อีก 9 ปีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับในไทยเป็นศูนย์ นักวิชาการชี้หลัง 2570 เสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ โชว์กราฟแสดงตัวเลขกำลังไฟฟ้าสำรองเยอะจริง แต่จากปี 2570 จะลดลงเรื่อยๆ หวั่นเจอวิกฤต ชี้ปี 2577 มีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ 1.41 วัน/ปี หรือ 30 ชม./ปี
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของไทย ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2015 ว่า ตามที่มีข่าวบอกว่า ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเยอะเกิน ซึ่งก็เป็นความจริง ปี 2561 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองถึง 33% ปี 2562 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองถึง 36% (หากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ดำเนินการผลิตไฟฟ้าส่งขายไทยไม่ได้ ตัวเลขนี้จะลดลง) และตั้งแต่ปี 2579 กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยจะลดลงเรื่อย เพราะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจะเหลือแค่ 15%
รศ.ดร.กุลยศ กล่าวถึงการเกิดไฟฟ้าดับสะสมในประเทศไทยคิดเป็นจำนวนวันในหนึ่งปี จะเห็นว่า ปัจจุบันเรามีไฟฟ้าสำรองอยู่ 30% ส่งผลถึงปี 2570 หรืออีก 9ปี โอกาสเกิดไฟฟ้าดับจากระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นศูนย์ หมายความว่า วันนี้ไฟฟ้าบ้านเรามีพอแน่ๆ แทบไม่ต้องกังวล แต่หลังจากปี 2570 โอกาส เกิดไฟฟ้าดับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ลดลง
"วิกฤตปี 2577 จะพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยจะเหลือ 15.43% ทำให้มีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ 1.41 วันต่อปี หรือประมาณ 30 ชั่วโมงต่อปี"
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยรับความเสี่ยงให้โอกาสเกิดไฟฟ้าดับได้มากขึ้น การผลิตไฟฟ้าสำรองก็ลดน้อยลงได้ ค่าใช้จ่ายก็ลดลง จึงขึ้นอยู่กับการวางแผนเราจะบริหารอย่างไร
การนำเข้าไฟฟ้าจากลาว หรือซื้อไฟฟ้าจากลาวนั้น รศ.ดร.กุลยศ กล่าวว่า มีสัดส่วนน้อยมากแค่ 8% ตัวหลักคือพลังงานแก๊สซึ่งเราพึ่งพามากถึง 28,402 เมกะวัตต์ หรือ 61% โดยพลังงานน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาถูกที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าประเภทต่างๆ
"ตัวเลข อ้างอิงจากแผน PDP 2015 พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ 2.41 บาทต่อหน่วย นิวเคลียร์ 2.54 บาทต่อหน่วย พลังงานความร้อนร่วม (ก๊าซ) 3.09 บาทต่อหน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ 4.12 บาทต่อหน่วย และที่แพงสุด คือ กังหันแก๊ส (ดีเซล) 10.02 บาทต่อหน่วย"
ทั้งนี้ รศ.ดร.กุลยศ กล่าวถึงเหตุการณ์เขื่อนแตกที่ลาว กระทบต่อไทยมากแค่ไหน ซึ่งดูจากตัวเลขเรานำเข้าไฟฟ้าจากลาวไม่สูงมาก ในระยะยาวบ้านเราก็มีไฟฟ้าสำรองสูง ทั้งนี้อาจมีผลกระทบบ้างต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูก ชะลอออกไป เราต้องใช้เชื้อเพลิงที่แพง อาจมีผลต่อค่า FT ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: