ข้อมูลใหม่ สถานะ จนท.ไทย คดีสินบนบ.ญี่ปุ่น 20 ล. เกี่ยวข้องสัญญาการก่อสร้าง ?
"...สำนักอัยการญี่ปุ่นได้นำเอากระบวนการต่อรองคำรับสารภาพมาทำข้อตกลงกับบริษัท MHPS จากกรณีที่อดีตลูกจ้างของบริษัทถูกกล่าวหน้าว่าได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีการเซ็นมอบหมายให้บริษัท MHPS เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน ส.ค. 2556 ซึ่งลูกจ้างของบริษัทถูกกล่าวหาว่าได้ให้เงินจำนวนมูลค่าหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการได้รับอนุญาตให้สามารถขนถ่ายสินค้าได้ .."
ยังคงเป็นประเด็นที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranerws.org ให้ความสำคัญติดตามนำเสนอข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ต่อกรณี สำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว ได้สืบสวนบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS ในข้อหาละเมิดกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศไทย เกี่ยวกับงานโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 โดยมีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ทางการของไทย ผ่านนายหน้ารายหนึ่ง เป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านเยน หรือราว 20 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของกรมเจ้าท่า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) (อ่านประกอบ : เบื้องลึก! คดีสินบน20ล.กรมเจ้าท่าฯ สั่งย้ายอดีตผอ.นครศรีฯ เข้ากรุช่วยราชการแล้ว, ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำข้อมูลเกี่ยวกับการต่อรองการรับสารภาพ (Plea Bargain) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคดีนี้มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานด้านกฎหมาย K&L Gates LLP ของสหรัฐอเมริกา ได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีการต่อรองคำรับสารภาพคดีสินบนของบริษัทญี่ปุ่นบนเว็บไซต์ www.jdsupra.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เน้นการเสนอนำข่าวบทความที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและการดำเนินธุรกิจต่างๆ พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประเด็น
โดยเฉพาะข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับสถานะของเจ้าหน้าที่ไทย ที่เข้ามาพัวพันกับคดีนี้ ว่า มีความเกี่ยวข้องกับสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีการเซ็นมอบหมายให้บริษัท MHPS เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน ส.ค. 2556
ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าว ระบุว่า สำนักอัยการญี่ปุ่นได้ร่วมมือกับบริษัท Mitsubisho Hitachi Power Syste, Ltd. (MHPS) ในการทำข้อตกลง การต่อรองคำรับสารภาพ เพื่อที่จะดำเนินการสืบคดีการทุจริตการรับหรือให้สินบน ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทย นี่ถือว่าเป็นใช้การต่อรองคำรับสารภาพในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรก หลังจากที่ระบบการต่อรองคำรับสารภาพมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561
@ การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยมาตรการทางอาชญากรรมของญี่ปุ่น
บทความระบุว่า สืบเนื่องจากการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยมาตรการทางอาชญากรรมของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติของญี่ปุ่นเมื่อเดือน พ.ค.2561 ญี่ปุ่นได้เริมใช้ระบบการต่อรองเพื่อรับสารภาพ โดยหวังว่าจะเป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับคดีอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งระบบนี้มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริงเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 โดยกระบวนการของระบบดังกล่าวนั้นคือเพื่อให้อัยการสามารถทำข้อตกลงต่างเป็นทางการกับผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยที่มีใรส่วนในกระบวนการกระทำผิดได้
โดยข้อตกลงนั้นจะเป็นการต่อรองว่าจะถอนหรือลดข้อกล่าวหา หรือตกลงกันล่วงหน้าว่าจะลงโทษสถานเบา ถ้าหากจำเลยหรือผู้ต้องสงสัยผู้นั้นได้ให้การด้วยสัตย์จริง อันจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีในชั้นศาล
