นโยบายเกี่ยวกับยากำจัดวัชพืช-สารเคมีอันตรายในไทย
"...ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐควรเสริมความเข้มแข็งให้เกิดระบบเฝ้าระวังการนำเข้า การซื้อขาย และการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อให้ทราบได้ชัดเจนแม่นยำว่า ตอนนี้มีที่ใดที่ใช้อยู่ โดยใคร และปริมาณมากน้อยเพียงใด พร้อมกับการเฝ้าระวังผลกระทบต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม..."
ในทัศนะของผมนั้น สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในประเทศไทยหากเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
แต่ก่อนที่จะประกาศนโยบายนี้ออกไป เพื่อให้นโยบายนั้นเกิดผลได้จริง รัฐบาลควรที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
หนึ่ง ดำเนินการกำหนดทางเลือกที่จะแนะนำให้เกษตรกรใช้แทนสารเคมีอันตราย โดยรวบรวมหลักฐานวิชาการอย่างเป็นระบบ และสรุปข้อมูลทางเลือกในรูปแบบที่เข้าใจง่ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่แต่ละชนิดอย่างชัดเจน พร้อมอธิบายประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หรือหากมีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นระยะยาวจากทางเลือกเหล่านั้นก็จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนและบอกวิธีจัดการ
สอง สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้า/ผลิตภัณฑ์ทางเลือก ที่ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ใช้แทนได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง หากต้องมีการใช้ทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม ก็ต้องเตรียมองคาพายพเพื่อช่วยเหลือเตรียมการก่อนประกาศนโยบายออกไป
สาม หากเป็นกรณีที่เกษตรกรจำเป็นจะต้องลงทุนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อนำมาดำเนินการแทนการใช้สารเคมีอันตราย คงจะเป็นการดี หากรัฐจัดงบประมาณช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรไม่ต้องควักเนื้อ และเป็นการจูงใจให้ลดละเลิกสารเคมีอันตรายเหล่านั้น
สี่ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐควรเสริมความเข้มแข็งให้เกิดระบบเฝ้าระวังการนำเข้า การซื้อขาย และการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อให้ทราบได้ชัดเจนแม่นยำว่า ตอนนี้มีที่ใดที่ใช้อยู่ โดยใคร และปริมาณมากน้อยเพียงใด พร้อมกับการเฝ้าระวังผลกระทบต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ห้า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายจากการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านั้น มิใช่ปล่อยให้เกิดการแพร่ข้อมูลหลายทางจนทำให้เกิดความงุนงงแก่ประชาชนดังที่เห็นในปัจจุบัน
หก รณรงค์ และสนับสนุนสินค้าการเกษตรปลอดสารเคมี ทั้งในแง่ของแหล่งผลิต และผู้บริโภค และสร้างมาตรการในการลดโอกาสการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยใช้มาตรการต่างๆ เต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ เช่น มาตรการทางภาษี มาตรการสนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าผ่านแนวคิดประชารัฐ ตลอดจนการใช้กลไกชุมชนในการดำเนินการควบคู่ไปด้วย
เจ็ด พัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรที่ครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อยกระดับให้เกิดผู้ประกอบกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม และผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าจากคุณค่าความปลอดภัยที่นำส่งแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
หมายเหตุ: ภาพประกอบจากwww.youtube.com/watch?v=a61MoAKy-0I