"นิพนธ์ บุญญามณี" เปิดแผลงบไฟใต้ ชี้ช่องโหว่ ก.ม.-จี้พัฒนา"เมืองชายแดน"
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เป็นวันที่ 2 เมื่อวันอังคารที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอภิปรายตั้งคำถามถึง "งบดับไฟใต้" หรือแผนงานแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลตั้งงบเอาไว้ถึง 20,731 ล้านบาท กันพอหอมปากหอมคอนั้น
ประเด็นที่่หลายฝ่ายจับตากันอย่างกว้างขวาง คือการปรับเพิ่มงบดับไฟใต้ขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 4 พันล้านบาท และยังลามไปถึงงบทหาร ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้รับเพิ่มขึ้นถึง 1.3 หมื่นล้านบาท เหล่าทัพทุกเหล่าทัพได้รับงบสูงขึ้นอย่างถ้วนหน้า
กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของ นายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เขาเห็นว่ารากเหง้าของปัญหางบภาคใต้ที่เพิ่มขึ้นแทบทุกปี แต่กลับไม่ปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม เป็นเพราะการบริหารจัดการงบไม่มีประสิทธิภาพ พบปัญหาความเหลื่อมซ้อนกันของการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบงานในพื้นที่ด้วยกันเอง
เขาอธิบายว่า ปัจจุบันรัฐบาลใช้กฎหมายหลายฉบับในการจัดการปัญหาภาคใต้ หลักๆ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (กฎหมายความมั่นคง) ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รับผิดชอบอยู่ นอกจากนั้้นยังมีพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.) ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใช้อยู่ และยังมีกฎหมายอื่นๆ ในความรับผิดชอบของฝ่ายปกครองอย่างกระทรวงมหาดไทย รวมถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกองทัพใช้ปฏิบัติการในพื้นที่อีกด้วย
"ผมมีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะในฐานะกรรมาธิการฯได้ติดตามงบภาคใต้มาตลอด และเห็นปัญหาช่องว่างของกฎหมายซึ่งใช้อยู่หลายฉบับ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับเกี่ยงกันทำหน้าที่ ปัดความรับผิดชอบ บางเรื่องบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่บางเรื่องที่นำมาซึ่งงบประมาณกลับแย่งงานกัน โดยบอกว่าเป็นงานของหน่วยตน ทำให้การบริหารงบประมาณและการจัดการในพื้นที่มีปัญหาลักลั่น อย่างเช่นงานพัฒนา ทหารก็ยังทำอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ควรให้ ศอ.บต.กับกระทรวง ทบวง กรมที่มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบแทนได้แล้ว"
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้ผลักดัน พ.ร.บ.ศอ.บต.ออกมาบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 โดยออกแบบให้แยกงานด้านความมั่นคงกับงานพัฒนาออกจากกัน โดย กอ.รมน.รวมทั้งตำรวจรับผิดชอบงานความมั่นคงทั้งหมด ส่วนงานพัฒนาให้ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพ แต่จนถึงขณะนี้การทำงานยังซ้ำซ้อนกันอยู่อีกมาก ขณะที่บางงานกลับไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเลย
"หลายหน่วยงานยังเกร็ง ไม่รู้ว่าใครทำหน้าที่อะไร มีการโยนกลองกันไปมา และมีพื้นที่โนแมนแลนด์ในบางภารกิจ เรียกว่าบางภารกิจไม่มีเจ้าภาพเลยก็ว่าได้"
เขายังยกตัวอย่างงานด้านการพัฒนาที่ถูกละเลยและไม่ค่อยมีความคืบหน้า เช่น การพัฒนา "เมืองชายแดน" ให้มีศักยภาพในการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจุดที่มีด่านชายแดนจาก จ.สตูล สงขลา ไปจนถึงยะลา และนราธิวาส รวม 11 ด่าน เคยมีแผนงานให้วางผังเมืองใหม่ แต่กลับไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่มูลค่าการขนส่งสินค้าผ่านแดนเฉพาะ จ.สงขลา แห่งเดียวปีหนึ่งเกือบ 1 ล้านล้านบาท
