รุกป่าต้นน้ำ สาเหตุหลักน้ำเขื่อนแก่งกระจานล้น จังหวัดเตือนรับมือท่วมสูงกว่าปี 60 อีก 50 ซม.
สาเหตุเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำล้นเขื่อนอย่างรวดเร็ว กรมอุทยานฯ ระบุสาเหตุการบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรี ชี้เมื่อฝนตกลงมา แม้จะไม่มาก แต่ป่าที่ถูกเปิดไม่สามารถเก็บซับน้ำไว้ ด้าน สทนช.รายงานล่าสุด เขื่อนแก่งกระจานระดับน้ำวิกฤต 99%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รายงานว่า นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยและมวลชนสัมพันธ์ ร่วมต้อนรับนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการระบายน้ำที่เขื่อนแก่งกระจาน และนำเข้าพื้นที่เป้าหมายบริเวณระบายน้ำสปิลเวย์ และท่อกาลักน้ำที่ระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้ระบุระดับน้ำเพิ่มชั่วโมงละ 3 เซนติเมตร ภายใน 24 ชั่วโมงระดับน้ำจะล้นระดับรางระบายน้ำสปริงเวย์ โดยให้จังหวัดแจ้งเตือนว่าระดับน้ำจะสูงกว่าน้ำท่วมปี 2560 อีก 50 เซนติเมตรภายในเวลาหลัง 24 ชั่วโมงนับจากนี้
ทั้งนี้ในรายงานยังระบุถึงสาเหตุเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำล้นเขื่อนอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากการบุกรุกป่าตามแนวชายแดน มีการเปิดพื้นที่ป่าสมบูรณ์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรบุรี บริเวณใจแผ่นดินห้วยสามแพ่ง บางกลอยบน และ ห้วยเต่าดำ พบการเปิดพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องทำให้ฝนที่ตกมา ถึงแม้จะไม่มาก แต่ป่าที่ถูกเปิดไม่สามารถเก็บซับน้ำไว้ได้ เมื่อฝนตกปริมาณน้ำฝนที่ตกก็จะไหลลงตามแม่น้ำเพชร เข้าเขื่อนอย่างรวดเร็วจนทำให้ปริมาณน้ำเข้าเติมเต็มอย่างเร็วกว่าปกติ
พร้อมกันนี้มีการเผยแพร่ภาพการบินสำรวจ ตรวจสภาพป่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2561 พบการบุกรุกป่าบริเวณดังกล่าวอีกจำนวนมาก และได้เห็นเศษซาก กิ่งไม้ เศษท่อนไม้ ที่สะพานแขวนที่บ้านโป่งลึก บางกลอย พร้อมทั้งสีน้ำที่ขุ่น แดง ซึ่งแสดงว่า ป่าถูกทำลาย ต่อเนื่องจำนวนมาก การเข้าไปบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน ของชนกลุ่มหนึ่ง จนทำให้ป่า และพื้นที่ป่าต้นน้ำพังเสียหาย
ขณะนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยทัพพะยาเสือ ของพล ร 9 จ.กาญจนบุรี เข้าตรวจยึดได้แต่ขณะเข้าตรวจสอบไม่สามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ เนื่องจากหลบหนีเข้าป่าก่อนทุกครั้ง และการตรวจสอบแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องอากาศยานโดยเฮลิคอปเตอร์ เพราะการเดินเท้าต้องใช้เวลาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7-10 วัน ในแต่ละแปลง และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อันตรายอย่างมากจึงยากต่อการตรวจสอบ ฉะนั้นสาเหตุภัยพิบัติอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นนี้ ต้นเหตุเกิดมาจากการบุกรุกป่าต้นแม่น้ำเป็นสาเหตุหลัก
ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 5 สิงหาคม เวลา 12:00 น. เขื่อนแก่งกระจานมีน้ำมากระดับวิกฤติ 99% เขื่อนน้ำอูน 102% เขื่อนศรีนครินทร์ 87% และเขื่อนวชิราลงกร์ 84%
ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานล่าสุด ว่า มีแผนการระบายน้ำลงลำน้ำเดิมวันละ 9.60 ล้าน ลบ.ม. และจากการประเมินสถานการณ์น้ำเขื่อนแก่งกระจานที่มีน้ำเต็มความจุ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้คำนวณปริมาตรน้ำปัจจุบัน ยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างฯมากกว่าการระบายน้ำออก จึงคาดว่าน้ำจะเริ่มล้น Spillway ในวันที่ 5 ส.ค. 61 เวลาประมาณ 22.00 น.คืนนี้ แต่จะไม่ทำให้เขื่อนเสียหายแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน Spillway ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ ปรับระดับน้ำขึ้น คล้ายกับการเอียงขันน้ำแต่น้อย เพื่อเทน้ำออกจากขัน ดังนั้น ต้องใช้ช่วงเวลาระยะหนึ่งกว่าน้ำจะไหลผ่าน Spillway เต็มที่ และต้องใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมงจึงจะไหลไปถึงเขื่อนเพชรบุรี
"ในขณะนี้เขื่อนเพชรบุรีจะสามารถหน่วงน้ำส่วนนี้ ได้ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนน้ำที่เกินจากเขื่อนเพชรบุรีต้องใช้เวลา 20 ชั่วโมงกว่าจะถึงอำเภอเมืองเพชรบุรี"
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ก่อนหน้านี้ โดยใช้บทเรียนจากปี 2559 และ ปี 2560 มาปรับใช้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารชลประทานอย่างต่อเนื่อง และติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ก่อนเกิดฝนตกหนัก ยังจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เกิดน้ำท่วม ทั้งยังทำการพร่องน้ำ เร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี โดยเครื่องผลักดันน้ำ และ เครื่องสูบน้ำ จากทุกหน่วยงาน รวมทั้งตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล ประกอบการวางแผนการเร่งระบายน้ำโดยติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้ทำการประเมินสถานการณ์น้ำ ที่จะระบายผ่านเขื่อนเพชร ในอัตราการระบาย ดังนี้ หากปริมาณไหลผ่านในอัตรา 50-100 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร กรณีระบายน้ำในอัตรา 100-150ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.หนองโสน ต.บ้านกุ่ม ต.บางครก อัตราการระบายน้ำปริมาณ 150-200ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.คลองกระแซง ต.บ้านหม้อ ต.ท่าราบ ต.ต้นมะม่วง อัตราการระบายน้ำปริมาณ 200-400 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.บ้านลาด ต.ตำหรุ ต.ท่าเสน ต.ถ้ำรงค์ ต.สมอพลือ และไหลลงคลองส่งน้ำ อัตราการระบายน้ำปริมาณ 400-600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่ายาง ต.ยางหย่อง
และถ้าอัตราการระบายน้ำปริมาณมากกว่า 600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่าแลง ต.ท่าคอย และไหลเข้าคลองส่งน้ำ
หากมีน้ำล้นทางระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทุก ๆ อัตรา 10 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-15 ซม. ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้ชาวบ้านริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดแม่น้ำ ท้ายเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ขอให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วย ออกจากพื้นที่
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน(5 ส.ค. 61)ระดับในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณใต้เขื่อนเพชร ลงมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง เฉลี่ย 2-3 เมตร กรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรบุรี ผ่านทางช่องระบายน้ำปกติ กาลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำ อยู่ที่ 115 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเพชรบุรี