“หมอวินัย” ประกาศเดินหน้าลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน รักษามะเร็งมาตรฐานเดียวกัน
เลขาฯ สปสช.สมัย2 โชว์ยุทธศาสตร์คุ้มครองสุขภาพทุกคนบนแผ่นดินไทย-เอื้อสิทธิ์ผู้เสียหายทางการแพทย์-เดินหน้าลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนโดยรักษามะเร็งมาตรฐานเดียวกัน ตั้งเป้าปี 59 คว้ารางวัลสากล
วันที่ 22 พ.ค. 55 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. แถลงข่าวเรื่อง “ขับเคลื่อน 7 ยุทธศาสตร์มุ่งสู่ทศวรรษที่ 2 สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยกล่าวว่าจะขับเคลื่อน สปสช.ผ่าน 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.เสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย ให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คุ้มครองคนที่ไม่มีหลักประกัน ผู้ด้อยโอกาส และคุ้มครองผู้ที่มีหลักประกันภาครัฐอื่นๆ 2.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ 3.สนับสนุนพัฒนาบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพให้มีมาตรฐานทุกคนเข้าถึงได้และเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและผู้ให้บริการตามแนวทาง SMART UC โดยมีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอรักษานาน มีการจัดการโรคเรื้อรัง
4.ส่งเสริมพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการและภาคประชาชน เอื้อให้ผู้เสียหายเข้าถึงมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และส่งเสริมพลังจิตอาสา 5.บริหารทรัพยากรและเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนหลักการความคุ้มค่าการกระจายที่เหมาะสมเป็นธรรม ศึกษาความเป็นไปได้ในการระดมทรัพยากรจากแหล่งอื่นนอกเหนือจากงบประมาณ พัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร
6.ร่วมกับกองทุนสุขภาพอื่นๆพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการให้เท่าเทียมระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพ (กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า-กองทุนประกันสังคม-กองทุนสวัสดิการข้าราชการ) รวมทั้งร่วมพัฒนาและบูรณาการกลไกการเงินการคลัง หน่วยงานเบิกจ่ายกลางหรือ Clearing House ระบบบริหารจัดการและบริการสาธารณสุข และกลไกการสื่อสารกับประชาชน 7.เสริมสร้างพัฒนาธรรมาภิบาล ความเข้มแข็งและเสถียรภาพระบบประกันสุขภาพ ความโปร่งใสรับผิดชอบสังคมผ่านภารกิจตามกฎหมาย สนับสนุนการกระจายอำนาจระดับพื้นที่ การพัฒนาบุคลากร เตรียมพร้อมสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียน และพัฒนาคุณภาพองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยตั้งเป้าคว้ารางวัล Thailand Quality Award หรือ TQA ปี 2559 ให้เป็นแหล่งศึกษาด้านการสร้างหลักประกันสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับสากลต่อไป
เลขาธิการ สปสช.ยังกล่าวอีกว่าเตรียมเสนอให้รัฐบาลบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้เป็นมาตรฐานเดียว ในระยะที่ 2 ของโครงการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนกว่าล้านคนได้รับประโยชน์ ด้วยวิธีการ กำหนดราคาและวิธีการจ่ายเงินให้มีอัตราและรูปแบบเดียวกัน โดยให้โรงพยาบาลตั้งเบิกมายัง สปสช.จากนั้นสปสช.จะไปเรียกเก็บจาก 3 กองทุนในลักษณะเดียวกับโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว นอกจากนี้จะเดินหน้าบูรณาการสิทธิประโยชน์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (เอดส์) และผู้ป่วยโรคไตวาย คาดว่าหากสามารถหาข้อยุติของทั้ง 3 กองทุนได้ จะเริ่มในวันที่ 1 มิ.ย.
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่าปัจจุบันสิทธิการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยมะเร็งในแต่ละกองทุนมีความเหลื่อมล้ำกันมาก เช่น การเข้าถึงยา Rituxmib สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายถึง 50% ราคาเข็มละ 6.2 หมื่นบาท ผู้ป่วยต้องได้รับ 7-8 เข็ม ซึ่งมีเพียงผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการเท่านั้นที่เข้าถึงยาได้ ส่วนผู้ใช้สิทธิบัตรทองและประกันสังคมไม่มีสิทธิรับยา เพราะกองทุนประเมินว่ายามีราคาแพง .