สรรหา กสม.ให้เป็นที่ยอมรับ!‘วิทิต มันตาภรณ์’ ชี้ต้องมีที่มาหลากหลาย-อิสระจากฝ่ายบริหาร
‘วิทิต มันตาภรณ์’ ชี้สรรหา กสม. ให้เป็นที่ยอมรับ ต้องหลากหลาย เท่าเทียม ชาย-หญิง มีอิสระจากฝ่ายบริหาร ขณะที่นักสิทธิ์ฯ ระบุควรแต่งตั้งจากความสามารถ ประสบการณ์ ไม่ใช่ดูที่มาสังกัดองค์กร เป็นตัวแทนหน่วยงานใดพิเศษ
วันที่ 31 ก.ค. 2561 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และคณะทำงานไทยเพื่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน จัดเสวนาวิชาการเรื่อง การสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแบบไหนที่เป็นที่ยอมรับ ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ 2 อาคารดี ศูนย์การเรียนรู้ไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของกลไกและบุคลากรของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าในเวทีโลกประชาชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต้องการกลไกอิสระจากฝ่ายบริหาร เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิ เป็นที่พึ่งเข้าถึงง่าย แม้กรรมการสิทธิฯ ไม่ใช่ศาล แต่ต้องเป็นปากเป็นเสียงและมีน้ำหนักในฐานะองค์กรอิสระได้ ซึ่งในบริบททั่วไปของสถาบันและบุคลากรต้องส่งเสริมและคุ้มครอง
“ประเด็นเกี่ยวกับการคุ้มครอง บริบทในฐานะกรรมการสิทธิฯ หรือผู้ตรวจการ จะต้องคุ้มครองปกป้อง โดยเข้าถึงประชาชน รับคำร้อง เพื่อเรียกร้องและชี้แนะต่อรัฐ จากมูลเหตุที่เห็นว่ามีสิ่งใดละเมิดหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยไม่ลืมกระแสสากล”
นักวิชาการจุฬาฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ใช้วัดมาตรฐานกรรมการสิทธิฯ โดยยึดตามหลักปารีสว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชน ปี 1992 คือ พิสูจน์องค์กรให้ได้ว่าต้องมีอิสรภาพจากฝ่ายบริหาร รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นการคัดเลือกขั้นต้นเพื่อสรรหากรรมการสิทธิฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งประเทศไทยติดปัญหามาก จากเคยมีกรรมการสรรหากว้างมาก มีเอ็นจีโอและภาคประชาชนร่วมด้วย แต่หลังรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บริบทภาคประชาชนถูกตัดออก อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่พยายามคืนอำนาจให้ส่วนหนึ่งในการช่วยคัดเลือกในขั้นต้น
“ อิสรภาพจะมีนัยยะในการปฏิบัติการสรรหาคัดเลือก ต้องไม่ถูกบีบจากฝ่ายบริหารรัฐ และต้องมีงบประมาณอย่างอิสระพอสมควร ไม่ใช่ถูกกรอง บีบ หรือเล่นแง่ เพื่อนำไปสู่การบีบการกระทำของกรรมการสิทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศใดก็แล้วแต่”
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรรมการสิทธิฯ ต้องมาจากหลากหลายแหล่ง และมีความเท่าเทียมกัน ในสัดส่วนชายและหญิง รวมถึงผู้แทนฝ่ายอื่น เช่น ชนกลุ่มน้อย ชาวบ้าน หรือคนพิการ ไม่เพียงเท่านั้น การจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร จะวัดจากผลการทำงานด้วย ถึงแม้ไม่ใช่ศาล แต่ข้อเสนอแนะของกรรมการสิทธิฯ ไปที่ใด ต้องดูด้วยว่า มีอิทธิพลหรือไม่ จัดทำรายงานตรงเวลาหรือไม่ และต้องเรียกร้องแทนผู้รับผลกระทบได้ในศาล ซึ่งส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์จะไม่มีอำนาจฟ้องในศาล แต่สำหรับประเทศไทย ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เปิดช่องให้ฟ้องศาลได้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว จึงเห็นว่า น่าจะสร้างกลไกเชื่อมกับศาลให้มากขึ้น
ด้านน.ส.สุธาวัลย์ ชั้นประเสริฐ สมาคมนานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย กล่าวถึงปัจจัยบ่งบอกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการสิทธิฯ ในแต่ละประเทศ จะต้องมี 6 ประการ คือ 1.ภาระหน้าที่ชัดเจน และอำนาจเพียงพอในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จัดตั้ง 2.มีความเป็นเอกเทศ ความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล 3.มีความหลากหลาย 4.มีทรัพยากรเพียงพอ ทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน 5. มีงบประมาณเพียงพอ ให้สามารถทำงานได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ และ 6.มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ หากพูดถึงในเรื่องความหลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสรรหากรรมการสิทธิฯ น.ส.สุธาวัลย์ กล่าวว่า กรรมการสิทธิ์ฯ เป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม ดังนั้น หากมีบุคลากรมีความหลากหลายจะทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นตัวช่วยให้มีความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การทำให้เกิดความหลากหลายได้ กระบวนการคัดสรรต้องโปร่งใส มีการหารืออภิปรายกว้างขวาง ทั้งในการคัดสรรและแต่งตั้ง มีการโฆษณาเปิดรับการสมัครอย่างกวางขวาง เปิดโอกาสกับจำนวนผู้สมัครเต็มที่ เพื่อให้มีตัวเลือกมาก หลากหลายในด้านสาขาอาชีพ ส่วนการคัดเลือกและแต่งตั้งต้องจากความสามารถ ประสบการณ์ ไม่ใช่ดูว่ามาจากองค์กรหรือตัวแทนหน่วยงานใดเป็นพิเศษ” น.ส.สุธาวัลย์ กล่าว .