“ชัยอนันต์”แนะปลดโซ่ประชานิยม สยามประชาภิวัฒน์เสนอตั้งสภาปชช.ถ่วงดุลรัฐ
“ชัยอนันต์ สมุทวณิช”วิพากษ์ประชานิยมรัฐรวมศูนย์กระจายอำนาจไม่เป็นจริง เวทีสยามประชาภิวัฒน์จี้คืนอำนาจให้ท้องถิ่น ตั้งสภาประชาชนถ่วงดุล เลือกกลุ่มอาชีพเป็น ส.ส.เข้าสภา เก็บภาษีกระจายรายได้
วันที่ 22 พ.ค.55 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์จำนวนหลาย 100 คนร่วมจัดเวทีสัมมนาจากรัฐรวมศูนย์อำนาจสู่การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นและชุมชนขึ้นโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช กล่าวถึงรัฐชาติสู่รัฐการตลาดอำนาจรวมศูนย์ในการปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัญหาประชาธิปไตยไม่ได้มีอยู่แต่ในเฉพาะนักการเมือง แต่อยู่ที่โครงสร้างและการตลาด นั่นคือนโยบายประชานิยมที่เป็นลักษณะพิเศษของรัฐบาลที่มุ่งซื้อคะแนนเสียง นักการเมืองเป็นผู้ซื้อส่วนประชาชนเป็นผู้ขาย รัฐทำทุกวิถีทางที่จะรักษาตลาดเอาไว้ ออกกฎหมายสร้างเสถียรภาพทางการเงิน ถ้ามองไปที่ชุมชนพบว่าเติบโต ขยายตัวมากขึ้น มีกลุ่มที่หลากหลาย มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่รัฐก็ยังเป็นรัฐรวมศูนย์ แม้มีพรบ.กระจายอำนาจแต่ก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ประชาชนจึงถูกประกบตรงกลางด้วยอำนาจรวมศูนย์รัฐไม่เป็นกลางกับอำนาจตลาดที่รุกรานชีวิตประชาชนประเภทซื้อก่อนจ่ายทีหลังหรือระบบเงินผ่อน ดังนั้นชีวิตประชาชนจะมีทางออกคือปฏิเสธอำนาจรัฐ อำนาจตลาดโดยนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้พึ่งพาตนเอง
“ปัญหาประชาธิปไตยเป็นปัญหาของอำนาจรัฐอำนาจตลาดที่ไม่เสรีอย่างแท้จริง คำว่าเสรีจะเกิดขึ้นไม่ได้ตราบใดที่มีการยึดกุมอำนาจรัฐ และส่งเสริมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความได้เปรียบ ความเป็นเสรีเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนออกจากอำนาจทั้งสอง” ดร.ชัยอนันต์ กล่าว
รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าปัญหาระบบการเมืองไทยที่ผ่านมา การปฏิรูประบบราชการผ่านมากว่าสิบปีมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะมีการปฏิรูประเบียบบริหารราชการตอบสนองการตลาด แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ซึ่งระบบเทคโนโลยีไปไกลเกินกว่าจะมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง เนื่องจากความเจริญไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแค่เมืองใหญ่ ทั่วโลกมีความสัมพันธ์เป็นแนวราบ ดังนั้นการรวมศูนย์อำนาจจึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้าน รัฐควรเร่งกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ชุมชนมากขึ้น
“สิ่งที่เร่งทำคือรัฐต้องลดอำนาจส่วนกลางลง ให้มีการบริหาร งบประมาณ บริหารงานบุคคลในท้องถิ่นเป็นไปภายใต้ความต้องการของชุมชนให้ชุมชนจัดการตนเองจึงจะเป็นทางออกในการคืนความอยู่ดีมีสุขลดความเหลื่อมล้ำแท้จริง” อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าว
ด้าน รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่มีเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแต่เพียงเป็นไปเพื่อชั้นนำเท่านั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งพลเรือนกับทหารหรือทหารกับทหารกระทั่งมาสู่ความขัดแย้งกลุ่มทุน การผูกขาดอำนาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ระบบเผด็จการอำนาจนายทุนรุนแรงมากกว่าเผเด็จการอื่นๆ โครงสร้างสังคมไทย ประชาชนไม่มีพื้นที่แสดงออก เนื่องจากไทยใช้ระบบตัวแทนผ่านนักการเมือง ที่เป็นแต่ตัวแทนผลประโยชน์ของนักการเมือง ประชาชนต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางการเมือง การกระจายอำนาจไม่ใช่กระจายไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต้องกระจายไปยังภาคประชาสังคม พัฒนาขึ้นเป็นสภาประชาประชาชนจังหวัดให้มีตัวแทนมานั่งในวุฒิสภา ให้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยไม่ต้องรอรัฐบาลส่วนกลาง
“อำนาจมาจากชุมชน เป็นตัวแทนผลประโยชน์เข้ามาถ่วงดุลรัฐบาลส่วนกลาง ถ้ามีองค์กรในพื้นที่เข้ามาถ่วงดุลจะแก้ปัญหาการทุจริตได้ ควรจัดให้มีการเลือกตั้งตัวแทนจากฐานรากเช่น กลุ่มภาคเกษตร กลุ่มแรงงาน กลุ่มรับจ้าง กลุ่มวิชาชีพวิชาการ กลุ่มอาชีพอิสระเข้าไปเป็นส.ส. ทำงานให้ประชาชนซึ่งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ส่วนระดับท้องถิ่นต้องสร้างสภาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลกลาง” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าว
ขณะที่ นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นด้วยเงินอุดหนุน 35% ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นไปตามที่บัญญัติ ท้องถิ่นไม่เคยได้ครบตามจำนวน ตัวแทนพรรคการเมืองทุนผูกขาด สมาชิกส่วนใหญ่มาจากกลุ่มทุนแต่ตัวแทนภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม ปัญหาประเทศไทยทุนใหญ่เกินไปทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจที่ยากจะมีใครเข้าไปแทรกแซงได้
“ปัญหาคือทำอย่างไรทุนเล็กลงหรือแยกทุนออกจากอำนาจ เหตุนี้จึงต้องเพิ่มตัวแทนประชาชนเข้าไปเพื่อถ่วงดุล โดยให้มีการเลือกตั้งตัวแทนฐานอาชีพดังกล่าว ซึ่งจะพัฒนาไปสู่พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การกระจายอำนาจที่เห็นเป็นรูปธรรมที่ประชาชนได้รับประโยชน์เต็มที่ยกตัวอย่างคือที่ญี่ปุ่น ที่นั่นผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง ข้าราชการในจังหวัดถูกปรับมาเป็นลูกจ้างขององค์กรท้องถิ่น ตำรวจเป็นของจังหวัดดูแลโดยผู้ว่า ส่วนหน่วยงานดับเพลิงเป็นของเทศบาลเหล่านี้เป็นต้น การกระจายอำนาจจริงจังหรือไม่ให้ดูจากงบประมาณ ประเทศญี่ปุ่นงบประมาณกว่า 60 % เป็นของท้องถิ่นและเขาจัดเก็บเอง แต่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ถ้าดูจากตัวอย่างหลายประเทศทำให้รู้ว่าไทยต้องทำให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการครอบงำแต่ประชาชนสามารถจัดการได้
ที่มาภาพ : http://www.oknation.net/blog/vbac/2010/07/07/entry-1