"สงขลามีด่านชายแดนทั้งหมด 4 ด่าน คือด่านปาดังเบซาร์ (อ.สะเดา) ด่านสะเดา (ด่านนอก) ด่านบ้านประกอบ (อ.นาทวี) และด่านท่าเรือน้ำลึกสงขลา ปัจจุบันการขนส่งสินค้าเติบโตมาก ขณะที่การจราจรหน้าด่านแออัด หากปล่อยไว้แบบนี้จะกระทบกับภาคธุรกิจอย่างมาก ส่วนท่าเรือน้ำลึกแห่งที่ 2 ก็ยังถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อสิบปีที่แล้วเราเคยเสนอให้กรมทางหลวงทำแผนตัดมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างสะเดาหรือหาดใหญ่กับท่าเรือน้ำลึกปีนัง (มาเลเซีย) แต่กรมทางหลวงบอกว่าไม่คุ้มทุน วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมากแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลปัดฝุ่นโครงการพัฒนาเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาด้วย"
นายนิพนธ์ ในฐานะรองประธาน กมธ.ติดตามงบประมาณ กล่าวอีกว่า จากปัญหาทั้งหมด กมธ.ได้เตรียมจัดสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณและโครงการพัฒนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมบีพี สมิหลา จ.สงขลา ในวันที่ 8-9 มิ.ย.นี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประชุมร่วมกัน ทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และสำนักงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่น่าห่วงสำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ประสิทธิภาพการดำเนินคดีความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมลำดับต้น ได้แก่ตำรวจ โดย นายนิพนธ์ บอกว่า ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ปรับปรุงการปฏิบัติงาน จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาตกต่ำลงไปอีก
"ที่ผ่านมามีลักษณะสืบสวนสอบสวนได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ทำให้คดียกฟ้องเป็นจำนวนมาก จากสถิติปีล่าสุดเฉพาะคดีความมั่นคงใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คดียกฟ้องถึง 78% พิพากษาลงโทษแค่ 22% และมีคดีที่ตำรวจไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด ต้องสั่งงดการสอบสวนมากถึง 76% ทั้งหมดหากไม่รีบแก้ไข จะทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลดต่ำลง และการที่ศาลยกฟ้อง เชื่อว่าหลายคดีผู้ที่ถูกจับกุมไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนยืนยันความผิด ซึ่งจะทำให้กลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ฮึกเหิมและไม่เกรงกลัวกฎหมาย"
ในฐานะที่เกาะติดปัญหาภาคใต้มานาน นายนิพนธ์ บอกว่า การจะคลี่คลายสถานการณ์ความไม่สงบได้ ต้องดำเนินการ 3 เรื่องพร้อมกัน คือ 1.ใช้กฎหมายจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ 2.ปฏิบัติการปกป้องพื้นที่ ทั้งตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น ติดตั้งกล้องซีซีทีวี และ 3.เดินหน้างานด้านการพัฒนา
"ที่ผ่านมางบประมาณของหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยเพิ่มสูงขึ้น ตำรวจก็เพิ่ม ทหารก็เพิ่ม ฝ่ายปกครองก็เพิ่ม แต่ผลสัมฤทธิ์กลับไม่ชัดเจน ผมคิดว่าถึงเวลาต้องสังคายนาใหญ่ แค่แก้ไขไม่พอ ต้องสังคายนา ต้องเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุยกันว่าการใช้งบภาคใต้ในแต่ละปีคุ้มค่าหรือไม่ และต้องประเมินผลออกมาให้ชัดเจน" นายนิพนธ์ กล่าวในที่สุด
ภารกิจการสลายเมฆหมอกเพื่อเปิดฟ้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากแดนสนธยา จะแปรเปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ให้กลายเป็นดีอย่างแน่นอน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : อินโฟ กราฟฟิก โดยทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
หมายเหตุ :
1 อัชณีย์ เดชณรงค์, รัตติญา หนูเหลือง เป็นนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
2 บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 23 พ.ค.2555 ด้วย