เลขาฯป.ป.ท. ชี้ จนท.รัฐหาประโยชน์กับไฟใต้ คือเงื่อนไขความไม่สงบ
การลงพื้นที่ด้วยตัวเองของ พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง 2 อำเภอของ จ.ยะลา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.61 ถือเป็นมิติใหม่ของการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกละเลยมานาน
ล่าสุดบอร์ด ป.ป.ท.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อพิจารณาแจ้งข้อหาและดำเนินคดีอาญากับข้าราชการกรมชลประทาน 4 คน กับบริษัทผู้รับเหมา 1 แห่ง พร้อมขยายผลตรวจสอบไปถึงโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำของสำนักงานชลประทานยะลา งบประมาณปี 2560 อีก 30 โครงการ งบประมาณเกือบ 500 ล้านบาท
เลขาธิการ ป.ป.ท.น่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดขององค์กรตรวจสอบทุจริตภาครัฐคนแรกๆ ที่ลงพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจากที่ผ่านมามีสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 14 ปี ทำให้องค์กรตรวยจสอบทุจริตของภาครัฐทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะที่โครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล้วนได้สิทธิพิเศษในเรื่อง "การจัดจ้างวิธีพิเศษ" โดยไม่ต้องประกวดราคา ด้วยเหตุผลเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบเช่นกัน
โครงการจัดซื้อจัดจ้างมากมายก่ายกองจึงถูกตั้งคำถามเรื่องความไม่โปร่งใสจากพี่น้องประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคม แต่ตลอดมาแทบไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่ครั้งเดียว
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษเลขาธิการ ป.ป.ท. ถึงเส้นทางการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งใน จ.ยะลา และสถานการณ์การทุจริตที่ร้ายแรงท่ามกลางปัญหาไฟใต้ จนถูกมองว่ามีการหาผลประโยชน์จากความรุนแรง
O กระบวนการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของชลประทานยะลา ล่าสุดไปถึงไหนแล้ว?
เราขยายผลตรวจสอบโครงการปีที่แล้ว (ปีงบประมาณ 2560) งบ 400 กว่าล้าน เป็นงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ แหล่งน้ำ ในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งใน จ.ยะลา มีอยู่ด้วยกัน 32 โครงการ จริงๆ คือ 31 บวก 1 เพราะอีกโครงการเป็นการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบ ส่วนอีก 31 โครงการเป็นโครงการโอเปอเรชั่น ทั้งขุดลอก สร้างฝาย ป้องกันตลิ่งพัง ขุดคลอง รวมๆ กัน
เบาะแสที่เราได้จากเบื้องต้น เราได้จากพื้นที่ จากพี่น้องประชาชน ว่าโครงการในพื้นที่ของเขาเป็นโครงการอาคารป้องกันตลิ่ง จริงๆ เขาไม่รู้ชื่อโครงการ บอกว่าเหมือนพนังป้องกันตลิ่งพัง ทำไมมันเหมือนสร้างไม่เสร็จ น่าจะมีการทุจริต ใน อ.รามัน กับ อ.บันนังสตา เป็นโครงการเหมือนกัน เราก็เลยลงไปตรวจสอบดู
เราพบมีพฤติการณ์ มีพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในภาครัฐ เราจะเสนอให้ดำเนินคดีอาญาผู้เกี่ยวข้อง คือผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงเสนอเข้าบอร์ด ป.ป.ท. ให้ไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 2 แห่ง
โครงการที่ อ.บันนังสตา งบ 24 ล้าน ลักษณะโครงการเหมือนกันกับที่ อ.รามัน เป็นโครงการก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง เป็นภาษาชลประทาน...สร้างอาคาร แต่จริงๆ ก็คือแนวพนัง แต่เขาไมได้ทำแนวพนังเหมือนกำแพง เขาจะมีกาเบียน คือ ขดลวดลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเพื่อใส่หินลงไป ขนาด 2 คูณ 2 คูณ 1 กว้าง-ยาว-สูง ใส่หินเข้าไป ทำกาเบียน ตีตาข่ายรอบไว้ ตั้งๆๆๆ กาเบียน เขาทำเป็นขั้นบันไดขึ้นไป เรียกว่าอาคารป้องกันตลิ่ง โครงการที่ กม.26 อ.บันนังสตา ความยาวทั้งหมดตามแบบคือ 700 เมตร เราเห็นแล้วไม่น่าจะถึง ก็วัดกัน วัดได้ 631 เมตร ที่เห็นด้วยตาเปล่า ที่เรามองดู ในแบบแปลนมีสโลป ของจริงมันไม่มี มีขั้นบันได 3-4 ขั้น มันมีไม่ถึง มันต้องมีเสา คสล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก) 176 ต้น มันไม่มีเลย นี่คือเห็นด้วยตาเปล่าว่ามันไม่ตรงกัน
ที่ อ.รามัน หลังโรงเรียนปาแตรายอ งบประมาณ 21 ล้าน ความยาว 500 เมตร ก็ถือไม้เมตรวัดกันเลย ไปวัดได้ 470 เมตรเศษ ใช้กาเบียนเหมือนกัน รูปแบบไม่ถูกต้อง เอามาตั้งไม่ถูกต้อง ชั้นไม่ถูกต้อง ดินบดอัดไม่ถูกต้อง สโลปไม่มี เสา คสล. 126 ต้นก็ไม่มี เหมือนลอกแบบกันมา บริษัทคู่สัญญาเป็นบริษัทเดียวกัน ทั้ง 2 แห่งมีการเซ็นสัญญาเดือน เม.ย.ปี 60 ที่บ้านกม.26 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น เบิกเงินไปเสร็จสิ้นเรียบร้อย เมื่อเดือน ก.ย. หมายความว่ามีการตรวจรับงาน งานเสร็จ ถูกต้องตามสัญญา ตามแบบรูปสัญญาสมบูรณ์
ส่วนที่ปาแตรายอ อ.รามัน เซ็นสัญญาเดือน เม.ย.60 เหมือนกัน เบิกเงินเดือน ต.ค. ครบทั้ง 21 ล้าน การที่จะเบิกเงินครบได้ก็คือ รูปแบบรายการก่อสร้างถูกต้อง สมบูรณ์ ความกว้าง ความยาว อุปกรณ์ทุกอย่างสมบูรณ์หมด ถึงจะเบิกเงินได้ เรามองว่าเบิกไปได้อย่างไร เพราะเราเห็นว่าก่อสร้างไม่ถูกต้อง ผิดแบบแปลน ของขาดว่างั้นเถอะ ความยาวก็ขาด แล้วเบิกไปได้อย่างไร เราก็เลยเห็นว่า นี่คือการกระทำทุจริตในภาครัฐ ก็ได้เสนอบอร์ดดำเนินคดี กับ 1.นายช่างผู้ควบคุม และ 2.คณะกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งมี 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ชลประทาน ซึ่งก็คือกรรมการตรวจรับ
กระบวนการตรวจรับ คือตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้อง ครบถ้วน ตามแบบรูปสัญญา จึงเสนอผู้มีอำนาจลงนาม อาจจะเป็น ผอ.สำนักงบประมาณ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่ออนุมัติจ่ายเงินตามสัญญา ถ้าคณะกรรมการตรวจรับไม่เห็นชอบ ไปตรวจรับงานแล้วบอกว่าไม่สมบูรณ์ ไม่ถูกต้อง ก็จ่ายเงินไม่ได้ อันนี้เขาเห็นว่าถูกต้อง สมบูรณ์ จึงจ่ายเงินไป
หลังจากเราพบมา เรามองว่ากรณีเช่นนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ยะลา หลายท้องที่ก็ได้ เราก็เลยมาดูโครงการต่างๆ ว่าปีที่แล้วทำโครงการที่ไหนบ้าง ก็พบว่าชลประทานยะลามีการดำเนินการ 31 บวก 1 โครงการ เกี่ยวกับชลประทาน วงเงินงบประมาณสูงถึง 489 ล้าน ก็คือเกือบ 500 ล้่านบาท ปีงบประมาณ 2560 ตอนนี้หลังจากที่เราตรวจพบ 2 โครงการว่าน่าจะเกิดการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. ก็เลยขยายผล มอบให้กองอำนวยการต่อต้านการทุจริต และสำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 ร่วมกันดำเนินการตรวจสอบ ซึ่ง 31 โครงการนี้ ให้ไปดูว่าจะลงไปตรวจตรงไหนก่อน ทราบว่าเริ่มดำเนินการแล้ว
O การตรวจสอบจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่?
เรื่องระยะเวลาเราไม่กล้าตีกรอบ เพราะว่าเรามีกรอบระยะเวลางานอื่นอยู่ เช่น งานเกี่ยวกับไต่สวนข้อเท็จจริง ซึ่งมีอยู่เต็มมือ แต่อันนี้เหมือนงานเจาะ ต้องให้เขาทำ ถามว่าความเร่งด่วนมีไหม ก็มีความเร่งด่วน ก็ทำไปตามกำหนดระยะเวลาที่เคยทำ เช่น ถ้าทำเสร็จภายใน 90 วันหรือไม่ เพราะโครงการหนึ่งลงไปอาจจะไม่เจอทันที ต้องตรวจ ต้องสอบ ต้องค้นพอสมควร แต่ก็บอกว่าให้รายงานด่วนที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้
O โครงการอื่นพบทุจริตอีกหรือเปล่า?
จากเบาะแสในเรื่องนี้ เรื่องอื่นก็ทยอยมาเป็นเรื่องร้องเรียน มีตลอดที่เป็นเรื่องร้องเรียน เรื่องทุกเรื่องเข้ามาก็ต้องดำเนินการไปตรวจสอบตามปกติ แต่เรื่องขลประทาน เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีงบประมาณค่อนข้างสูง กระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนสูง และอยู่ในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ เราก็ต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
O ทราบว่ามีอุปสรรคในการลงพื้นที่ตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่บางหน่วยไม่กล้าลงพื้นที่...
จะเรียกว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคก็ไม่เชิง เราได้รับความร่วมมืออย่างยิ่งจากฝ่ายบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ทหาร ทั้งทหารพราน และทหารปกติ แม้แต่อำเภอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตอนเราไปเราไม่ได้ลงตรวจคนเดียว เราเชิญอำเภอ เชิญตำรวจ เราเชิญ กอ.รมน. เราเชิญหน่วยงานต้นสังกัดของหน่วยที่ถูกตรวจสอบ เพื่อจะได้ไปพบไปเห็นพร้อมกัน เป็นการตรวจสอบต่อหน้ากัน วัดขนาดวัดความยาวก็วัดด้วยกัน ชลประทานลงไปก็ถือตลับเมตรวัดด้วยกัน จะได้เห็นว่าเออ...ไม่ใช่ ป.ป.ท.ลงไปแล้วไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่โปร่งใส ซึ่งจริงๆ ไม่มีความจำเป็น แต่ในพื้นที่เหล่านี้ เราเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ แม้แต่หน่วยงานปกครองท้องถิ่นเราก็เชิญ ทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน วันที่เราลงไป ประชาชนก็มาดู
น่าสังเกตว่าทั้ง 2 โครงการ ไม่มีแม้แต่ป้ายโครงการ ซึ่งมันผิดปกติวิสัย เพราะปกติจะต้องติดป้ายโครงการให้รู้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการอะไร ได้รับงบประมาณอะไร เท่าไหร่ ระยะเวลาดำเนินการเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้ดูแล ควบคุมงาน บริษัทไหนเป็นคนไปรับงาน ซึ่งตรงนี้ไม่มีเลย อันนี้เป็นข้อสังเกตว่าทำไมจึงไม่มีป้าย เพราะพี่น้องประชาชนก็อยากรู้ ก่อให้เกิดความสงสัยกับพี่น้องประชาชน สร้างเสร็จแล้วนี่มันโครงการอะไร เขาจึงร้องเรียน มันน่าสงสัย
O ทำไมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีข่าวหรือเรื่องร้องเรียนทุจริตเกิดขึ้นมากมาย?
ในมุมมองของผมคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนก็อาศัยสถานการณ์แสวงหาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ ไม่ใช่ข้าราชการมืออาชีพ มืออาชีพของผมคือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยแท้จริง ถ้าเขาคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติ โครงการต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีทุจริต เพราะโครงการเหล่านี้ต้องการไปเสริมสร้างความมั่นคงให้พี่น้องประชาชนมั่นอกมั่นใจว่ารัฐไม่ได้ทอดทิ้งคุณนะ รัฐดูแลทุกคน ทุ่มโครงการเข้าไป ทุ่มงบประมาณเข้าไป เพื่อให้พี่น้องที่อยู่ในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่กลับไปใช้ตรงนี้เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบ
เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ พออยู่ไปนานเข้าก็รากงอก คิดว่าไม่มีใครกล้าลงไปดำเนินการ ก็โพนทะนา พูดคุยว่าตัวเองมีสายสัมพันธ์ต่อคนนั้นคนนี้ ไม่มีใครกล้าลงไป แม้แต่เรื่องนี้ หลังจากที่เราไปตรวจสอบ ก็ปรากฏข่าวว่ามีการพยายามปิดข่าว ไม่ให้เรื่องนี้มีการเสนอข่าวต่อสาธารณชน โดยมีการมอบเงินมอบทอง เอาเงินไปให้ผู้สื่อข่าวหลายแห่ง ปรากฏข่าวอยู่ ผมก็ไม่ได้ดูว่าเป็นจริงหรือไม่ประการใด แต่มีข่าวออกมา แสดงว่าเขามีอิทธิพลพอสมควร และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
O แสดงว่าหลังจากนี้จะจับตาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เพราะงบลงไปเยอะมาก
จริงๆ แล้วเราได้ร่วมมือกับ กอ.รมน.ไปดำเนินการหลายเรื่องหลายอย่าง รวมทั้งเข้าไปชี้แจงกับ กอ.รมน.จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพภาคที่ 4 ไปพูดให้ฟังว่า โครงการต่างๆ ป.ป.ท.ลงไปตรวจสอบนะ กอ.รมน.ก็ลงไปตรวจสอบ เราตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นอกมั่นใจ ถ้าพี่น้องข้าราชการทำตรงไปตรงมาก็ไม่ต้องกลัว เราจะตรวจสอบให้ท่านเกิดความมั่นใจ ถ้าท่านทำถูกก็ทำไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ทำผิด ท่านโดน
อันนี้เราชี้แจงต่อ กอ.รมน.จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ผมไปพร้อมกับ กอ.รมน.ใหญ่ สำนักจเร กอ.รมน. ไปชี้แจงให้ทราบว่าเราร่วมมือกันอย่างไร ไปตรวจสอบทำให้ข้าราชการมั่นอกมั่นใจ วันนั้น ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และหน่วยงานอื่นๆ ก็เข้ามารับฟังคำชี้แจง
ขอให้ดำเนินการไปเถิด ถ้าท่านดำเนินการถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับ ป.ป.ท.ตรวจสอบอย่างไรก็ไม่เจอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ท่านทำผิด ช่วยไม่ได้นะ ท่านต้องถูกดำเนินคดี ครั้งแรกเราไปตรวจทำนองขับเคลื่อนให้คุณทำถูกต้อง ตรวจแนะ ตรวจนำ ให้คำปรึกษา ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไปเถอะ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราบอกแล้ว ไปอีกทีหนึ่งได้เบาะแสว่าไม่ถูกไม่ต้อง คราวนี้ไม่ใช่ตรวจขับ แต่ตรวจจับ จับดำเนินคดี เหมือนโครงการของชลประทานยะลา เราพบเบาะแสแล้วลงไป ลงไปแล้วเจอ เราก็ต้องตรวจจับและดำเนินคดี
ในส่วนของ กอ.รมน.จังหวัด ท่านก็ไปดำเนินการของท่าน ศอ.บต.ท่านก็ดูแลคนของท่าน แต่อย่างว่า...อาจจะมีบางคนถือวิกฤติเป็นโอกาสที่ตนเองจะกอบโกยโดยไม่คำนึงถึงประเทศชาติ เราก็ต้องดำเนินคดีคนเหล่านี้ เมื่อเราจับได้ไล่ทัน ก็ต้องดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ชลธิชา รอดกันภัย ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ :
ลามหลายอำเภอ! สร้างแนวป้องกันตลิ่งยะลาส่อโกง ส่งมอบงานผิดสเปค แต่เบิกงบฉลุย
สั่งเด้ง! 3 นายช่างชลประทานยะลาเซ่นโครงการป้องกันตลิ่งพัง
เปิดข้อมูลก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งยะลา ผิดสเปคอื้อ!
เคลียร์มั้ย? รมว.เกษตรฯแจงปม "ย้ายไม่ครบ" จนท.เอี่ยวเขื่อนป้องกันตลิ่งฉาว
ย้ายก่อนก็ไม่พ้น! สั่งสอบ ปธ.ตรวจการจ้างโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพังยะลา
เขี่ยลูก ปปง.สอบเส้นทางเงินโกงเขื่อนป้องกันตลิ่งยะลา - ขยายผล 32 โปรเจค!