ทั้งนี้ทางจำเลยจะต้องแสดงความร่วมมือกับฝ่ายอัยการ เพื่อจะเข้าสู่กระบวนการการต่อรองคำรับสารภาพ โดยคุณสมบัติของผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการได้นั้นจะต้องเป็นจำเลย ซึ่งไม่จำกัดว่าจะเป็นในนามบุคคลหรือนิติบุคคล และจะต้องแสดงหลักฐานหรือให้การเพื่อเชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหาหรือกระบวนการสืบสวนอันจะเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้กระทำผิดในคดีนั้นๆ
ซึ่งกระบวนการนี้จะไม่มีการต้องมารายงานตัวแบบที่กระทำในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ การเข้าร่วมกระบวนการต่อรองคำรับสารภาพนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานะของข้อกล่าวหานั้นๆ โดยที่ทางอัยการญี่ปุ่น จะต้องดำเนินการสอบสวนสืบสวนเพื่อไปให้ถึงตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงในคดีนั้นๆ
กฎหมายดังกล่าวนั้น ยังระบุว่า อัยการจะพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญต่างๆว่าจะยื่นข้อเสนอการต่อรองคำรับสารภาพหรือไม่ เพื่อจะให้ได้หลักฐานอันสำคัญของคดีจากความร่วมมือของฝ่ายจำเลย โดยปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ความร้ายแรง สถานะ และความเกี่ยวข้องของจำเลยต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น ทั้งหมดจะเป็นสิ่งที่อยู่ในดุลยพินิจของอัยการ ว่าจะพิจารณาว่าจะใช้ระบบการต่อรองคำรับสารภาพหรือไม่อย่างไร
สำหรับข้อตกลงว่าจะปกป้องผู้ที่ให้ความร่วมมืออย่างไรกับฝ่ายที่ให้ความร่วมมือกับทางอัยการนั้น ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในกระบวนการต่อรองคำรับสารภาพ ที่ทางอัยการจะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ ถ้าหากมีการบรรลุข้อตกลงระหว่างฝ่ายอัยการกับฝ่ายผู้ที่จะให้ความร่วมมือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการทำหนังสือว่าด้วยข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งหนังสือว่าด้วยข้อตกลงนี้จะต้องมีการยื่นให้กับทางศาลญี่ปุ่นด้วย ถ้าหากอัยการจะใช้หลักฐานหรือคำให้การของฝ่ายผู้ที่ได้รับข้อเสนอการต่อรองคำรับสารภาพในกระบวนการชั้นศาลเพื่อที่จะนำไปสู่การเอาผิดผู้ที่กระทำผิดที่แท้จริง ในระหว่างการพิจารณาคดีบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะกระทำผิดนั้นๆ ทั้งนี้ถ้าหากเกิดกรณีว่าฝ่ายจำเลยซึ่งมีข้อตกลงการต่อรองคำรับสารภาพกับทางอัยการญี่ปุ่น เพื่อจะเอาผิดกับบุคคลที่ 3 ซึ่งต้องสงสัยว่าจะกระทำผิด ถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีเสียเอง จดหมายว่าด้วยข้อตกลงการต่อรองคำรับสารภาพ ก็ควรจะถูกนำมาแสดงต่อหน้าศาลในระหว่างการพิจารณาคดีเช่นกัน
ในกรณีที่ฝ่ายจำเลยหรือผู้ต้องสงสัยไม่อาจจะบรรลุข้อตกลงการต่อรองคำรับสารภาพได้ อัยการจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำเอาคำให้การของจำเลยหรือผู้ต้องสงสัยนั้นๆ เพื่อใช้เอาผิดกับบุคคลที่ 3 ซึ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ที่จะกระทำความผิดได้ แต่อย่างไรก็ตามอัยการก็ยังจะสามารถนำเอาคำให้การของผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยคนดังกล่าว เพื่อไปนำสืบและหาหลักฐานเพื่อจะเอาผิดกับบุคคลที่ 3 ว่าเป็นผู้กระทำความผิดได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การเปิดรับระบบว่าด้วยการต่อรองคำรับสารภาพทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นการเปิดรับแนวทางใหม่ๆในการรวบรวมหลักฐานต่างๆในชั้นกระบวนการฟ้องคดี โดยเสนอการลงโทษสถานเบาให้กับผู้กระทำความผิด ซึ่งการเปิดรับระบบการต่อรองคำรับสารภาพดังกล่าวดูเหมือนว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีสินบนที่เกิดขึ้นนอกประเทศญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น ดูเป็นการยากและมีความท้าทายมากในการหาหลักฐานมาเอาผิดผู้กระทำความผิดตัวจริง โดยดูจากข้อมูลแล้วก็พบว่าแม้ว่าการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ จะเป็นความผิดในประเทศญี่ปุ่นนับปี 2541 เป็นต้นมา แต่ปรากฏว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินการเอาผิดจริงๆแค่เพียง 4 คดีเท่านั้น
