เปิดหนังสือ มท. จี้ท้องถิ่นทำบัญชีอ่างฯ ขนาดกลาง-เล็ก ตรวจซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพใช้งานได้
นักวิชาการด้านแหล่งน้ำ จุฬาฯ ห่วงเขื่อนขนาดเล็ก 8 พันแห่งโอนภารกิจให้อปท. ขาดกำลังคนดูแล-ซ่อมบำรุง สำนักข่าวอิศรา เปิดหนังสือสั่งการด่วน ทั้งจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จี้อปท.ทำบัญชีอ่างฯ ขนาดกลาง-เล็ก เร่งตรวจสอบซ่อมแซม และบำรุงให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ ก่อนฤดูฝน
จากกรณี ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลไว้ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 15 “เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับเรื่องของเรา” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่งได้ระบุถึงเขื่อนขนาดใหญ่ (ความจุเก็บกักเกิน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร) ในไทย มี ประมาณ 34 แห่ง พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงเรื่องขอกำลังคนที่จะเข้าไปดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนขนาดกลาง (ความจุ 1-100 ล้านลูกบาศก์เมตร) ที่มีกว่า 800 เขื่อน และเขื่อนขนาดเล็ก (กักเก็บน้ำต่ำกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร) ที่มีอยู่กว่า 8,000 แห่ง ปัจจุบันโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลนั้น จะบริหารจัดการอย่างไร หากเขื่อนขนาดเล็กเกิดความเสียหายหรือมีรายงานความเสียหายแล้ว หน่วยงานไหนจะเข้าไปซ่อมบำรุง
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบ ตัวเลข ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2560 รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) พบว่า อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจแหล่งน้ำขนาดเล็กมีจำนวน 1,839 แห่ง จาก 76 จังหวัด รวม 11,779 ภารกิจ (แหล่งน้ำ)
และก่อนเกิดเหตุการณ์เขื่อนปิดช่องเขา ของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ที่สปป.ลาว แตกเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมนั้น ก่อนหน้านี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 เรื่อง การดำเนินการตามข้อสั่งการจากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561
ใจความในหนังสือระบุว่า
ด้วยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ซึ่งเป็นผลจากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 โดยให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดำเนินการและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ ดังนี้
1. กำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ เช่น ผักตบชวา ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2. จัดทำบัญชีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยระบุประเภทอาคาร ความจุปริมาณ ตำแหน่งพิกัดหน่วยงาน และกำหนดให้มีผู้ประสานงาน ตามแบบฟอร์มรวบรวมบัญชีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง/เล็กในจังหวัด
3. ตรวจสอบและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในความรับผิดชอบให้อยู่ในสภาพใช้งานได้
โดยขอให้จังหวัดรวบรวมและจัดส่งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ภายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 เพื่อจะได้รายงานให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทยทราบต่อไป
ขณะเดียวกันเดือนพฤษภาคม 2561 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เคยทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยส่งสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2561 โดยที่ประชุมมีมติข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย ดังนี้
1.จัดทำบัญชีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โดยระบุประเภทอาคาร ความจุ ปริมาณ ตำแหน่งพิกัด หน่วยงาน และกำหนดให้มีผู้ประสานงาน
2.ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ เช่น ฝาย ทำนบดิน อ่างเก็บน้ำ เพื่อให้ใช้งานได้ โดยหน่วยงานที่มีความรู้ด้านอาคาร เช่น กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กรมการทหารช่าง ในกรณีอาคารชลศาสตร์ชำรุดเสียหายปรับปรุงซ่อมแซมให้ใช้งานได้ภายในฤดูฝนนี้
3.กำหนดผู้รับผิดชอบในการติดตราสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ
4.กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและจัดทำแผนปฏิบัติงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นเอกภาพในภาวะวิกฤต (แผนจังหวัด) ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561
5.มอบหมายให้จังหวัดลงพื้นที่สร้างความเข้าใจร่วมกับกรมชลประทานทำแผนปฏิบัติการกับประชาชนเพื่อสร้างการรับรู้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และในกรณีพื้นที่อยู่ท้ายน้ำที่อ่างเก็บน้ำมีความจุเกินกว่า 80% และในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้เร่งสร้างความเข้าใจ พร้อมแผนเผชิญเหตุ
6.อ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากกว่า 80% ให้เร่งระบายน้ำให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีความจำเป็นในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำได้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ถึงความคืบหน้าการจัดส่งบัญชีอ่างเก็บน้ำที่โอนภารกิจให้ท้องถิ่นดูแล แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
ที่มาแหล่งน้ำที่ได้รับการถ่ายโอน
:สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น