5 จาก 76 จังหวัด ส่งข้อมูลบัญชีอ่างเก็บน้ำ ในความรับผิดชอบของอปท.
เป็นไปอย่างช้าๆ 5 จาก 76 จังหวัด เพิ่งทยอยส่งข้อมูลบัญชีอ่างเก็บน้ำ ในความรับผิดชอบของอปท. หลังมหาดไทยมีหนังสือสั่งการด่วนไปตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ให้ทำฐานข้อมูลแหล่งน้ำพื้นที่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบส่ง แจกแจง ระบุประเภทอาคาร ความจุปริมาณ ตำแหน่งพิกัดหน่วยงาน เพื่อรอรับสถานการณ์น้ำหลากช่วงฤดูฝน ไม่ให้กระทบปชช.
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง การดำเนินการตามข้อสั่งการจากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 โดยหนึ่งในข้อสั่งการ ระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำบัญชีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ โดยระบุประเภทอาคาร ความจุปริมาณ ตำแหน่งพิกัดหน่วยงาน และกำหนดให้มีผู้ประสานงาน ตามแบบฟอร์มรวบรวมบัญชีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง/เล็กในจังหวัด (อ่านประกอบ:เปิดหนังสือ มท. จี้ท้องถิ่นทำบัญชีอ่างฯ ขนาดกลาง-เล็ก ตรวจซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ )
ล่าสุด มีรายงานความคืบหน้า มีเพียง 5 จังหวัด จาก 76 จังหวัดที่กรอกแบบฟอร์มรวบรวมบัญชีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง/เล็ก ในจังหวัดส่งมาที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหากได้ข้อมูลครบกรมส่งเสริมฯ จะได้รายงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าว กล่าวถึงปัญหาการส่งข้อมูลเป็นไปด้วยความล่าช้า สืบเนื่องจากท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีการทำข้อมูลเก็บไว้ ทั้งเขื่อนขนาดเล็ก อ่างเก็บน้ำ ฝาย ทำนบ ห้วย หนอง คลอง บึง ขณะที่มีการสั่งการระดับจังหวัด ลงไปที่อปท.ยังมีความล่าช้า ดังนั้นจึงไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผลการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม มีเรื่องการเตรียมความพร้อมการรับสถานการณ์น้ำหลากปี 2561 ได้มีข้อคิดเห็นและเสนอแนะ ดังนี้
เนื่องจากสภาพปัจจุบัน มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทสไทย มีปริมาณเกณฑ์สูงกว่าร้อยละ 80 ถึง 100 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคตะวันออก ซึ่งขอให้กรมชลประทานและกฟผ.พิจารณาเร่งระบายน้ำตามแผนการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย โดยร่วมทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และอปท.บางแห่งอาจใช้งานไม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากมีฝนตกในพื้นที่อ่างฯไม่สามารถรองรับน้ำได้ อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ ได้ พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบสภาพอ่างฯ ขนาดเล็กและอาคารชลศาสตร์ต่างๆ ซ่อมบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ โดยมอบหมายให้ มท.เป็นหน่วยงานหลัก