เฉลิมพระชนมพรรษา ตักบาตรดอกไม้ และ ความก้าวหน้าของบ้านเมือง
การตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษานั้นเป็นประเพณีแต่โบราณของไทย ในกรุงเทพฯ ทำกันเป็นงานใหญ่ก็มีที่วัดราชบพิธฯ และวัดบวรฯ ดอกไม้ที่พระท่านรับไปนั้น ก็เพื่อจะนำไปถวายเป็นพุทธบูชา จัดว่าเป็นงานมหามงคลยิ่ง
บ่ายวันนี้ผมและคณะมีโอกาสดีได้ไปร่วมงานเฉลิมพระชนมพรรษาด้วยการไปใส่บาตรถวายดอกไม้ให้พระภิกษุสงฆ์หกสิบกว่ารูปที่วัดราชบพิธฯ
การตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษานั้นเป็นประเพณีแต่โบราณของไทย ในกรุงเทพฯ ทำกันเป็นงานใหญ่ก็มีที่วัดราชบพิธฯ และวัดบวรฯ ดอกไม้ที่พระท่านรับไปนั้น ก็เพื่อจะนำไปถวายเป็นพุทธบูชา จัดว่าเป็นงานมหามงคลยิ่ง แต่ปีนี้ ต้องถือว่าเป็นงานอภิมหามงคล ด้วยวันเข้าพรรษาไปตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาพอดี คือวันที่ 28 กรกฎาคม ช่างเป็นเหตุการณ์พิเศษน่าอัศจรรย์ ตักบาตรดอกไม้ในวันนี้ จึงสำคัญเป็นทบทวีคูณ ศาสนิกชนทุกระดับทุกเพศวัย จำนวนเรือนพัน ที่พากันไปใส่บาตรดอกไม้ จึงถือเอากุศลผลบุญที่ได้ เป็นการถวายพระพร จากดวงใจอันบริสุทธิ์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภกด้วย ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ผมตระหนักว่าคนไทยเรายังมีศรัทธากับพระศาสนามาก หลายสิบปีมานี้ยิ่งมีมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะมีเศรษฐฐานะสูงต่ำแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางหรือล่างหรือสูง ไม่ว่าจะมีกำเนิดจากภาคไหนส่วนไหนของประเทศ ไม่ว่าเพศวัยจะต่างกันปานใด น่าคิดครับ บ้านเมืองเราจะเจริญก้าวหน้าขึ้นเพียงใด คนไทยเราก็ยังยึดมั่นในศาสนาและพระมหากษัตริย์ ยังรักษาจารีตและขนบประเพณีแต่โบราณจำนวนมาก ในระยะหลังๆนี้ เราทำด้วยความภูมิใจและมั่นใจด้วยว่าจารีตประเพณีเหล่านี้แม้ต่างชาติก็ยังอดอิจฉาไม่ได้ เป็นอัตลักษณ์ที่เขาไม่มี แต่เป็นอะไรที่เขานับถือชื่นชม และน่ายินดีครับที่ปีนี้มีชาวต่างชาติไม่น้อยมาร่วมตักบาตรดอกไม้ หรือมาขอดูประเพณีเราในวันนี้ งานวันนี้ก็มี ททท มาร่วมเป็นเจ้าภาพ ด้วย และ ยังมาช่วยแนะนำรายละเอียดของการตักบาตรให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้าใจ
สังเกตไหมว่าคนไทยจำนวนมหาศาลนั้น ดูเผิน ๆ ออกจะอยากเป็นคนสมัยใหม่ เห่อแฟชัน ชอบ “ของนอก” นิยม “ตะวันตก” โดยไม่อายไม่กระดาก แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ผมกลับว่าพวกเขาดูจะเป็น “อนุรักษ์นิยม” เสียมากกว่า เพียงแต่ว่าอนุรักษ์นิยมสำหรับคนไทยไม่ได้หมายถึงว่าจะไม่รับ ”ของนอก” ไม่รับความเปลี่ยนแปลง ไม่รับความก้าวหน้า จากโลกภายนอก ตรงข้ามครับ คนไทยตระหนักดีว่า ตนมี “ของเก่า” “สถาบันเก่า” “ความคิดเก่า” และ “จารีตเก่า” ที่งดงาม และสิ่งเหล่านี้ล้วนใช้การได้ดี หรือค่อนข้างดี มาได้โดยตลอด ต่างจากชาติอื่นๆ ส่วนใหญ่ในโลกซีก”ตะวันออก” หากเราจำต้องเปลี่ยน และที่จริงก็เปลี่ยนมาไม่น้อย ก็ไม่ใช่เพราะเรา ”เห่อใหม่” ไม่ใช่เพราะ “เกลียดเก่า”
ภูมิปัญญาของคนไทยเรานั้น คือ เลือกที่จะไม่ทุบทำลาย “ของเก่า” “ สถาบันเก่า” “ความคิดเก่า” และ ”จารีตเก่า” เราปรับเปลี่ยนก็เพื่อจะเก็บ“ของเดิม” ไว้ด้วย ให้เหลือมากที่สุด จะรับ “ของใหม่” ก็ด้วยการต่อยอดไปบน “ของเดิม” เท่านั้น จะไม่วาง “ของใหม่” ลงบนความว่างเปล่า เราไม่สุดขั้ว คือมุ่งจะ รักษาของเก่าไว้ทั้งหมด หรือมุ่งจะรับของใหม่เอาทั้งหมด เราเดิน “สายกลาง”
ผมไปจีนมาหลายครั้ง ก็พบว่าจีนในปัจจุบันนี้ก็คิดและทำ”คล้ายเรา” จีนสรุปได้แล้วว่าการเดินสุดขั้วนั้นไม่ได้ผล เวลานี้จีนเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก เศรษฐกิจ วิทยาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนนั้นไม่แพ้ใครเลย ก้าวไปช้างหน้าเร็วมาก เปลี่ยนแปลงเร็วมาก “ปฏิรูป” ทุกวันก็ว่าได้ แต่ยิ่งจีนก้าวหน้าทางวัตถุแค่ใด น่าสนใจ ก็ยิ่งฟื้นฟูและประยุกต์เอาความคิดเก่า ปรัชญาจีนแต่ดั้งเดิม และ ประเพณี หลักการของศาสนา “ของเดิม” ของตนมาใช้มาประพฤติ
คนจีนในวันนี้ แม้จะวิ่งนำหน้าโลกในการเข้าสู่อินเทอร์เนท เป็นผู้นำของโลกในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ แต่ น่าพิศวง วัดและศาสนาในจีนนั้นกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แม้ประเทศจะนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เกือบครึ่งของประชากรจีนกลับมาเชื่อและมาปฏิบัติตัวตามธรรมะและประเพณีแบบพุทธ หรือ เต๋า หรือ ขงจื๊อ หรือผสมผสานทั้งสามสำนัก อย่างขมักเขม้น ในแง่นี้ จีนก้าวหน้านำโลกทางวัตถุไปพร้อมๆกับที่เลือกกลับไปเป็น “อนุรักษ์นิยม” ไม่น้อย ครับ
ที่มา : Fb page: เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas
หมายเหตุ : ภาพประกอบ http://www.thaipublicmedia.com/news/sports-tourism/Lent-flowers-2560