จรัญ ภักดีธนากุล ชี้ถึงเวลาต้องขยายสถานพินิจเอกชน ตามม. 55 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
"จรัญ"เสนอยธ.ผลักดันสถานพินิจฯเอกชน ขยายให้เกิดขึ้นทุกภูมิภาค เชื่อแก้ปัญหาได้ ขณะที่ผอ.ศูนย์ฝึกอบรมบ้านกาญจนาชี้แก้ปัญหาเด็ก-เยาวชนที่ก้าวพลาดต้องมีองค์กรหรือสถานฝึกอบรมแนะต้องกำหนดกฎกระทรวงฯให้ชัดเจน
วันที่ 10 สิงหาคม ศ. (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องสถานพินิจเอกชน ตามมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องเกิด เหตุที่กฎหมายบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีการชูประเด็นนี้หรือมีการผลักดันกันอย่างจริงจัง
“การทำงานอย่างบ้านกาญจนาภิเษก ถือว่าประสบความสำเร็จได้ผ่านการคัดกรองมาอย่างดีแล้ว และได้รับการยอมรับจากสังคม จึงถึงเวลาที่ต้องขยายผล”
ศ. (พิเศษ) จรัญ กล่าวถึงข้อเสนอการขยายสถานพินิจเอกชน ภาระนี้อยู่ที่กระทรวงยุติธรรม พร้อมเสนอให้นำเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในแผนงานโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะเห็นสถานพินิจแบบบ้านกาญจนาภิเษกในภาคเหนือ ภาคใต้ ตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตอนล่าง
“เราจะเอาอะไรใหม่ยัดใส่สังคมไทยเต็มรูปแบบนั้นทำได้ยากมาก ไม่ว่าเรื่องอะไรของใหม่ๆต้องพิสูจน์ ต้องเริ่มจากการทดลองเป็นบางแห่งก่อน เมื่อสังคมมั่นใจ สังคมได้เห็น ก็เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กว้างขึ้น วันหนึ่งสิ่งที่อยากให้สังคมรับไป สังคมจะมาทวงจากเราเอง”
ศ. (พิเศษ) จรัญ กล่าวอีกว่า บ้านกาญจนาภิเษกไม่ใช่คุก แต่เป็นสถานบำบัดพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ทำจนประสบความสำเร็จได้ เรือนจำของผู้ใหญ่ก็ทำได้ นี่คือความฝันของคนทำงานระบบยุติธรรมทางอาญาที่อยากให้เรือนจำทุกแห่ง เป็นโรงพยาบาลบำบัดพฤติกรรมอันตรายของผู้คน
ด้านนางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชน และครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 55 ที่ระบุ ให้อธิบดีกรมพินิจฯ สามารถออกใบอนุญาต ( License ) หรือยุติการออกใบอนุญาตเอกชนที่ทำสถานควบคุมความประพฤติได้
โดยมาตรา 55 ระบุ ให้อธิบดีกรมพินิจฯ มีอำนาจออกใบอนุญาตให้ส่วนราชการดำเนินการ หรือให้เอกชนจัดตั้งสถานศึกษา สถานฝึกอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน ซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่า กระทำความผิด เป็นจําเลย หรือเป็นผู้ต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลให้ลงโทษหรือใช้วิธีการ สำหรับเด็กและเยาวชน และมีอํานาจควบคุมดูแลสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งมีอํานาจเพิกถอนใบอนุญาต ที่ได้ออกให้นั้นด้วย
“หมายความว่า กฎหมายยอมรับการมีสถานควบคุมความประพฤติที่ทำโดยเอกชน ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ที่ระบุ การออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง ถามว่า ใครจะเป็นคนทำให้กฎกระทรวงนี้เกิดขึ้น ทำให้เกิดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน หรือองค์กรทำงานกับเด็กที่ก้าวพลาดในหลายๆ จังหวัด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้กระทำผิด”
หมายเหตุ ศ.(พิเศษ) จรัญ และนางทิชา กล่าวถึงสถานพินิจเอกชน ไว้ในเวทีเสวนาเรื่อง หลากหลายมุมมองต่อปัญหาการเสพติดและคนล้นคุก วันที่ 10 สิงหาคม งานสัมมนาเรื่อง "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต: ปัญหาและทางออก" (Back to the Future of Addiction:Problems and Solutions" จัดโดย สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