กรมอุตุฯ คาดหลัง 20 ส.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านไทย เหนือ-อีสาน-กลาง ให้เตรียมรับมือฝนตก
อธิบดีกรมอุตุฯ คาดหลัง 20 ส.ค.-ก.ย. ร่องมรสุมพาดผ่านไทยอีกครั้ง ส่งผลภาคเหนือ อีสาน เเละกลาง มีฝนตก ให้เตรียมรับมือ โดยเฉพาะอีสาน ขณะที่ปลายปี 61 เกิดเอลนีโญ ยันไม่กระทบภัยเเล้ง เหตุมีน้ำเก็บกักในเขื่อน ห่วงอุณหภูมิอาจทะลุ 40 องศาเซลเซียส
วันที่ 10 ส.ค. 2561 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในการแถลงข่าว เรื่อง การบริหารจัดการแบบบูรณาการ แก้วิกฤตน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561 ถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ว่าฝนตกในประเทศไทยเกิดจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือ ทำให้เกิดฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประเทศลาว รวมถึงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้เกิดฝนตกในภาคตะวันตก และตามพรมแดนไทย-เมียนมา และภาคใต้ ทำให้เกิดฝนตกในจ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ระนอง จ.พังงา จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ชุมพร
ทั้งนี้ ยังไม่มีพายุเข้าสู่ประเทศไทย เพราะพายุที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเคลื่อนตัวขึ้นไปทางเหนือสู่ญี่ปุ่นและจีน ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำแถบฟิลิปปินส์ คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นพายุดีเปรสชั่น ไม่เข้าสู่ประเทศไทยเช่นกัน แต่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไหหลำของจีนแทน ซึ่งส่งผลดี เพราะช่วยดึงให้ร่องมรสุมพาดผ่านสูงขึ้นไปแถบเมียนมาและลาวแทน ฉะนั้นอีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้ ฝนในประเทศไทยจะลดน้อยลง
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป จนถึง ก.ย. ร่องมรสุมจะกลับมาพาดผ่านประเทศไทยอีกครั้ง โดยเริ่มต้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะ ช่วง ก.ย. ฝนจะตกเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเราต้องเตรียมรับมือและเฝ้าระวัง ในจุดวิกฤตต่าง ๆ เช่น พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ต.ค. เป็นต้นไป ร่องมรสุมจะเคลื่อนตัวอยู่ในภาคใต้แทน
“ปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้า 1-2 ลูก ซึ่งห่วงในช่วง ก.ย. หากพายุเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ข้อดีคือมีลาวและเวียดนามเป็นกำบัง ฉะนั้นจะลดผลกระทบในเรื่องความเสียหาย แต่จะมีปัญหาเกิดฝนตกเมื่อพายุอ่อนตัวเป็นดีเปรสชั่น แต่ยังระบุไม่ได้ว่า พายุจะขึ้นฝั่งจุดใด”
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า ปลายปี 2561 ประเทศไทยจะเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดฝนตกน้อย แต่ไม่ถึงขนาดจะเกิดภัยแล้งในปีหน้า เพราะมีการเก็บกักน้ำในเขื่อน ยกเว้น กังวลเรื่องอุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนอาจทะลุ 40 องศาเซลเซียส .