คาดไทยต้องใช้เวลาอีก 30 ปี แก้ยาเสพติดได้หมดเหมือนรัฐแวนคูเวอร์ แคนนาดา
“เราแก้ปัญหายาเสพติด ใช้เวลาหลายพันล้านชั่วโมง ระดมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ใช้ทุกตำราหมดแล้ว ยังทำได้แค่รัฐแวนคูเวอร์ แคนนาดาสร้างคุกขนาดใหญ่ขึ้นมาบำบัดโดยเฉพาะ แต่ก็พบอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงมาก แม้จะใช้กฎหมาย ก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง ระบบนี้จึงใช้ไม่ได้กับแคนนาดา แต่ไม่ได้หมายความว่า ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย”
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.บรูซ์ อเล็กซ์ซานเดอร์ (Prof.Bruce K. Alexander) อาจารย์มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนนาดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติด บรรยายเรื่อง Globalization of Addiction ในงานสัมมนาเรื่อง "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต: ปัญหาและทางออก" (Back to the Future of Addiction:Problems and Solutions" จัดโดย สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ
ศ.ดร.บรูซ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการทำงานด้านยาเสพติดมากว่า 50 ปี ที่รัฐแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา จนได้บทเรียนสอนเรา สอนสังคมว่า ไม่มีทางเอาชนะการเสพติดได้ ในอดีตแคนนาดามีปัญหาคนติดสุรา ซึ่งถือได้ว่า เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก เจอทั้งปัญหาการฆ่าฟันกัน ทำลายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ต่อมามีการประกาศสงครามกับสุรา รัฐบาลออกเป็นนโยบายห้ามจำหน่ายสุรา กระทั่งทำให้สุราเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หาซื้อได้ แต่ยังห้ามจำหน่ายให้เด็ก และห้ามจำหน่ายวันอาทิตย์
จากนั้นปัญหาการติดสุราลดน้อยลง แต่ก็ถือว่า ทำมาได้เพียงครึ่งทาง เพราะปัจจุบันแคนนาดายังมีคนติดสุราจำนวนมาก มากกว่าการติดยาเสพติดประเภทอื่น ๆ
ศ.ดร.บรูซ์ ยังเล่าถึงภาพการทำสงครามกับยาเสพติดในอดีต มีทั้งการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับนักค้ายา หรือแม้กระทั่งการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำรุนแรงต่อผู้ติดยาเสพติดและนักค้ายาเสพติด โดยระหว่างปี 1970 -2000 แคนนาดาเคยทดลองนำผู้ติดยาเสพติดมาบำบัด ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ
“วันนี้เรือนจำที่แวนคูเวอร์ปิดตัวลงแล้ว ภาพตำรวจทุบตี เมืองที่มีคนติดยาเสพติดไม่มีแล้ว สังคมสงบสุข หากให้เปรียบเทียบก็เหมือนเปลี่ยนจากกลางคืน เป็นกลางวัน เรียกได้ว่า สถานการณ์ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสพติด จากแคนนาดา ชี้ว่า ปัญหาการเสพติดไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ หรือทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องทำซ้ำๆ ลองผิดลองถูก ใช้ความอดทน และมีเมตตากับผู้ใช้ยาเสพติด
สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.บรูซ์ เชื่อว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จึงจะเป็นแบบที่รัฐแวนคูเวอร์