@ คดีสินบน MHPS
สำนักอัยการญี่ปุ่นได้นำเอากระบวนการต่อรองคำรับสารภาพมาทำข้อตกลงกับบริษัท MHPS จากกรณีที่อดีตลูกจ้างของบริษัทถูกกล่าวหน้าว่าได้ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสัญญาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีการเซ็นมอบหมายให้บริษัท MHPS เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือน ส.ค. 2556 ซึ่งลูกจ้างของบริษัทถูกกล่าวหาว่าได้ให้เงินจำนวนมูลค่าหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการได้รับอนุญาตให้สามารถขนถ่ายสินค้าได้
ในเวลาต่อมาบริษัท MHPS ก็ได้รับรู้ว่าข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องนั้น และได้นำเรื่องแจ้งไปยังสำนักงานอัยการญี่ปุ่นในปี 2558
สืบเนื่องจากการนำเอาการต่อรองคำรับสารภาพมาใช้ สำนักงานอัยการญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะไม่เอาผิดกับบริษัท MHPS แลกกับการที่บริษัทจะได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอดีตลูกจ้างของบริษัทเอง
ทั้งนี้ถือว่าบริษัท MHPS ได้รับประโยชน์จากระบบการต่อรองคำรับสารภาพนี้ ด้วยการให้ข้อมูลกับสำนักอัยการญี่ปุ่น โดยเฉพาะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับอดีตพนักงานที่อาจจะมีส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งกรณีที่คล้ายกับบริษัท MHPS อาจจะเกิดขึ้นได้อีก อาทิ บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งให้ความร่วมมือกับทางการญี่ปุ่นโดยให้ปากคำตามความเป็นจริงในกระบวนการสอบสวนสืบสวน หรือในชั้นศาลนั้น จะถูกพิจารณาให้เข้าไปอยู่ภายใต้ระบบการต่อรองเพื่อรับสารภาพดังกล่าว
@ บทเรียนสำหรับบริษัทญี่ปุ่น
จากกรณีสินบน MHPS นั้น บริษัทญี่ปุ่นที่จะต้องทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับในประเทศมีปัญหา สุ่มเสี่ยงในการใช้กฎหมาย บริษัทจะต้องดำเนินการประเมินนโยบายและขั้นตอนการดำเนินการต่างของประเทศนั้นๆอย่างถี่ถ้วน และควรคำนึงว่าจะปฏิบัติตามระบบการสอบสวน ไต่สวนของทางรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างไร ภายใต้การดำเนินการของสำนักอัยการญี่ปุ่น ซึ่งการที่บริษัทญี่ปุ่นจะสามารถปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่นั้น เกี่ยวข้องกับ ระดับความรับผิดของตัวบริษัทเอง การมีกลไกการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพภายในองค์กร และการเสริมสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามข้อบังคับต่างๆอย่างเคร่งครัด”
(แปลเรียบเรียงบทความดั้งเดิมจาก เว็บไซต์ jdsupra https://www.jdsupra.com/legalnews/japan-s-first-plea-bargain-reached-in-78989/)
--------------------
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเบื้องลึกคดีสินบน MHPS จำนวน 20 ล้านบาท ในต่างประเทศ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ส่วนคดีในส่วนของประเทศไทย ผลสรุปการสอบสวนทั้งในส่วนของกรมเจ้าท่า และสำนักงาน ป.ป.ช. จะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ไทยที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับสินบน ว่าแท้จริงแล้วเป็นใครนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป อย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
เบื้องลึก! คดีสินบน20ล.กรมเจ้าท่าฯ สั่งย้ายอดีตผอ.นครศรีฯ เข้ากรุช่วยราชการแล้ว
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดประกาศ บ.ญี่ปุ่น แจงเหตุจ่ายสินบน20ล.แลกเปิดท่าเรือ-พนง.โชว์สปิริตคืนเงินด.
ป.ป.ช.สอบสินบน บ.ญี่ปุ่น20 ล. คืบหน้า80% เผยจนท.พื้นที่เอี่ยว 4-5 ราย-มีกรมศุลฯด้วย
ผู้บริหารฯ ยังไม่ชี้แจงอะไร! เปิดตัวบ.MHPS ก่อนบริษัทแม่ญี่ปุ่น ถูกสอบจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
เช็คโพรไฟล์ธุรกิจ MHPS ก่อนบ.แม่ญี่ปุ่น ถูกสอบปมจ่ายสินบนจนท.ไทย20ล.
กัลฟ์ฯ แจ้งตลท.ยันโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกรณี MHPS จ่ายสินบนจนท.ไทย
ชัดแล้ว! สินบน20ล.บ.ญี่ปุ่น โยงงานขนส่งโรงไฟฟ้าขนอม-ป.ป.ช.ตั้งอนุฯ ลุยสอบสนง.เจ้าท่านครศรีฯ
ทำความรู้จัก'การต่อรองการรับสารภาพ'จุดเริ่มต้นคดีบ.ญี่ปุ่นจ่ายสินบน 20ล.-เหตุเกิดที่ขนอม