อุรุดา โควินท์ กับ Chick-Lit “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” เเล้วชีวิตจะศิโรราบต่อเรา
"...หนังสือ ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด ตอบโจทย์ เพราะสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง สมมติจะเติมเป็น ค่อย ๆ สวย แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ กิน แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ แกร่ง แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ ปัก แต่ไม่หยุด จะเห็นได้ว่าใช้ได้กับทุกอย่างในความรู้สึกเรา แล้วจะรู้สึกไม่กดดัน คำว่า ค่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันคำว่า ไม่หยุด...”
แม็กซี่เดรส กับ ตุ้มหูใหญ่ ๆ คุณคิดว่า ผู้หญิงที่ชื่อ ‘ชมพู’ อุรุดา โควินท์ ตัดสินใจเลือกอะไร?
แน่นอนเธอเลือกแม็กซี่เดรส เพราะสวมใส่สบาย ไปได้ทุกแห่ง ที่สำคัญสวมใส่แล้วทำให้เกิดความมั่นใจ ส่วนตุ้มหูนั้น เธอกล่าวว่า ยังไม่รู้จะใส่ไปไหน
เป็นการเริ่มต้นสนทนาแรกระหว่างสำนักข่าวอิศรากับอุรุดา ในวันสบาย ๆ กลางสัปดาห์ ณ หอภาพยนตร์ ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อเชยชมผลงานเขียนเล่มใหม่ของเธอ “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด”
ลุควันนั้นเธอมาในมาดของหญิงสาวที่มีความมาดมั่น ชุดเดรสสีดำลายโพกาดอต ผมยาวสวยและตุ้มหูสีแดงแสนโดดเด่น สายตาคมเข้มที่มักเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านมุมมองของเธอเอง
‘อุรุดา’ เป็นสาวชาวเหนือ อยู่ในวงการนักเขียนมานาน ผลงานที่ผ่านมาอย่าง ผีเสื้อที่บินข้ามบิน ขอบของแสง ปีกแห่งเงา เมรีในร้านหนังสือ และหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ซึ่งติด 1 ใน 13 ผลงานรอบแรกรางวัลซีไรต์ ปี 61 แน่นอนว่าทุกเรื่องล้วนต่างสร้างความประทับใจให้แก่ผู้อ่านไม่รู้ลืม
รวมถึง “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” ซึ่งชื่อหนังสือเล่มนี้ได้ไอเดียมาจากการวิ่ง? เพราะหากใครติดตามชีวิตของเธอจะทราบว่า ผู้หญิงคนนี้ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ
“ใช่แล้ว...” อุรุดาบอกกับเรา ก่อนจะอธิบายถึงที่มาว่า แรกเริ่มเดิมทีมีโอกาสเขียนคอลัมน์ประจำ Writer ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว เมื่อครบ 12 ตอน คุณต้อ บินหลา สันกาลาคีรี ชวนให้เขียนต่อ ช่วงนั้นกำลังบ้าออกกำลังกายมาก โดยเฉพาะการวิ่ง จึงบอกไปว่า จะเขียนเรื่องออกกำลังกาย คุณต้อก็เห็นด้วยและแนะนำว่า อย่าให้เนื้อหาเกี่ยวกับกับการออกกำลังกายอย่างเดียว เพราะจะน่าเบื่อ
จากนั้นจึงเริ่มต้นคิดคอลัมน์ ซึ่งยอมรับว่าคิดไม่ออก จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปวิ่ง อยู่ ๆ เกิดไม่มีแรง เหนื่อย ในใจตอนนั้นพยายามพูดกับตนเองว่า “ไม่เป็นไร ค่อย ๆ ไป” คืออย่าหยุดก็แล้วกัน ค่อย ๆ ไป จึงเป็นที่มา...”ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” นั่นเอง
“คำว่า ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด แสดงให้เห็นชัดขึ้นว่า จริง ๆ แล้ว เนื้อหาไม่ได้เกี่ยวเฉพาะการวิ่ง แต่เหมือนตัวเราทั้งหมดเลย ชีวิตเราทั้งหมดที่เราเป็นดำเนินชีวิตมา เราเป็นคนแบบนี้ เป็นคนไม่แข่งกับใคร ไม่บอกใครว่าอยากจะไปถึงตรงไหน ไม่บอกว่าความทะเยอทะยานของเราคืออะไร แต่ถ้าคนมองเห็นเราเมื่อราวยี่สิบปีที่แล้วจนถึงวันนี้ จะเห็นว่าเราไม่เคยหยุด แต่จะค่อย ๆ มา ค่อย ๆ ทำ ในทุกเรื่องที่เลือกแล้ว”
อุรุดาเน้นย้ำว่า นิสัยส่วนตัวเป็นคนทำอะไรในขอบเขตที่มีความสุข ในงานก็เหมือนกัน เมื่อทำแล้วต้องสนุกและมีความสุข จะไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุ ต่อให้ค่าตอบแทนมากมายขนาดไหน แต่หากไม่สนุกก็จะไม่ทำ แน่นอนว่า หนังสือเล่มนี้ทำแล้วมีความสุข ใช้เวลาทั้งสิ้น 18 เดือน เพราะเป็นคอลัมน์เดือนละหนึ่งชิ้น จึงเป็นงานเขียนที่ไม่เร่งรีบ
อย่ากระนั้นเลย ยอมรับว่า คิดเยอะมาก เพราะลักษณะเหมือนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว
เมื่อถามว่าอะไรคือจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ เราได้คำตอบว่า “ทุกคนที่อ่านจะได้รับแรงบันดาลใจที่อยากจะลุกขึ้นมาแล้วก็ทำอะไรอย่างต่อเนื่อง แล้วก็เชื่อมั่นว่าคุณสามารถทำได้ ถ้าเกิดว่าคุณลงมือแล้วก็มีวินัย”
เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือเป็นเช่นนี้จริง ๆ ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ และไม่มีอะไรง่าย แต่สิ่งที่ต้องการจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราทำ อุรุดาบอกว่า “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” แตกต่างจากทุกเล่มที่เคยเขียนมา เพราะมีเนื้อหาในแง่บวก ถึงแม้จะมีจิกกัดบ้าง มีส่วนผสมของ Chick Literature (วรรณกรรมสาว ๆ ) ที่แบบมีความน่าหมั่นไส้
โดนรวมแล้ว จึงเชื่อมั่นเหลือเกินว่า จะให้แต่ความรู้สึกบวกที่ไม่เหมือนกับเล่มอื่น ๆ ซึ่งมักจะมีเพียงความเศร้าและความเหงา
“จุดมุ่งหมายชัดเจนมากว่าเขียนขึ้นเพื่อให้พลังกับคน คนธรรมดา ๆ ที่มีต้นทุนชีวิตน้อยเหมือนเรา แล้วถึงแม้ว่าคุณจะมีชีวิตต้นทุนเยอะแล้ว เราก็เชื่อและมั่นใจว่าทุก ๆ คนมีข้อจำกัด บางทีเราเห็นบางคนร่ำรวยมาก แม้จะมีรอยยิ้ม แต่ไม่มีทางรู้เลยว่าข้างในของคนนั้นเป็นอย่างไร หรือจริง ๆ แล้ว มีหนี้สินหรือไม่”
สำหรับใครที่มี “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” ไว้ในครอบครองแล้ว จะสัมผัสได้ว่า ปกได้รับการออกแบบอย่างประณีต อุรุดาเล่าว่า ความจริงไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ยกเว้นขอให้ ‘เพชรลดา’ เป็นผู้ออกแบบให้เท่านั้น เพราะชื่นชอบผลงานน้องเป็นทุนเดิม ประกอบกับมีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกับเรา
“อยากให้หนังสือเล่มนี้ดูเด็กกว่าตัวเอง เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเด็กกว่าพี่ ๆ ที่อ่านนวนิยาย”
อุรุดา เล่าถึงตอนที่ไม่ควรพลาดอ่าน คือ “เก็บเป้าหมายไว้ในใจ” ซึ่งตอนนี้อยากเขียนถึงนพ.ฮาร์เวล ตัวละครใน 'Laughable Loves' (รักชวนหัว) ของมิลาน คุนเดอรา ซึ่งเป็นเรื่องสั้นที่ชื่นชอบที่สุด เพราะรู้สึกว่า ท่านเขียนด้วยความชาญฉลาด ประกอบกับเราอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิต ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จึงคิดตัวละครนี้ขึ้นมาด้วยอารมณ์ฝันแบบผู้หญิงที่หลับตาฝัน
อีกตอนหนึ่ง คือ “อย่าหยุดยั้ง” เขียนถึงเพลงอย่าหยุดยั้ง เพราะเป็นเพลงรุ่น รุ่นพี่ชอบร้องเพลงนี้ด้วยกันสมัยชั้นม.6 ช่วงนั้นดังมาก เรียกว่าทุกครั้งที่กินเหล้ากันเมามาย ต้องพากันแหกปากร้องเพลงนี้
ทั้งนี้ หากให้เลือกหนึ่งประโยคที่ใช้อธิบาย “เรื่อย ๆ แต่ไม่หยุด” เธอกล่าวว่า หนังสือ “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” ตอบโจทย์ เพราะสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง สมมติจะเติมเป็น ค่อย ๆ สวย แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ กิน แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ แกร่ง แต่ไม่หยุด ค่อย ๆ ปัก แต่ไม่หยุด จะเห็นได้ว่าใช้ได้กับทุกอย่างในความรู้สึกเรา แล้วจะรู้สึกไม่กดดัน คำว่า “ค่อย ๆ” แต่ในขณะเดียวกันคำว่า “ไม่หยุด”
ชี้ให้เห็นว่า คนเราต้องมีวินัย ซึ่งสุดท้าย “วินัย” จะช่วยเพิ่มความสามารถ อันนี้ยืนยันได้จากทุกอย่างในชีวิตที่ได้ทำ เธอเน้นย้ำว่า ตัวเองไม่ได้เป็นคนเก่งในทุกเรื่อง ไม่มีความสามารถพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่ถูกค้นพบรู้แต่ว่าตัวเองชอบอะไร ก็ทำเรื่อย ๆ แล้วก็พบว่าเราทำสิ่งนั้นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นความสามารถจึงเพิ่มขึ้นจากการที่เราทำซ้ำ ๆ จนกลายเป็นทักษะ “ทุกอย่างใช้ทักษะ ทำกับข้าวก็ใช้ทักษะ จากที่ไม่มีทักษะเลย ทักษะก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เราก็จะทำเก่งขึ้นเอง” หากยังไม่เก่ง ต้องไม่หยุด เพื่อจะเพิ่มทักษะต่อไป
“คนเราจะมีเพดานของตัวเอง ทุกครั้งที่เราทำ ต้องทำให้ชนเพดาน ให้หัวชนแล้วเพดานจะค่อย ๆ สูงขึ้น”
ถามต่อถึงแผนในอนาคตจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Chick-Lit อีกหรือไม่ อุรุดา บอกว่า “จริง ๆ เราตั้งใจไว้ เพราะรู้สึกว่าคนไทยทำไมเราไม่เขียน Chick-Lit จริง ๆ เราไม่มีนะ คือนิยายในฟากผู้หญิงของไทยมักเป็นนิยายโรแมนติก แต่เราอยากเขียน Chick-Lit แบบ “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” ถ้าอย่างของฝรั่งจะมี The Devil Wears Prada, Bridget Jones's Diary แต่ว่าของเราอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าบริบทยังไม่ใช่ คำว่า Chick-Lit คือเรื่องราวแบบโลกภายในของผู้หญิงที่เราไม่สนใจอะไร คือเรามัวแต่สนใจโลกของเรา โลกใบเล็ก ๆ อะไรอย่างนี้ อยากเขียน แต่ว่าจะใช้ความเป็นวรรณกรรมเข้าไปช่วยเยอะ ๆ”
ทั้งนี้ แม้จะมีผลงานมากมาย แต่ในความรู้สึกของผู้หญิงคนนี้กลับบอกว่า “ยังไม่เก่ง”
“ดิฉันไม่ใช่คนที่เขียนได้ทุกอย่าง เราเชื่อว่าทุกวันนี้ที่ได้เจอกัน ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขียนมาเรื่อย ๆ ไม่หยุดเหมือนชื่อหนังสือเล่มนี้...เก่งหรือไม่เก่ง...ไม่รู้ แต่ขอเขียนไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด เพื่อหวังว่าจะมีใครสักคนเห็น หรือว่ามีนักอ่านเจอ อีกข้อหนึ่งคือการได้รับโอกาส แรงผลักดัน และการสนับสนุนจากนิตยสารและสำนักพิมพ์ต่าง ๆ”
อุรุดา กล่าวว่า ความจริงแล้ว มีนักเขียนเก่งกว่าเราเยอะมาก แต่บางครั้งโอกาสอาจจะยังไปไม่ถึง จึงเชื่อว่าโอกาสที่เราได้มา เพราะการลงมือทำ เมื่อมีคนอื่นเห็นว่าทำบ่อย ๆ จนวันหนึ่งได้รับการเหลียวมอง “เฮ้ย ไอ้คนนี้ทำได้” เขาก็ลองให้ทำ แล้วพอได้ทำ เราต้องทำให้ดีที่สุด
“เราต้องคว้าโอกาสนั้นทันทีและต้องไม่ทำให้โอกาสนั้นมาทำลายเรา...ซึ่งดิฉันเป็นคนแบบนั้น ไม่เก่งมาก แต่มีกำลังเท่าไหร่ใส่ให้หมด”
ทั้งหมดนี้คือตัวตนของ ‘อุรุดา โควินท์’ ผ่านงานเขียน “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” ซึ่งใครไม่อ่าน ถือว่าพลาด!!!