ดร.นิพนธ์ แนะรัฐลงทุนระบบชลประทาน ให้ทัดเทียมเหมือนสร้างถนน ทางด่วน ไฟฟ้า
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ นำเสนองานวิจัยเรื่องการพัฒนาโครงการชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์เศรษฐกิจสูงสุด พบการใช้น้ำชลประทานในภาคเกษตร มีประสิทธิภาพต่ำสุด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ขณะที่พบคนกรุงจ่ายค่าน้ำราคาถูก แถมไม่หยัดใช้สิ้นเปลือง
วันที่ 8 สิงหาคม กรมชลประทาน ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนา เรื่อง "การจัดสรรน้ำชลประทานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศสูงสุด" ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเปิดงาน
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ นำเสนองานวิจัยเรื่องการพัฒนาโครงการชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์เศรษฐกิจสูงสุด โดยผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า การใช้น้ำชลประทานในภาคเกษตรในปัจจุบันมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจต่ำสุด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งไม่ได้หมายความไม่ให้ทำนา แต่เกษตรกรสามารถทำนาโดยใช้น้ำให้ประหยัดขึ้นได้ โดยผลผลิตไม่ได้ลดลง
"วันนี้เราใช้น้ำโดยไม่ระวัง เพราะน้ำไม่มีราคา ใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ ได้ และหากใช้น้ำทำนาไปปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ลำไย อ้อย จะให้ผลตอบแทนกับประเทศเพิ่มขึ้น หรือการผันน้ำจากภาคที่มีน้ำส่วนเกิน สู่ภาคที่ขาดแคลน เพื่อผลิตเป็นน้ำประปา เพื่อการท่องเที่ยว พบว่า มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 0.11%"
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงภาคเกษตรใช้น้ำถึง 70-80% ของน้ำในระบบชลประทานทั้งหมด หากมีการโอนน้ำจากภาคการเกษตรมาแค่ 2-3% เราจะมีน้ำเหลือใช้นอกภาคการเกษตรอย่างเพียงพอ สามารถขยายบริการเขตประปาไปในพื้นที่ชนบทได้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ลดปัญหาการสูบน้ำใต้ดินที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการเกิดดินทรุดตัวลงได้
"รัฐบาล และกรมชลประทานต้องมีนโยบายเรื่องการจัดการด้านความต้องการใช้น้ำให้ประหยัด โดยเฉพาะในภาคที่ใช้น้ำสิ้นเปลือง รวมถึงการใช้น้ำประปาในกรุงเทพฯ การศึกษาชิ้นนี้คำนวณออกมาเห็นเลยว่า หากขึ้นค่าน้ำในกรุงเทพ 10% คนกรุงเทพสามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 13-14% ส่วนคนชนบท หากมีการขึ้นค่าน้ำ 10% คนชนบทลดการใช้น้ำได้แค่ 4%"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า การประปานครหลวง จ่ายค่าน้ำให้กรมชลประทานเฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 15 สตางค์ เฉพาะที่มาจากประตูน้ำมหาสวัสดิ์ ส่วนสถานีสูบน้ำดิบสำแล ที่สูบน้ำจากเจ้าพระยาไม่ต้องจ่าย เพราะไม่มีประกาศกระทรวงรองรับ (ตามพ.ร.บ.ชลประทานหลวง) ขณะที่ต้นทุนการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานลูกบาศก์เมตรละ 1.25 สตางค์ ฉะนั้นภาคการเกษตรกับคนกรุงเทพได้อานิสงส์จากการใช้น้ำราคาถูก และมีการใช้น้ำสิ้นเปลืองมาก หากประหยัดได้จะเหลือน้ำระบบชลประทานใช้ในภาคส่วนอื่น อีกทั้งแก้ปัญหาเรื่องความขาดแคลนไม่จำเป็นต้องไปสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ
"ที่เรามีน้ำใช้ตลอดปีเพราะเรามีเขื่อนส่งน้ำเข้ามาในหน้าแล้ง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาไม่เคยแห้ง หากไม่มีเขื่อนน้ำในแม่น้ำจะแห้ง มีน้ำไม่เพียงพอ ฉะนั้น น้ำชลประทานไม่ใช่ของฟรี แต่เกิดจากการลงทุนสร้างระบบชลประทาน แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเก็บค่าชลประทานได้ เรื่องนี้ต้องมีการทบทวนการครั้งใหญ่"
ทั้งนี้ ในงานวิจัยระบุถึงผลกระทบของการใช้น้ำสิ้นเปลือง อาทิ ทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก หากมีการเก็บค่าน้ำตามต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ รัฐจะมีเงินมาใช้บำรุงรักษาคูคลองชลประทานอีกอย่างน้อยปีละ 8,109 - 12,775 ล้านบาท จากปัจจุบันเก็บไว้ประมาณ 700 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ในอนาคตระบบชลประทานต้องออกแบบให้สามารถสนองความต้องการน้ำที่หลากหลาย ซับซ้อนขึ้น และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่โครงการชลประทานเพื่อทำนาแบบอดีต รวมถึงการตัดสินใจของรัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทาน (Water infrastructures) ให้ทัดเทียมกับการตัดสินใจลงทุนด้านถนน ทางด่วน ไฟฟ้า โดยต้องออกแบบให้สามารถส่งน้ำไปปลูกพืชอื่นๆได้ โครงการชลประทานแม้จะแพงขึ้นแต่ก็ได้ประโยชน์คุ้มค่า มีระบบ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ต่างจากสร้างทางด่วนที่เสียเงิน ดังนั้น คนใช้น้ำอนาคตก็ต้องเสียเงินเพื่อแลกกับระบบบริการที่ดีขึ้น โดยต้องให้ความมั่นใจกับเกษตรกร และทุกคนว่า อนาคตระบบชลประทานเหมือนกับการเปิดก๊อก ได้น้ำประปา