นักวิชาการชี้ “แบบจำลองคดีโลกร้อน” ไร้คุณภาพ –จ่อยื่นศาลปค. เพิกถอน 28 พ.ค. นี้
นักวิชาการประเมินงานวิจัย “แบบจำลองคดีโลกร้อน” หลักฐานฟ้องแพ่งชาวบ้านบุกรุกป่าขาดคุณภาพ “ที่ปรึกษารีคอฟ” ชี้โลกร้อนเกิดจากใช้ประโยชน์ดินพร่ำเพรื่อ “นักเศรษฐศาสตร์” แนะอุทยานฯ เก็บค่าคาร์บอนฯ สูงเท่าอียูไม่เหมาะ เตรียมยื่นศาลปกครองเพิกถอน 28 พ.ค.55
จากการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหากรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) และกรมป่าไม้นำแบบจำลองการคิดค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาดำเนินการฟ้องร้องกับเกษตรกรและชุมชนที่มีพื้นที่พิพาททับซ้อนเขตป่ากว่า 2,000 ราย
ล่าสุดวันที่ 23 พ.ค. 55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (คดีโลกร้อน) สภาทนายความ จัดเสวนา “แบบจำลองความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมของคดีโลกร้อน” ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รีคอฟ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการภายหลังทำลายป่าไม้ หรือแบบจำลองคดีโลกร้อนที่นักวิชาการกรมอุทยานฯได้พัฒนาขึ้นใช้หลักการคิดวิทยาศาสตร์ที่แย่ เพราะใช้กลั่นแกล้งเรียกค่าเสียหายจากประชาชนที่ทำมาหากินอย่างสุจริต ดังเช่นการตั้งกฎเกณฑ์การทำให้ธาตุในดินสูญหาย ซึ่งใช้หลักการคิดค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่ปุ๋ยไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมขึ้นไปโปรยแทน รวมถึงการสูญเสียความชื้นในดิน ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนนั้น
ความจริงคือ ปัจจัยที่ทำให้ผืนดินเกิดการกัดเซาะจนหน้าดินเสียหายมิใช่มาจากต้นไม้ที่ปกคลุมดิน หากแต่มาจากการใช้ประโยชน์ผืนดินภายหลังจากตัดโค่นต่างหาก ฉะนั้นเห็นว่าการที่กรมอุทยานฯ และหน่วยงานภาครัฐบอกว่าการถางป่าเป็นการเพิ่มอุณหภูมิโลก จึงจำเป็นต้องเรียกค่าเสียหายใช้ไม่ได้ เพราะเป็นแบบจำลองที่ไม่สมบูรณ์
“การทำลายหน้าดินคือการปล่อยทิ้งร้างให้ผืนดินเตียนโล่งโดยขาดการปลูกพืชคลุมดิน ส่วนการถูกกัดเซาะหน้าดินกลับเป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ เพราะจะมีธาตุอาหารมากมายหล่อเลี้ยงชีวิตในป่าและลุ่มน้ำ”
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า อุณหภูมิในผืนป่าเตียนโล่งและดงดิบย่อมมีความแตกต่างกันธรรมดาขึ้นอยู่กับสภาพป่า หากเรานำข้อมูลอุณหภูมิในอดีตและปัจจุบันมาเปรียบเทียบจะเห็นว่าไม่มีความแตกต่างมากนัก
ด้านรศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเรียกเก็บค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์จากการทำกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยอ้างอิงจากราคาของสหภาพยุโรป (อียู) ราคา 793 บาท/ตัน เป็นการเรียกเก็บที่สูงเกินไป ทั้งที่ควรคิดค่าเสียหายจากต้นทุนที่ต่ำสุดของพื้นที่นั้น ๆ จะเหมาะสมมากกว่า จึงส่งผลให้ผลงานวิจัยดังกล่าวไม่สามารถบังคับใช้ได้
ขณะที่นางกันยา ปันกิติ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เปิดเผยว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีโลกร้อนกับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินนั้นไม่เป็นธรรม ทั้งที่หลายคนอยู่อาศัยในพื้นที่ที่กรมอุทยานฯ ประกาศทับซ้อน เเม้จะไม่มีเอกสารสิทธิถือครองที่ดินก็ตาม เเต่โดยพฤตินัยเเล้วชาวบ้านล้วนอยู่อาศัยดั้งเดิมทั้งสิ้น จึงเรียกร้องให้มีการทบทวนเพิกถอนการใช้เเบบจำลองดังกล่าวในการเรียกค่าเสียหาย เพราะมั่นใจว่าคนไม่ได้บุกรุกป่าเเน่นอน
นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความอาสาจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ได้รับการฟ้องร้องให้จ่ายค่าเสียหายก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการทำลายป่าทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแก้ไขปัญหาภายหลังเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนตามองค์กรต่าง ๆ อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ จะยื่นหนังสือเรียกร้องต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวจริงจัง และฟ้องต่อศาลปกครองให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิกถอนคำสั่งการใช้แบบจำลองดังกล่าวในวันที่ 28 พ.ค. 55
ทั้งนี้จากข้อมูลผลการประเมินรายงานวิจัยแบบจำลองเพื่อประเมินมูลค่าป่าต้นน้ำ และแบบจำลองมูลค่าระบบนิเวศป่าไม้ของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับประชาชนในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการให้ความคิดเห็นทางวิชาการอย่างอิสระด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 16 คน เพราะรายงานวิจัยดังกล่าวยังไม่เคยผ่านการตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเลย ระบุ 1.คุณภาพของงานวิจัยอยู่ในระดับไม่น่าพอใจ 2.รายงานวิจัยยังไม่เหมาะสมมีข้อต้องปรับปรุงหลายประการ และ3. นักวิชาการเกือบทั้งหมดสรุปว่า ผลการประเมินโดยรวมแล้วผลงานวิจัยอยู่ในเกณฑ์ไม่ดี โดยมีนักวิชาการ 2 ท่านประเมินว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคิดค่าเสียหายจากการบุกรุกพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติฯ คิดตามสัดส่วนรายปีตามม. 97 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังนี้ 1.ค่าเสียหายทำให้อากาศร้อนมากขิ้น 45,453.45 บ./ไร่ 2.ค่าเสียหายทำให้สูญเสียน้ำออกจากพื้นที่โดยเผาไหม้ของรังสีดวงอาทิตย์ 52,800 บ./ไร่ 3.ค่าเสียหายทำให้ฝนตกน้อย 5,400 บ./ไร่ 4.ค่าเสียหายทำให้ดินสูญเสีย 1,800 บ./ไร่ 5.ค่าเสียหายการสูญเสียของธาตุอาหาร 4,064 บ./ไร่ 6.ค่าเสียหายทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บ./ไร่ และ7. 7.ค่าเสียหายทางตรงจากการทำลายป่า ได้แก่ ป่าดงดิบ 61,263.36 บ./ไร่ ป่าเบญจพรรณ 42,577.75 บ./ไร่ ป่าเต็งรัง 18,634.19 บ./ไร่ รวมค่าเสียหายไร่ละ 1.5 แสนบาท/ไร่/ปี.