ศูนย์เฉพาะกิจฯ ชี้ไทยไม่มี ‘สถานีวัดน้ำฝน’ ในเขตป่า เหนือเขื่อนแก่งกระจาน สาเหตุประเมินน้ำท่ายาก
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวฯ คาดช่วงกลางคืน 7 ส.ค. 61 น้ำค่อย ๆ ท่วมสูงเมืองเพชรบุรี ไม่เกิน 50 ซม. จากระดับตลิ่ง หากอีก 3 วัน ฝนตกไม่เกิน 30 มม. ควบคุมปริมาณได้ ชี้ต้นเหตุทราบช้าน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจาน ไม่มีสถานีวัดน้ำฝนในเขตป่า ทำให้ประเมินฝนตกเหนือเขื่อนยาก เหตุไม่มีสัญญาณโทรศัพท์-พื้นที่ติดชายแดน ที่ผ่านมาอิงตามหลักวิชาการ กรมอุตุฯ -สสนก.
วันที่ 7 ส.ค. 2561 นายสำเริง แสงภู่วงค์ หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติน้ำ แถลงสถานการณ์น้ำ ณ ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติน้ำ กรมชลประทาน สามเสน
นายสำเริง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำใน จ.เพชรบุรี เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ พบว่า เขื่อนแก่งกระจาน มีน้ำล้นทางระบายน้ำล้นเขื่อนแล้ว 39 ซม. ซึ่งยังถือว่าไหลล้นตามปกติ และจะไหลลงแม่น้ำเพชรบุรี 165 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่แม่น้ำเพชรบุรีสามารถรองรับได้ 200 ลบ.ม./วินาที นั่นแสดงว่า แม่น้ำยังสามารถรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าได้ตามปกติ
ขณะที่อาคารควบคุมจัดการน้ำ เขื่อนเพชรบุรี กรมชลประทานได้ระบายน้ำผ่านเข้าไป 100 ลบ.ม./วินาที อีกส่วนหนึ่งระบายน้ำเข้าคลองด้านนอก เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองเพชรบุรีเกินเกณฑ์ ทั้งนี้ จะมีการจัดการในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ พร้อมกับแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมรับมือ อย่างไรก็ตาม คืนนี้น้ำจะค่อย ๆ ทยอยสูงขึ้น แต่จะสูงเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการควบคุมของเขื่อนเพชรบุรี แต่คาดว่าจะสูงไม่เกิน 50 ซม. จากระดับตลิ่ง
“วันที่ 7-9 ส.ค. 61 ถ้าไม่มีปริมาณฝนตกมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ 20-30 มิลลิเมตร จะสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้” หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวฯ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการพร่องน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเหลือพื้นที่ไว้รองรับปริมาณน้ำในอนาคต โดยเฉพาะในฤดูฝนจริง ๆ
นายสำเริง กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานทราบล่วงหน้าเพียงไม่นานว่าน้ำจะล้นเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเรามองเป็นปัญหาในเชิงการบริหารจัดการ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยไม่การติดตั้งสถานีวัดน้ำฝนเหนือเขื่อนอย่างแท้จริง เพราะพื้นที่เหนือเขื่อนอยู่ในเขตป่า จึงอาศัยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ประเมินจากกลุ่มเมฆตามหลักวิชาการ
“ในป่าไม่มีใครนำอุปกรณ์วัดน้ำฝนไปติดได้ เนื่องจากติดปัญหาจะส่งสัญญาณออกมาได้อย่างไร ประกอบกับเขตป่าบางช่วงอยู่ในเขตพม่าด้วย จึงต้องใช้คำนวณจากหลักวิชาการแทน ทั้งนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ขาดแคลน ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ไม่มีเช่นกัน” หัวหน้าศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวฯ กล่าว
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเสริมถึงเหตุผลที่ไม่ติดตั้งสถานีวัดน้ำฝนเหนือเขื่อน เพราะอยู่ในเขตป่าชายแดน ประกอบกับการใช้เครื่องมือวัดน้ำฝนต้องพึ่งพาคลื่นโทรศัพท์ในการส่งสัญญาณ อีกทั้ง การอ่านค่านอกจากใช้ระบบอัตโนมัติแล้ว อาจให้คนไปอ่าน ซึ่งการเดินทางเข้าไปในเขตอุทยานเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีรถ อย่างมากต้องฝากให้เจ้าหน้าที่อุทยานเป็นคนดำเนินการให้ แต่มักติดปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ ดังนั้นอนาคตต้องหาวิธีดำเนินการ เพื่อให้ทราบว่าน้ำจะไหลลงเขื่อนเท่าไหร่ แตกต่างจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถทำได้ เนื่องจากต้นน้ำอยู่เหนือจังหวัด จึงติดตั้งสถานีตรวจวัดน้ำฝนและคาดการณ์ได้ว่า น้ำฝนตกลงมากลายเป็นน้ำท่าเท่าไหร่ .