“แคนนาดาแก้ปัญหายาเสพติด ใช้เวลาหลายพันล้านชั่วโมง ระดมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหา ใช้ทุกตำราหมดแล้ว ยังทำได้แค่รัฐแวนคูเวอร์ เราสร้างคุกขนาดใหญ่ขึ้นมาบำบัดผู้ติดยาโดยเฉพาะ แต่ก็พบอัตราการกระทำผิดซ้ำสูงมาก เรามีค่ายบำบัด เปิดมาได้ 15 ปี พบอัตราการใช้ยาเสพติดซ้ำสูงมาก และแม้จะใช้กฎหมาย ก็ควบคุมได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ปัญหาก็ยังคงอยู่ ระบบนี้จึงใช้ไม่ได้กับแคนนาดา แต่ไม่ได้หมายความว่า ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย”
ศ.ดร.บรูซ์ ยืนยันด้วยว่า วันนี้แคนนาดาไม่มีสงครามยาเสพคิดอีกต่อไป เพราะเรามุ่งเน้นการรักษา ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเป็นหลัก อย่างรัฐแวนคูเวอร์ (ไม่ทุกแห่งในแคนนาดา) อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก
นอกจากนี้ บทเรียนที่แคนนาดค้นพบ อย่างเช่น รัฐสภาของแคนาดาได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้อย่างถูกกฎหมายทั่วประเทศนั้น เขาเห็นว่า ถือว่า แคนนาดาทำให้กัญชาถูกกฎหมายเร็วเกินไป พร้อมกับมองว่า การทำให้ถูกกฎหมาย เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อ่อนไหว ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกับทุกคนในสังคมก่อน มิเช่นนั้นจะเกิดกระแสคัดค้าน และต่อต้านได้
หรืออย่างนโยบายทำให้สุราถูกกฎหมาย จำหน่ายได้ถูกกฎหมาย เขาบอกว่า ก็น่ากลัวมาก แคนนาดาใช้เวลา 40 ปี เริ่มทดลองเป็นบางรัฐก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยายไปตามรัฐต่างๆ จนพบว่า สุราถูกกฎหมายให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าผลเสีย
“ในอนาคตแคนนาดาจะทำให้ยาโอปิออยด์ (opioid) ซึ่งเป็นยาระงับความเจ็บปวด ถูกกฎหมาย จำหน่ายได้ตามร้านค้า หลังจากพบมีการใช้ยาตัวนี้แล้วเสียชีวิตกว่า 1,200 รายต่อปี”
ศ.ดร.บรูซ์ ยังได้กล่าวถึงปัญหาการเสพติด หรือพฤติกรรมการเสพติด (Behavioral Addictions) ในโลกสมัยใหม่ ที่บ่อนทำลายมนุษยชาติ ถือว่า มีพลังมีความรุนแรงมาก แม้จะไม่เท่ากับปัญหาภาวะโลกร้อน หรือการใช้อาวุธเข่นฆ่าทำลายล้างกัน แต่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเยาวชนของทุกๆ ประเทศ ทุกครอบครัว เพราะการเสพติดสมัยใหม่เกิดจากการทำพฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำซาก เช่น การเสพติดเกม ติดการพนัน ติดโซเซียลมีเดีย ที่คนทำพฤติกรรมไม่รู้ตัวเมื่อเสพติดสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำให้ชีวิตเขาครึ่งหนึ่งหายไปจากครอบครัว ทำให้ชีวิตเสียไป และไม่มีทางกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เหมือนเดิม
"โลกสมัยใหม่ติดตามเราทุกคน มีปัญหาการเสพติดมากมาย น่าสะพรึงกลัวเพราะโลกสมัยใหม่มีความย้อนแย้ง อีกด้านควบคุมความเป็นปัจเจกชน ควบคุมมนุษย์ แต่ก็ให้อิสรภาพไปพร้อมๆกัน
โลกยุคใหม่ ไร้ราก ไร้ฐาน (Dislocation) ระบบทางสังคมแตกสลายลง ซึ่งมีงานวิจัยของสหรัฐฯ ที่ได้ไปสำรวจเด็กทั้งที่มาจากครอบครัวร่ำรวย ฐานะปานกลาง และครอบครัวที่ยากจน พบเด็กมีปัญหาทางจิตและปัญหาการเสพติด ความรู้สึกกังวล แย่ ไม่พอใจ คนรู้สึกไร้ราก ไร้ฐานเช่นนี้ จะนำมาสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นได้ ถามว่า เราจะอยู่รอดในโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร"