กอช.ตอบ “กรณ์” รบ.หั่นงบไม่เป็นปัญหา แจงผลตอบแทนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
กอช.ตอบ “กรณ์” รัฐบาลหั่นงบจาก 1,000 เหลือ 750 ล้านบาทไม่เป็นปัญหา เผยเปิดรับสมาชิก ก.ค.หลังจากเลื่อนมา 2 ด. แจงคุณสมบัติสมาชิกและอัตราผลตอบแทน ส่วนผู้ประกันตน ม.40 ร่วมได้
กรณีที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(รมว.คลัง) ออกมาวิจารณ์ การดำเนินงานกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ว่าล่าช้า คือกฎหมายผ่านออกมา 1 ปีและรัฐบาลชุดก่อนได้ตั้งงบประมาณไว้ 1,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลปัจจุบันตัดเหลือ 250 ล้านบาทในปีแรก และปีต่อไป 500 ล้านบาท และยังไม่สามารถเบิกจ่ายเงินก้อนแรกได้ ทำให้ไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ทันกำหนดวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายสมชัย สัจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ยังไม่เห็นชอบการแต่งตั้งเลขาธิการ กอช.(นายสมพร จิตเป็นธม) แต่พนักงานเริ่มทำงานแล้วและอยู่ระหว่างวางระบบ ซึ่งจะเปิดรับมัครสมาชิกได้เดือน ก.ค.นี้ โดยตั้งเป้า 5 แสนคน และปีหน้าอีก 1 ล้านคน
นางสุปราณี จันทรมาศ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการออม สศค. เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า งบประมาณใหม่ที่รัฐบาลตั้งนั้นคิดว่าเพียงพอสำหรับการติดตั้งระบบจัดการกองทุน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าจ้างบุคลากร ซึ่งงวดแรกใช้เพียง 100 กว่าล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ กอช.ตั้งขึ้นเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับแรงงานนอกระบบ(35 ล้านคน)ให้มีความมั่นคงทางการเงินเป็นหลักประกันยามชราภาพ เช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยผู้มีสิทธิสมัครสมาชิกต้องไม่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมที่ครอบคลุมประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ดังนั้นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมมาตรา 33 และ 39 จึงไม่สามารถเป็นสมาชิก กอช.ได้
ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แรงงานนอกระบบ) สมัครเป็นสมาชิก กอช.ได้ก็ต่อเมื่อเป็นบุคคลว่าด้วยประกันสังคมกรณีที่ 1 คือครอบคลุมเฉพาะการรับเงินทดแทนกรณีการขาดรายได้เมื่อนอนรักษาในโรงพยาบาล กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ส่วนแรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นสมาชิก กอช.แล้ว แต่ภายหลังเข้าทำงานในระบบและมีหลักประกันบำเหน็จบำนาญอื่น ก็จะยังคงได้สิทธิ์การเป็นสมาชิกเดิมของ กอช.ต่อไป เพียงแต่รัฐบาลจะไม่จ่ายเงินสมทบต่อให้เท่านั้น
นางสุปราณี กล่าวอีกว่า ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิก กอช.ต้องมีสัญชาติไทยอายุ 15-60 ปี สมาชิกต้องส่งเงินสะสมเดือนละ 50-13,200 บาทผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารกรุงไทย ส่วนรัฐบาลสมทบให้เพิ่มตามอายุสมาชิก ตามอัตราแบบขั้นบันไดตั้งแต่ 50-100 บาท คือ สมาชิกอายุ 15-30 ปีรัฐบาลสมทบให้ 50% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 600 บาท/ปี อายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 960 บาท/ปี และอายุ 50-60 ปีรัฐบาลสมทบ 100% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี และเมื่อเกษียณอายุจะได้เงินบำนาญเดือนละ 7,000-8,000 บาท ตามอัตราเงินสมทบ
เช่น ถ้าสมาชิกเริ่มสะสมครบตั้งแต่อายุ 15-60ปี(ทุกเดือน) เดือนละ 50 บาท จะได้รับบำนาญเกษียณเดือนละ 764 บาท, สะสม 100 บาทได้รับ 1,528 บาท, สะสม 200 บาทได้รับ 2,455 บาท, สะสม 300 บาทได้รับ 3,382 บาท, สะสม 400 บาทได้รับ 4,308 บาท, สะสม 500 บาทได้รับ 5,235 บาท, สะสม 600 บาทได้รับ 6,162 บาท, สะสม 700 บาทได้รับ 7,088 บาท, สะสม 800 ได้รับ 8,015 บาท, สะสม 900 บาทได้รับ 8,941 บาท, สะสม 1,000 บาทได้รับ 9,868 บาท และสมาชิกสะสม 1,100 บาทจะได้รับบำนาญ 10,795 บาท (ดูตารางและรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากภาพ)
หากเงินสะสมรวมกับดอกผลจากการลงทุนทั้งหมดไม่มากพอที่จะจ่ายเป็นบำนาญได้ เพราะน้อยกว่า 500 บาทต่อเดือน กอช.จะจ่ายให้เป็นเงินดำรงชีพเดือนละ 500 บาทจนกว่าเงินออมจะหมด ทั้งนี้ไม่รวมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนี้กรณีทุพพลภาพก่อนอายุ 60 ปียังได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ก่อนเกษียณ และหากเสียชีวิตทายาทจะได้รับเท่าจำนวนในบัญชีแต่ละบุคคล ซึ่งเทียบเท่ากับกองทุนบำเหน็จบำนาญอื่นๆ แต่หากลาออกจากสมาชิกก่อนอายุ 60 ปี จะได้รับเฉพาะเงินสะสมและดอกผลจากเงินสะสมนั้น .