รถจอดเสียข้างทาง เสี่ยงรถชน และสูญเสียสูงมาก
รถจอดเสียข้างทาง เสี่ยงรถชน และสูญเสียสูงมาก ดังตัวอย่างเช่นคลิปนี้ที่เกิดในต่างประเทศ แต่ก็ไม่ต่างกับไทย เพียงแค่เปลี่ยนการขับจากซ้ายเป็นขวา
ดูคลิปประกอบ : www.roadsafetynewstizen.com
คลิปนี้ เกิดที่ต่างประเทศ ซึ่งรถเร็วต้องแซงเลนซ้าย แต่มาใช้ไหล่ทางด้านขวาเพื่อแซง ทำให้มีความเสี่ยง ทั้งกับตัวเองและรถที่จอดอยู่ เพราะไหล่ทาง มีโอกาสที่จะมีรถจอดริมทางเหมือนเหตุการณ์นี้ มี 2 ประเด็นสำคัญ
1. ขับเร็วและการแซงด้วยไหล่ทาง
กรณีนี้ จะเห็นได้ว่ารถที่ขับมาพยายามจะแซงไหล่ทางด้านขวา ขาดความตระหนักและประสบการณ์ ในการรับรู้สภาวะเสี่ยง (Hazard perception) ว่ารถบรรทุกที่เปิดสัญญาณไฟและกำลังขยับเปลี่ยนช่องทาง อาจจะแปลว่า ข้างหน้ารถบรรทุกมีรถจอดเสียริมทาง หรือรถกำลังหยุดจอด ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ รีบชะลอรถทันทีและไม่แซงบนไหล่ทาง
ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการคือ ขับเร็วมาก (160 กม./ชม.) ทำให้ช่วงเวลาตอบสนองสถานการณ์ (reaction time = 1-2 วินาที) ว่าจะหลักหลบหรือเหยียบเบรค ก็ใช้ระยะทางไปถึง 88.88 เมตร (ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง , 1 sec.=44.44 เมตร) .. กว่าปฎิกริยาของร่างกายจะทันตอบสนอง (เบรค-หลักหลบ) รถก็ชนแล้ว สรุปคือ กรณีนี้ คือขับเร็วมาก + ขาดการตระหนักและรับรู้สภาวะเสี่ยง
2. รถที่จอดเสียริมทาง
ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร พึงตระหนักเสมอว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกรณี แม้ว่ารถที่ขับมาชนจะลดความเร็วจาก 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะลดลงมาเหลือ 93 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในจังหวะที่ชน แต่ที่ความเร็วขนาดนี้ เทียบเท่ากับผู้ถูกชน “ตกตึก 10 ชั้น” ซึ่งจะรุนแรงและเสียชีวิต ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ “รถเสียและจอดริมทาง” ควรปฎิบัติดังนี้
2.1 วางอุปกรณ์เตือน (ป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสง หรืออื่นๆ ที่เห็นได้ชัดเจน) เพื่อเตือนรถคันอื่น โดยวางเตือนก่อนไม่ต่ำกว่า 100-150 เมตร โดยเฉพาะการจอดเสีย บนทางด่วน หรือถนนที่ใช้ความเร็วสูง ให้ป้ายสามเหลี่ยมยื่นออกมาในระดับเดียวกับ ตำแหน่งรถ เพื่อให้รถที่วิ่งมาได้เห็นและขยับเปลี่ยนช่องทางแต่เนิ่นๆ กรณีนี้ จะเห็นได้ว่ามีการวางอุปกรณ์เตือนในระยะเพียง 10-20 เมตร ทำให้รถบรรทุกไม่ได้ขยับเปลี่ยนช่องทางเนิ่นๆ เมื่อเปลี่ยนเลนกระชั้นรถหลังที่ตามมาก็หักหลบไม่ทัน
2.2 ไม่ควรนั่งรอ หรือ มายืนอยู่ท้ายรถ
ส่วนกรณีที่ 2 รถจอดเสียและถูกชนบนทางยกระดับ ถนนบรมราชชนนี ทำให้เจ้าของรถกระเด็นตกลงมาและถูกปิกอัพชนซ้ำ
ดูคลิปประกอบ : www.roadsafetynewstizen.com
ในกรณีดังกล่าวข้างทางมีพื้นที่ ให้ออกไปยืนนอกเขตถนนในตำแหน่งปลอดภัย เช่นหลังตำแหน่ง guardrail แต่ถ้าเป็นทางด่วนหรือทางยกระดับ (ไม่มีพื้นที่ขอบทาง) ก็ควรขยับออกไปยืนห่างตัวรถออกไป ไม่น้อยกว่า 30-50 เมตร รวมทั้งปรับให้รถอยู่ในเกียร์ P, และปรับวงเลี้ยวให้ล้อหันเข้าขอบทาง เผื่อว่ามีการชนจะชะลอหรือทำให้ทิศทางไม่ให้รถพุ่งมาชน คนที่อยู่ด้านหน้า นี่เป็นอุทาหรณ์เพื่อเตือนให้ระมัดระวังเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์คับขันและ อันตรายแบบนี้
ที่มา : www.roadsafetynewstizen.com