล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีและใช้ชีวิตเหมือนจมปลักอยู่กับอดีต แต่คนที่นี่กลับมองว่า กรีนแบงค์ คือสถานที่แห่งความสงบที่พบเห็นได้ไม่มากนักในสหรัฐอเมริกาหรือแม้แต่ที่ใดๆในโลกนี้ก็ตามและที่นี่คือดินแดนที่สามารถสอนประสบการณ์การใช้ชีวิตจริงแก่คนทั้งหลายที่มีชีวิตผูกติดอยู่กับเทคโนโลยีจนเคยตัวและกลายเป็นสิ่งขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะคนที่นี่ไม่ได้สนใจว่า การไม่ได้โพสรูปและข้อความผ่านสังคมออนไลน์หรือการอัพเดทข้อมูลบน Facebook อยู่แทบตลอดเวลาคือความล้าหลังของตัวเอง
คนในชุมชนนี้มักพบหน้ากันอยู่เสมอโดยไม่ต้องมีกำแพงเทคโนโลยีมาขวางกั้นเหมือนเช่นที่อื่นๆ ชีวิตคนในเมืองนี้จึงเดินไปอย่างช้าๆ เรียบง่ายและสงบ เป็นความคุ้มค่าที่แลกกับการไม่ได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยียุคใหม่ แต่ชาวกรีนแบงค์จะทนต่อความเย้ายวนของเทคโนโลยีที่รุมเร้าอยู่ตลอดเวลาได้นานเท่าไรนั้น เวลาคงเป็นเครื่องพิสูจน์
ความสุข ความสงบ และสภาวะไร้การรบกวนจากเทคโนโลยีทั้งปวง รวมทั้งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม จึงเป็น “ความลับ “ ที่คนใน กรีนแบงค์ อยากจะรักษาเอาไว้ให้นานที่สุด สิ่งที่บางคนในเมืองนี้มีความกังวลก็คือ ความสงบของชุมชนอาจถูกพรากไป ถ้าใครต่อใครล่วงรู้ความลับว่า กรีนแบงค์ คือ ดินแดนต้องห้ามสำหรับเทคโนโลยีและเป็นสวรรค์ของคนกลุ่มเล็กๆที่ถูกปลดปล่อยจากเทคโนโลยีมาช้านาน หากเป็นเช่นนั้นเรื่องราวของ กรีนแบงค์ อาจจะถูกป่าวประกาศไปทั่วและคนจำนวนหนึ่งอาจเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่ม ทำให้สิ่งที่คนเมืองนี้เรียกว่า “โอเอซิสแห่งความสงบ” หายไปในไม่ช้า
มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเสมอตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่การพึ่งพาเทคโนโลยีภายใต้ข้อจำกัด ด้วยภาวะจำยอมของคนในเมือง กรีนแบงค์ อาจเป็นบทเรียนสำคัญที่กำลังบอกกับชาวโลกว่า การใช้ชีวิตที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีอันพอเพียงนั้น น่าจะเป็นความสมดุลสำหรับการดำเนินชีวิต เพราะเทคโนโลยีที่ถูกยัดเยียดจากพ่อค้าหรือแม้แต่ภาครัฐก็ตาม อาจเป็นเทคโนโลยีที่มากเกินพอ กลายเป็นภาระของโลกและในที่สุดจะเป็นขยะพิษที่บั่นทอนความสุขของมนุษย์และซ้ำเติมความแปรปรวนของธรรมชาติซึ่งจะเร่งให้โลกเข้าสู่วงจรแห่งความหายนะเร็วขึ้นไม่มากก็น้อย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.google.co.th/search?q=map+of+green+bank+wv&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=0ahUKEwiI--mNtcbbAhWLfH0KHQEzAwcQ_AUICygC&biw=1138&bih=545#imgrc=Ibdv-YYxI07qMM: