‘ไพลิน รุ้งรัตน์’ : 11 ยุค นวนิยายไทยร่วมสมัยหลัง พ.ศ. 2475
หมายเหตุ:บทปาฐกถา เรื่อง สัมพันธภาพระหว่างประวัติศาสตร์และวรรณกรรมในประเทศไทย:กรณีศึกษาจากนวนิยายไทยร่วมสมัยหลัง พ.ศ.2475 โดยชมัยภร เเสงกระจ่าง หรือไพลิน รุ้งรัตน์ ศิลปินเเห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ในงานปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ประจำปี 2561
ชมัยภร แสงกระจ่าง หรือไพลิน รุ้งรัตน์ อดีตนักวิจารณ์งานเขียนฝีปากกล้าคนหนึ่งของไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 และยังเคยเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีผลงานการประพันธ์มากมาย อาทิ กระท่อมแสงเงิน จดหมายถึงดวงดาว บ้านไร่เรือนตะวัน พระอาทิตย์คืนแรม
ในงานปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ประจำปี 2561 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ‘ชมัยภร แสงกระจ่าง’ เป็นผู้แสดงปาฐกถา เรื่อง สัมพันธภาพระหว่างประวัติศาสตร์และวรรณกรรมในประเทศไทย:กรณีศึกษาจากนวนิยายไทยร่วมสมัยหลัง พ.ศ.2475
ชมัยภร เริ่มต้นเปิดประเด็นชวนย้อนความหลังไปในวันที่เธอมีโอกาสได้พบกับ ‘สุภา ศิริมานนท์’ นักคิด นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักวารสารศาสตร์ที่สำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย
เธอจดจำได้ว่า “ตอนพบอาจารย์สุภาครั้งแรก ดิฉันเป็นคนงี่เง่ามาก จำได้เป็นงานอะไรสักอย่าง ดิฉันนั่งข้างอาจารย์สุภา ซึ่งไม่รู้จัก แต่ท่านกลับรู้จักดิฉัน คือ ไพลิน รุ้งรัตน์ เพราะสมัยนั้น ยังเป็นหน่อใหม่ในวงการ ขยันวิจารณ์วรรณกรรมทุกสัปดาห์ เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ย่อมจดจำได้”
ทั้งนี้ หากจะให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของนวนิยายไทยแต่ละยุคสมัย ซึ่งเนื้อหาสาระของนวนิยายจัดได้ว่ามีพลังอำนาจบางอย่างที่เล่าเรื่อง สะท้อนสังคมในแต่ละยุคสมัย สามารถแบ่งได้เป็น 11 ยุค ดังต่อไปนี้
ยุคที่หนึ่ง ยุครุ่งอรุณของนวนิยายไทย (พ.ศ.2443-2474)
ชมัยภร กล่าวว่า ช่วงนี้เริ่มตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ตลอดรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการออกหนังสือพิมพ์และวารสารที่เป็นสนามสำคัญในการสะท้อนทัศนะ การเผยแพร่ความรู้ และสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากงานแปล
นวนิยายไทยเรื่องแรกที่เป็นนวนิยายแปล คือ ความพยาบาท แปลจาก Vendetta ของ Marie Corelli นักเขียนสตรีชาวอังกฤษ แปลโดย พระยาสุรินทราชา ใช้นามปากกา ‘แม่วัน’ จากนั้นจึงมีนวนิยายไทยที่เป็นทั้งงานแปลและงานดัดแปลงออกมาอีกหลายเล่ม
นวนิยายไทยเรื่องแรกที่เขียนโดยคนไทย ถือว่าได้รับอิทธิพลมาจากนวนิยายแปลเรื่องแรก เพราะใช้ชื่อล้อกัน ชื่อว่า ความไม่พยาบาท เขียนโดย หลวงวิลาศปริวัตร ใช้นามปากกา ‘นายสำราญ’ และนักเขียนคนเดียวกัน ในนามปากกา ‘นกโนรี’ ก็ได้แปล สาวสองพันปี หรือ She ของ Sir Ryder Haggard ด้วย นอกจากนี้ยังมีงานแปลอื่น ๆ อีกมากมายโดยนักแปลคนอื่น ๆ
เนื่องจากในช่วงเวลานี้ ประเทศไทยยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมีอำนาจสูงสุด ดังนั้น ตามปกติแล้ว ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประชาชนไทยจะไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาหรือความคิดเห็นอย่างใด แต่เนื่องจากในยุคนี้ ประเทศมหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคม พระมหากษัตริยเองจึงต้องกำหนดนโยบายเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวไปเท่าทันอารยประเทส โดยการส่งพระราชโอรส ตลอดจนข้าราชบริพารหรือนักเรียนทุนที่มีหัวสมองฉลาดเฉลียว ไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อนำกลับมาพัฒนาบ้านเมืองไทย
พระราชโอรสบางพระองค์ที่ไปได้รับการศึกษาจากตะวันตก เช่น รัชกาลที่ 6 ก็ทรงเป็นผู้นำในการนำเอาวิทยาการต่าง ๆจากตะวันตกมาเผยแพร่ในประเทศไทย ดังนั้น สภาพสังคมไทยในช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศการตื่นตัวเรื่องการแสดงความคิดเห้น การแสวงหาความรู้ แต่มักแสดงผ่านงานประเภทร้อยกรอง หรือบทความ เพราะเป็นงานสั้น ๆ
ส่วนงานนวนิยายนั้น ชมัยภร ระบุต้องถือเป็นงานที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยต่อรูปแบบวิธีการเขียน จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการแปล และดัดแปลง เพื่อศึกษารูปแบบ กว่าจะเริ่มสานต่อจากนวนิยายเรื่องแรกได้จนมีลักษณะเป็นนวนิยายไทยแท้จริงก็เป็นปลายสมัย คือตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2472 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นระยะที่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาเริ่มตื่นตัว สะท้อนความเป็นตัวเองของชนชั้นกลางออกมาอย่างชัดเจนในงานเขียนประเภทนวนิยาย
กล่าวคือ นักเขียนนวนิยายเริ่มสร้างตัวละครที่เป็นไทยแท้ ไม่สมมติเป็นตัวละครฝรั่ง ไม่แปล ไม่แปลง และใช้เหตุการณ์ที่เป็นจริงในสังคมไทยมาเขียน มีการบรรยายฉากและบทสนทนาที่สมจริง อาทิ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เขียน ละครแห่งชีวิต สะท้อนภาพชีวิตคนไทยชนชั้นกลางคนหนึ่งที่มีชีวิตยากลำบากในครอบครัวที่พ่อเป็นเจ้าและมีภรรยาหลายคน
ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินทร์ ใช้นามปากกา ‘ดอกไม้สด’ เขียน ศัตรูของเจ้าหล่อน สะท้อนให้เห็นการอยากเลือกคู่ของตนเองของผู้หญิงแทนการคลุมถุงชน และมีความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมที่ชัดเจน คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนสามัญชน ผู้ใช้นามปากกา ‘ศรีบูรพา’ ได้ตั้งกลุ่มนักเขียนชื่อ กลุ่มสุภาพบุรุษ ออกหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือ
การที่ศรีบูรพาเขียนนวนิยาย เรื่อง ‘ปราบพยศ’ (เนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกคู่) ลูกผู้ชาย (เกี่ยวกับชีวิตและงาน) เป็นต้น ซึ่งเป็นนวนิยายยุคแรก ๆ ถือว่าเป็นมิติใหม่ของวงการวรรณกรรมไทย ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตคนทั่วไป มิใช่เรื่องของพระมหากษัตริย์
การตื่นตัวของชนชั้นกลางโดยการไปปรากฎตัวเป็นตัวละครในนวนิยายของไทยในยุคแรก ๆ นี้ถือเป็นปรากฎการณ์ของสังคม ซึ่งพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด
ยุคที่สอง ยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475-2483)
ชมัยภร กล่าวว่า เสถียร จันทิมาธร นักวิจารณ์คนสำคัญของไทย ได้รวบรวมข้อมูลไว้ในรวมบทความ ชื่อ คนเขียนหนังสือว่า “เมื่อปี พ.ศ.2472 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชากรไทยมีทั้งสิ้น 11.5 ล้านคน ร้อยละ 80 เป็นชาวนา และมีเพียง 1.15 แสนคน หรือร้อยละ 1 ที่มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลตามแบบตะวันตกเมื่อเจ็บป่วย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 99 มีชีวิตอยู่ตามบุญตามกรรม ต้นปีการศึกษา 2475 เด็กมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนประถมศึกษาน้อยกว่าครึ่งของจำนวนเด็กตามเกณฑ์บังคับและระดับความรู้หนังสือก็มีไม่มากกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนพลเมืองทั้งหมด”
ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจภายในประเทศจะซวดเซ งบประมาณรายจ่ายเกินรายรับต่อเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 6 จนต้องปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีกระแสคื่นเศรษฐกิจตกต่ำโหมมาจากภายนอก ทำให้รายได้แผ่นดินเกิดการขาดดุลอย่างมโหฬาร
ท้ายสุดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 โดยคณะราษฎร โดยเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของไทย มิได้ราบรื่นไร้อุปสรรค สิ่งที่รัฐบาลใหม่ในสมัยนั้นต้องเผชิญ คือ ความแตกแยกในหมู่ประชาชน โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์ และฝ่ายนิยมประชาธิปไตย หลังจากนั้น อีกหนึ่งปีต่อจากนั้น คือ ปี 2476 ได้เกิดมีกบฎบวรเดชขึ้น นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งฝ่ายรัฐบาลปราบปรามลงได้ มีการเสียเลือดเนื้อบ้างเล็กน้อย
งานเขียนในช่วงนี้ยังอยู่กับกลุ่มปัญญาชนผู้ได้รับการศึกษา นอกจากการสะท้อนชีวิตชนชั้นกลางโดยทั่วไปแล้ว ปรากฎมีนวนิยายสะท้อนภาพการเมืองเกิดขึ้น นักเขียนที่สะท้อนปัญหานี้ไว้ในรูปแบบของนวนิยายเชิงอุดมคติ คือ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ สะท้อนไว้ในนวนิยายเรื่อง เมืองนิมิตร ซึ่งผู้เขียนเขียนขึ้นในระหว่างถูกจองจำในคุก อันเนื่องจากการอยู่ฝ่ายกบฎ แต่นวนิยายดังกล่าวไม่ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงนั้น หากตีพิมพ์หลังจากนั้นอีกหลายปี
อาจกล่าวได้ว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนไปจากเดิม ชนชั้นกลางกลายเป็นผู้มีอำนาจขึ้นควบคุมเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วรรณกรรมส่วนใหญ่จึงสะท้อนเรื่องราวของชนชั้นกลาง และความคิดแบบเสรีนิยม อันเนื่องมาจากหลักการของประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนเป็นสำคัญ
ตัวละครมีการเปลี่ยนแปลงเด่นชัดขึ้น กล่าวคือ ตัวละครเอกของนวนิยายมักเป็นสามัญชน และเรื่องราวมักเป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงของชีวิตชนชั้นสูงหรือพวกศักดินา ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งสะท้อนค่านิยมในสังคมไทย หรือแสดงความอาลัยค่านิยมเก่า รวมทั้งเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองด้วย
นักเขียนที่โดดเด่นในช่วงนี้ ได้แก่ ดอกไม้สด ซึ่งเขียนสะท้อนภาพชีวิตของชนชั้นศักดินาที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รวมทั้งชี้ให้เห็นบทบาทของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด เช่น นวนิยายเรื่อง ผู้ดี สะท้อนให้เห็นชีวิตของผู้หญิงเก่งคนหนึ่งต้องกำหนดชีวิตใหม่ภายใต้สังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชนด้วย
หรือเรื่อง หนึ่งในร้อย ของผู้เขียนคนเดียวกัน สะท้อนปัยหาของผู้หญิงที่ได้รับการศึกษา ซึ่งอาจเป็นตัวของตัวเองสูงเกินไปจนกระทั่งเกิดความขัดแย้งกับค่านิยมเก่าได้ หรือ ก.สุรางคนางค์ นักเขียนหญิงอีกคนหนึ่ง ก็กล้าหาญถึงขนาดหยิบเอาตัวละครที่เป็นคนใช้มาเป็นตัวละครเอกฝ่ายหยิง และมีโอกาสได้เปลี่ยนสถานะเป็นนายผู้หญิงของบ้านอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในวรรณกรรมไทย ในนวนิยายชื่อ ความคิดคำนึง และจุดหมายปลายทาง
ยุคที่สาม ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง หรือยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484-2488)
ชมัยภร กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2484 ประเทสไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้นจำยอมลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสงครามหลายด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง และกระดาษมีราคาสูง ทำให้หนังสือพิมพ์หลายเล่มต้องปิดตัวลงไปโดยปริยาย อีกทั้งญี่ปุ่นยังกดดันให้ผู้นำไทยเปลี่ยนแปลงอักษรไทยให้มีน้อยตัวและอ่านง่ายขึ้น
โดยวางหลักเกณฑ์ในการเขียนหนังสือไทยใหม่ โดยให้งดใช้สระและพยัญชนะที่มีเสียงซ้ำกัน รวมทั้งวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อ คำรับ คำปฏิเสธเสียใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดการบังคับให้ใช้ภาษาญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดความสับสนและปั่นป่วนยิ่งในวงการการศึกษา วงการประพันธ์และการหนังสือพิมพ์ของไทย
ภาษาไทยมีแต่คำที่ไม่มีความหมาย เกิดอาการที่เรียกว่า “อักขรวิบัติ” และทำให้นักเขียนไทยสมัยนั้น ประท้วงโดยการหยุดเขียนนหนังสือไปหลายราย อาทิ ยาขอบ นักเขียนนวนิยายเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ อันเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทยที่ขึ้นชื่อยิ่ง ถึงกับหยุดเขียนหนังสือไปโดยปริยาย หรือมาลัย ชูพินิจ นักเขียนนวนิยายนักหนังสือพิมพ์หยุดเขียนนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา ภายหลังจากเขียนไปได้แค่ 8 ตอนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยแบบใหม่นี้ใช้อยู่แค่ 2 ปี คือ ระหว่าง ปีพ.ศ.2485-2487 เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็มีการประกาศยกเลิกไป นักเขียนที่หยุดเขียนหนังสือไปก็หันกลับมาเขียนหนังสือใหม่อีกครั้ง
ยุคที่สี่ ยุคกบฎสันติภาพ (พ.ศ.2489-2500)
ชมัยภร เล่าต่อว่า สงครามโลกครั้งที่สอง ยุติลงเมื่อ พ.ศ.2488 ประเทศไทยเกือบตกอยู่ในสภาพผู้แพ้สงคราม เพราะด้วยเหตุที่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่โชคดีที่มีคณะเสรีไทยที่ทำงานใต้ดินในระหว่างสงครามช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกาและอังกฤษทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประเทศไทยจึงไม่ถูกปรับเป็นผู้แพ้สงคราม แต่กระนั้นประเทศไทยก็ต้องเผชิญปัญหาหนักภายนอกประเทศ คือต้องเจรจายืนยันเรื่องการมีการยอมรับรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยในระหว่างสงครามให้ได้และภายในประเทศก็มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง ระหว่างพ.ศ.2488-2490 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน
ภาวะสงครามยังทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ และเกิดการคอร์รัปชันในวงราชการอย่างกว้างขวาง ศีลธรรม จริยธรรมเสื่อมโทรม และในปี 2491 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดกบฎต่อต้านรัฐบาลอีกหลายครั้งหลายหน แต่รัฐบาลก็ปราบปรามได้ราบคาบทุกครั้ง รัฐบาลจึงเข้มงวดกับเสรีภาพในการพูด การเขียน และการพิมพ์ รวมทั้งมีการประกาศใช้กฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์อีกครั้งหนึ่ง
เสรีภาพหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาทฤษฎีใหม่ ๆ จากโลกตะวันตก ทำให้เกิดการแบ่งแยกกลุ่มความคิดในการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มศิลปะเพื่อศิลปะ” และ “ศิลปะเพื่อชีวิต”
กลุ่มศิลปะเพื่อศิลปะ มีความคิดว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะใดก็ตาม มีจุดหมายเพื่อความงามในตัวของมันเองเท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่สอดคล้องกับการสร้างสรรค์งานวรรณคดีดั้งเดิม ซึ่งมุ่งเน้นที่การเสนอความงามทางวรรณศิลป์เป็นสำคัญ
ในขณะที่กลุ่มศิลปินเพื่อชีวิต มุ่งเน้นว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะใดก็ตาม ต้องเป็นไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แนวคิดศิลปะเพื่อชีวิต สอดคล้องกับกระบวนการเรียกร้องสันติภาพทั่วโลก
ชมัยภร กล่าวต่อว่า ในปี พ.ศ.2495 นักเขียนนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ “กุหลาบ สายประดิษฐ์” หรือ “ศรีบูรพา” ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เรียกร้องสันติภาพ คัดค้านสงครามเกาหลี ได้เดินทางไปเป็นประธานแจกสิ่งของแก่ประชาชนที่ประสบภัยแล้งในภาคอีสาน แต่กลับถูกรัฐบาลความคิดเผด็จการของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จับกุมคุมขังพร้อมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน ครู อาจารย์ และนิสิตนักศึกษา รวม 102 คน ในข้อหาเป็น “ขบถภายในและขบถภายนอกราชอาณาจักร” เรียกกันในประเทศไทยว่า “กบฎสันติภาพ”
กรณีนี้ผู้ถูกจับกุมขังถูกตัดสินจำคุกกว่า 60 คน และถูกตัดสินจำคุกยาวนานกว่า 13 ปี ครั้งถึง พ.ศ. 2500 อันเป็นปีที่พุทธศาสนายืนยาวครบ 25 ศตวรรษ หรือกึ่งพุทธกาล คือดำรงอยู่ยาวนานมาถึง 2,500 ปี นายกรัฐมนตรีมีนโยบายนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง กุหลาบ สายประดิษฐ์ และนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชน ที่ถูกจับกุมคุมขัง จึงได้รับการปล่อยตัว ภายหลังจากถูกจับกุมคุมขังไปประมาณ 4 ปีเศษ
บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ทำให้ผลงานเขียนที่สร้างสรรค์ขึ้นมา โดยนักเขียนหรือปัญญาชนเป็นไปในแนวทางการต่อต้านรัฐบาล หรือไปในทางที่ตรงกันข้ามกับแนวนโยบายของรัฐบาล มีนักเขียนหลายคนที่สร้างสรรค์งานอย่างมีคุณภาพในยุคนี้
นวนิยายที่โดดเด่นที่สุด ได้แก่ จนกว่าเราจะพบกันอีก และแลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดการดำเนินชีวิตเพื่อคนอื่นผู้ยากไร้ ตามแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตชัดเจน และที่โดดเด่นแหลมคมที่สุด สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์สังคมประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเฉพาะคือ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ซึ่งผู้เขียนเขียนในระหว่างถูกคุมขังอยู่ในคุก เมื่อปี พ.ศ.2498 และแม้จะเขียนไม่จบ มีเพียงภาคปฐมวัย กับมัชฌิมวัย แต่ขาดภาคปัจฉิมวัยก็ตาม แต่แนวคิดที่มุ่งเสนอปัญหาสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาเลยนั้น ชัดเจนแจ่มแจ้ง และกลายเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตชั้นเยี่ยมเล่มหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย
นอกจากศรีบูรพาแล้ว ยังมีนักเขียนนวนิยายคนอื่น ๆ อีก ที่พยายามถ่ายสะท้อนความคิดใหม่ ๆในสังคมไทย เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนนวนิยายอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นข้าราชการ ผู้เคยเขียนถึงความเชื่อมั่นในงานเขียนเอาไว้ว่า “การประพันธ์เป็นการบำเรอความสำราญแก่นักอ่านก็จริง แต่ในลักษณะที่แท้ ปากกาของนักเขียนก็มีสภาพเหมือนกับเครื่องมือของแพทย์ ถ้าผู้เขียนได้สร้างบทประพันธ์ของเขาให้มีอำนาจสร้างสรรค์จิตใจของผู้อ่าน เช่น แพทย์กระทำทางกายของคนไข้”
ชมัยภร บรรยายต่อว่า เสนีย์ เสาวพงศ์ ได้เขียนนวนิยายเรื่องสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความเป็นไปในสังคมไทยไว้คือ ความรักของวัลยา กับปีศาจ
ความรักของวัลยา ชี้ให้เห็นทัศนะความคิดใหม่ ๆ ของปัญญาชนหญิงรุ่นใหม่ของไทย ส่วน ปีศาจ สะท้อนภาพชีวิตคนสองชนชั้น คือ พระเอก เป็นตัวแทนของชนชั้นชาวนาและนางเอกเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงที่เป็นลูกผู้ดีมีตระกูลในสังคมไทย โดยชี้ให้เห็นพัฒนาการทางความคิดของนางเอก ซึ่งต้องปฏิเสธค่านิยมแบบเก่า โดยต้องเลือกระหว่างความกตัญญูส่วนตัวกับความเป็นธรรมต่อส่วนรวม โดยเธอเลือกประการหลัง นอกจากนี้ยังสะท้อนภาพประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านกับญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ด้วย
ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ นักเขียนนวนิยายคนสำคัญอีกคนหนึ่งของไทยที่เปิดโปงการกดขี่ของชนชั้นปกครองไว้อย่างสุดสะเทือนใจในนวนิยายชื่อ แผ่นดินของใคร โดยให้สองสามีภรรยา ผู้รักความสงบและปรารถนาจะมีบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ในชนบท ต้องเผชิญกับการคุกคามและกดขี่ของชนชั้นปกครอง ที่แฝงมาในรูปของข้าราชการที่เป็นเสมือนเจ้านายหลายระดับ จนท้ายสุดผู้รักสงบก็ต้องกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของตำรวจ
อย่างไรก็ดี ในยุคเดียวกัน นักเขียนที่สร้างสรรค์งานแบบอนุรักษ์นิยมก็ยังคงมีอยู่ และมีผลงานโดดเด่นเป็นที่จับตามอง คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักเขียนนวนิยายที่มีชื่อเสียง และนักการเมืองไทยผู้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีกหลายปีต่อมา ได้เขียนนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน สะท้อนภาพชีวิตเรื่องราวของคนในวัง ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 -รัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วย
นักวิจารณ์ กล่าวว่า การเขียนนวนิยายเรื่อง สี่แผ่นดิน ถือเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อสถาบันกษัตริย์
ยุคที่ห้า ยุคสังคมอับแสง (พ.ศ.2501-2506)
ชมัยภร กล่าวว่า ปี พ.ศ.2500 ได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม หนีออกนอกประเทศ และในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศโดยใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมาย ถือเป็นการใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ ในช่วงนี้รัฐบาลกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง มีการก่อตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งขายการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เป็นเหตุให้นายทุนกว้านซื้อที่นา และชาวนาไม่มีที่ทำกิน อพยพเข้าสู่เมืองหลวง และข้อสำคัญ ประเทศไทยร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแนบแน่น ทำให้เกิดอิทธิพลของอเมริกาครอบงำการเมือง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตยิ่งกว่ายุคใด ๆ
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ ประเทศไทยร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามเวียดนาม โดยยินยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพในประเทศไทยถึง 7 แห่ง ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาชนบทอย่างเต็มที่ มีการตัดถนนสายมิตรภาพสู่อีสาน และมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาคถึง 4 แห่ง
พิจารณาโดยผิวเผิน ดูเหมือนว่า เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด แต่ในด้านนามธรรมอันเป็นเรื่องของความคิดและจิตวิญญาณแล้ว มีผู้ขนานนามยุคนี้ว่า เป็นยุคมืดทางปัญญา เพราะเป็นยุคที่รัฐบาลเผด็จการไม่ฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ว่าจะผ่านสื่อใดก็ตาม มีการปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงและเฉียบขาด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ห้ามออกหนังสือพิมพ์ใหม่ มีการสั่งจับกุมคุมขังชาวนา กรรมกร นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชน เป็นจำนวนมาก
นักเขียนในกลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิตถูกจับกุมคุมขังแทบทั้งหมด อาทิ อิศรา อมันตกุล นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ จิตร ภูมิศักดิ์ กวีนักคิด ถูกจับกุมคุมขังพร้อมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนนับร้อยราย บางรายต้องลี้ภัยไปต่างประเทส เช่น ศรีบูรพา ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนจนกระทั่งเสียชีวิต อุชเชนี กวีหญิงวางมือจากการเขียนกวีนิพนธ์ ก่อนหน้านั้นกวีนักคิดอย่างอัศนี พลจันทร ก็ได้เลือกวิธีหลบอำนาจเผด็จการเข้าป่าไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
กล่าวได้ว่า งานเขียนทุกประเภทและงานหนังสือพิมพ์ถูกจำกัดบทบาท และถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ผลงานที่เขียนเกี่ยวกับการเมือง การปกครองประเทศกลายเป็นของต้องห้าม ผู้เขียนจึงต้องใช้สัญลักษณ์และเชิงวรรณศิลป์บดบังภาพความจริง และในช่วงนี้ผลงานที่เขียนเกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือการเมืองนับว่ามีน้อยมาก
ชมัยภร กล่าวอีกว่า ขณะที่งานเขียนในแนววรรณกรรมเพื่อชีวิตหยุดชะงักไป งานเขียนประเภทศิลปะเพื่อศิลปะก็กลับรุ่งโรจน์ขึ้น เสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์คนสำคัญของไทย ได้กล่าวไว้ในคำนำ หนังสือรวมเล่มบทวิจารณ์ชื่อ “คนเขียนหนังสือ” ว่า
“เมื่อสภาพทางการเมืองอยู่ลักษณะของยุคมืด สภาพทางวัฒนธรรมก็ตกอยู่ในความมืดอับทางปัญญาเช่นเดียวกัน งานเขียนที่ปรากฎออกมาทางด้านหลักจึงเป็นวรรณกรรมประเภทเน้นความบันเทิง สะท้อนกิจกรรมส่วนตัวของชนชั้นสูง ชนชั้นกลางผู้เสพสุขและได้เปรียบสังคม ถ้าเป็นชีวิตของชาวบ้านผู้ยากไร้ก็มักถูกบิดเบือนใส่ร้ายอย่างไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง เช่น ชาวนาถูกสะท้อนออกมาในแง่โง่เซ่อ กรรมกรก็มักจะเป็นอันธพาลเลือดร้อน ชอบความรุนแรง หรือที่เป็นคนใช้ในบ้านผู้มีอันจะกิน ทั้ง ๆ ที่ต้องทำงานอย่างยากลำบากแสนสาหัส แต่จุดเด่นที่นักเขียนมักแสดงออกกลับเป็นนิสัยสอดรู้สอดเห็นและนินทาเจ้านาย ฯลฯ”
สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ นักคิด คนสำคัญคนหนึ่งของไทย สรุปลักษณะวรรณกรรมที่ปรากฎในยุคนี้ไว้ในคำนำรวมเรื่องสั้นชุด แล้งเข็ญ ว่า “หนึ่ง-รกไปด้วยเรื่องผีไร้สาระ สอง-นองไปด้วยเรื่องสัปดน สาม-คาวไปด้วยเรื่องโลกีย์วิสัยที่ต่างพากันแข่งขันว่าผู้ใดจะวิจิตรพิสดารกว่ากัน สี่-จัดจ้านไปด้วยเรื่องรักบนฟองสบู่ ปลูกสร้างความฝันบนวิมานในอากาศ กระทบกระเทียบเปรียบเปรยในทางอิจฉาริษยา ห้า-มากไปด้วยเรื่องบู๊ล้างผลาญและการเมืองประเภทปลุกผี ซึ่งไร้รากฐานความคิดและความถูกต้องทางการเมือง และหก-มีบ้างเล็กน้อยที่นักเขียนเริ่มเป็นขบถกับตัวเองและสังคมที่เขามีชีวิตอยู่”
ด้วยเหตุที่บ้านเมืองเป็นดังที่ได้กล่าวมา นักเขียนนวนิยายผู้สร้างงานวรรณกรรมในช่วงนี้จึงเพียงสะท้อนภาพทั่วๆ ไปรวมทั้งกรณีที่ทหารสหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยด้วยนักเขียนที่โดดเด่นมักเป็นคนที่มีทัศนะอนุรักษ์นิยมและเป็นผู้มีกลวิธีทางวรรณศิลป์น่าสนใจ เช่น ศุภร บุนนาค เรื่อง รสลิน รถเมล์สายพระพุทธบาท -พนมเทียน เรื่อง เล็บครุฑ ละอองดาว เป็นต้น
วรรณคดีประเภทสะท้อนภาพการเมืองหรือวรรณกรรมที่แสดงแนวคิดเพื่อชีวิตถูกปิดตาย
ยุคที่หก ยุคแสวงหา (พ.ศ.2507-2515)
ชมัยภร บรรยายว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปลายปี พ.ศ.2506 เป็นการสิ้นสุดของอำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ บรรยากาศมืดมนทางการเมืองคลี่คลายลง รัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร มีการผ่อนปรนโดยการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง อนุญาตให้ออกหนังสือพิมพ์ใหม่ได้ และให้เสรีภาพในการเขียนวิจารณ์งานบริหารงานของรัฐบาลมากขึ้น ประชาชนซึ่งถูกกดดันมาจากสภาพบ้านเมืองในสมัยประชาธิปไตยอับแสงอยู่ในภาวะลูกโป่งพองลมจึงใกล้แตกเต็มทีแล้ว
นักคิด นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และปัญญาชนส่วนหนึ่ง จึงมีผลงานทั้งที่เป็นงานเขียน งานกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะของการแสวงหาคำตอบให้กับสังคมที่กำลังเคลื่อนไปภายใต้การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีใหม่ที่สืบทอดการยึดอำนาจการปกครองแบบเผด็จการ
อย่างไรก็ดี ในขณะที่นักเขียนส่วนใหญ่ของประเทศกำลัง “สนุก” กับงานเขียนแบบบให้ความบันเทิงใจ นักเขียนหลายคนก็เริ่มฉุกใจสงสัยในประเด็นความอิสระ เสรี และความเป็นไท สิ่งที่นักเขียนเหล่านี้เลือกเขียนถึงยังไม่ใช่เรื่องการเมืองการปกครองก็จริง แต่ก็เริ่มแสดงออกถึงความคิดที่ดิ้นรน สับสน และแสวงหาคำตอบในภาวะความเป็นไปในสังคมรอบตัว โดยทั้งหมดตั้งต้นจาก “ปัญญาชน” และ “มหาวิทยาลัย” มีการตั้งกลุ่มเสวนากาแฟสำหรับนักคิด ซึ่งบางกลุ่มภายหลังพัฒนามาเป็นคณะละคร เช่น กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว
การแสดงความคิดเห็นในยุคนี้มุ่งไปที่การต่อต้านสงครามเวียดนามและวิพากษ์วิจารณ์บ้านเมือง รวมทั้งปัญหาคอมมิวนิสต์ที่ประชาชนถูกปลุกปั่นเกลียดชังและหวาดกลัว ในขณะเดียวกันในแง่กลวิธีการเขียนก็มุ่งไปสู่การสร้างกลวิธีใหม่ ๆ ที่แตกต่าง แต่มักปรากฎในงานประเภทเรื่องสั้นหรือบทกวี ซึ่งผู้สร้างสรรค์งานเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ร่วมเสวนาหรือแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์
ส่วนในด้านการสร้างงานเขียนประเภทนวนิยาย ผลจากการที่นวนิยายที่มีแนวคิดก้าวหน้าทางการเมือง หรือที่มีแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่ถูกปิดกั้น ทำให้นวนิยายสะท้อนชีวิตทั่วไปและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยในยุคนั้นมีพัฒนาการที่เด่นชัด พิจารณาจากนวนิยายที่ได้รับรางวัล ส.ป.อ. (SEATO) ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมระดับภูมิภาคอาเซียน อาทิ กฤษณา อโศกสิน ได้จากนวนิยายเรื่อง เรือมนุษย์ และ ตะวันตกดิน ซึ่งทั้งสองเรื่องสะท้อนปัญหามนุษย์ในสังคมที่ผู้คนไหลไปตามกระแสสังคมที่เน้นวัตถุนิยมเป็นหลัก
โบตั๋น ได้จากนวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ซึ่งสะท้อนปัญหาลูกจีนที่อพยพมาลงหลักปักฐานในเมืองไทยและต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สุวรรณี สุคนธา ได้จากเรื่อง เขาชื่อกานต์ ปัญหาของหมอผู้มีอุดมคติ ซึ่งออกทำงานชนบท แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคปัญหาและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
ในขณะเดียวกันก็มีนวนิยายของวสิษฐ เดชกุญชร สะท้อนปัญหาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยเล่าผ่านมุมมองของข้าราชการและชาวบ้าน เช่น ดงเย็น จันทร์หอม ลว.สุดท้าย เป็นต้น
ยุคที่เจ็ด ยุคประชาธิปไตยดอกไม้บาน (พ.ศ.2516-2518)
ชมัยภร กล่าวว่า เมื่อความกดดันในสังคมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ลูกโป่งที่อัดลมไว้ก็ถึงจุดระเบิด มีการลุกขึ้นเรียกร้องทวงสิทธิ์ของนิสิตนักศึกษาปัญญาชน โดยเริ่มจากการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ เรียกร้องเพื่อคนส่วนใหญ่ได้ใช้สิทธิเสียงของตนในการปกครองประเทศ มิใช่ปล่อยให้อำนาจตกอยู่กับคนกลุ่มเดียว ยิ่งมีการปราบปรามด้วยความหวงอำนาจ ความรุนแรงและการนองเลือดถึงมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากก็เกิดขึ้น กลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ของประวัติศาสตร์ชาติไทย
ด้วยเหตุที่เป็นยุคที่เกิดเหตุการน่าตกตื่นใจไม่คาดฝัน แต่ก็ลงจบด้วยปีติยินดีในระยะเวลาไม่ยาวนานมาก แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ต้องเฝ้าดูผลต่อเนื่องต่อไป ผลงานที่สะท้อนภาพเหตุการณ์ยุคนี้จึงมักเป็นบทกวีหรือเรื่องสั้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของผู้รับ รวมทั้งเหมาะสำหรับการเคลื่อนไหว ชุมนุม ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังเหตุการณ์นองเลือด ดูราวกับว่าประตูบานที่ต้องห้ามถูกเปิดออกและนักเขียนกับกวีผู้อยู่หลังบานประตูทั้งหลายก็ออกมาร่ายรำกันเป็นตัวอักษรโดยไม่ต้องระมัดระวังอีกต่อไป
บรรยากาศของประชาธิปไตยในช่วงนี้ นอกจากเป็นการประกาศเกียรติ ยกย่องวีรกรรมประชาชนผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยแล้ว ยังมีการตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้นไปอีกว่า “ประชาชน” นั้นสำคัญกว่า ผู้ปกครองและประชาชนต้องรู้จักค่าความเป็นคนของตนเอง มีการนำเอาความคิดศิลปะเพื่อชีวิตและศิลปะเพื่อประชาชนกลับมาฟื้นฟูและเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง มีการตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนและกวีผู้รักความเป็นธรรมในยุคกบฎสันติภาพ นวนิยายของศรีบูรพา เช่น จนกว่าเราจะพบกันอีก แลไปข้างหน้า สงครามชีวิต ของศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เช่น แผ่นดินนี้ของใคร ของรพีพร เช่น พิราบแดง สำหรับรพีพร ได้เขียนนวนิยายเพื่อชีวิต เรื่อง แผ่นดินเดียวกัน และพ่อข้าเพิ่งจะยิ้ม ในนามปากกา สันติ ชูธรรม ขึ้นมาในช่วงนี้ด้วย
สำหรับผลงานที่เขียนขึ้นโดยคนในยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นบทกวี ซึ่งมีขนาดสั้น ๆ สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิม และมีการพูดถึงอิสรภาพ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เกิดบทกวีวรรคทองของวิสา คัญทัพ “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เป็นที่โด่งดังไปทั่ว มีการนำบทกวียุคก่อน 2500 กลับมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ผลงานของนายผี นายสาง หรืออัศนี พลจันทร และจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้รับการรื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่ง เกิดกวีใหม่ ๆ ที่เดินตามรอยจิตร ภูมิศักดิ์ คือ เข้มข้นทั้งความคิดและวรรณศิลป์ เช่น คมทวน คันธนู หรือกวีที่มีจุดยืนมั่นคงแน่นอน เช่น รวี โดมพระจันทร์ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เป็นต้น
ชมัยภร กล่าวด้วยว่า งานเขียนและบทกวีที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ รวมทั้งของเก่าที่นำมาฟื้นฟูใหม่กลายเป็นรากฐานสำคัญของงานวรรณกรรมประเภทหนึ่งในแวดวงวรรณกรรม นั่นคือ วรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งเน้นที่การสะท้อนภาพความเป็นไปของผู้ยากไร้ของคนเสียเปรียบในแผ่นดิน และเน้นการเปิดโปงชนชั้นศักดินาและชนชั้นปกครอง ในส่วนของนวนิยาย นักเขียนใหม่ที่เน้นแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตยังมีเวลาไม่พอสำหรับการสร้างนวนิยาย มีเพียง วัฒน์ วรรลยางกูล เขียนนวนิยายเรื่อง ตำบลช่อมะกอก เน้นสะท้อนภาพชีวิตชาวบ้านผู้ยากไร้
อย่างไรก็ตาม ความหอมหวานของประชาธิปไตยขจรขจายอยู่ได้ไม่นาน แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม การใช้ประชาธิปไตยที่ได้มาอย่างลำพองใจกลายเป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้งในสังคม บรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไป ความขัดแย้งของประชาชนเขม็งปมขึ้นเรื่อย ๆ เกิดมีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาขึ้นในสังคม กลายเป็นประชาชนหันมาห้ำหั่นกันเอง แม้กระทั่งคนที่เคยร่วมสู้ด้วยกันมาแต่ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ยุคที่แปด ยุคมืดแห่งปัญญา (พ.ศ.2519-2523)
ชมัยภร กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากเหตุการณ์หนึ่งนำไปสู่อีกเหตุการณ์หนึ่ง จนท้ายที่สุดก็เกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมมหาโหด ณ ใจกลางประเทส นั่นก็คือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการล้อมฆ่านิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยบุคคลในเครื่องแบบตำรวจ ทหาร และลูกเสือชาวบ้าน ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อมากมาย และเป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาปัญญาชนหลบหนีเข้าป่าไป ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และแน่นอนที่สุด มีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจประชาธิปไตยกลับไปอีกครั้งหนึ่ง หลังจากประชาชนทวงคืนมาได้สามปี โดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นบาดแผลที่บาดลึกอยู่ในใจผู้ร่วมสมัยทุกคน และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น แรก ๆ นักเขียนนวนิยายไม่มีจังหวะและโอกาสถ่ายสะท้อนภาพ แต่กวีนิพนธ์ยังทำหน้าที่ได้ดี มีกวีนิพนธ์หลายบทที่ก่อให้เกิดความสะท้านสะเทือนใจล้นเหลือ อาทิ ไพบูลย์ วงษ์เทศ เขียน หมายเหตุร่วมสมัย ทั้งเล่มเพื่อบอกความในใจในเรื่องนี้และต่อเนื่อง คมทวน คันธนู มีผลงานมากมายหลายชิ้น รวมเล่มในหลายเล่ม เช่น แสงดาวแห่งศรัทธา สำนึกขบถ กำสรวลโกสินทร์ เป็นต้น และสำหรับกวีรัตนโกสินทร์อย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไม่มีคนธรรมดาคนใดไม่น้ำตาซึมเมื่อได้อ่าน วันฆ่านกพิราบของเขา
มือกระชับคาบบุหรี่ที่มุมปาก
ตาหรี่เล็งร่องบากปากปืนจ้อง
สมุนรายเรียงรอบคอยหมอบมอง
รั้วระเนเอนกกองก่ายร่างล้น
....ฯลฯ....
ทีละภาพทีละภาพกระชับชัด
ทีละนัดทีละนัดถนัดร่าง
ทีละวันทีละวันไปยิ่งไม่จาง
ยิ่งกระจะยิ่งกระจ่างอยู่กลางใจ
ช่วงนี้เป็นช่วงที่บ้านเมืองอึมครึม ผู้คนอยู่ด้วยความหวาดกลัว และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองฝักสองฝ่ายซ้ายและขวา ฝ่ายขวาเปิดเผยตัวเองชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายซ้ายต้องหลบซ่อนแอบตัว เพราะรัฐบาลและคนในเครื่องแบบตามพิฆาต จึงนับได้ว่าเป็นยุคมืดของประชาธิปไตย แต่เหตุการณ์อันอึมครึมดำรงอยู่ได้ประมาณ 1 ปี ก็มีการปฏิวัติรัฐประหารซ้ำโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติคนเดิม และมีการกดดันให้มีการตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งในที่สุด
นักเขียนและกวีที่ไม่ได้เข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเขียนอีกครั้งหลัง 1 ปีผ่านไป เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม นักเขียนนวนิยายที่สร้างสรรค์งานตามแนวทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตส่วนใหญ่หนีเข้าป่าไปร่วมปฏิบัติการกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คงเหลือแต่นักเขียนนวนิยายกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกลุ่มที่เชื่อมั่นในวรรณกรรมแนวศิลปะเพื่อศิลปะ ความรุนแรงของเหตุการณ์ทำให้นักเขียนนวนิยายกลุ่มนี้บางคนสะท้อนภาพเหตุการณ์ตามที่เป็นจริง แม้บางคนจะเขียนหลังจากนี้อีกหลายปีก็ตาม อาทิ กฤษณา อโศกสิน เขียน ลมที่เปลี่ยนทาง สะท้อนภาพให้เห็นถึงผลกระทบของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ต่อคนตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง สีฟ้า เขียน พิกุลแกมเกดแก้ว สะท้อนเหตุการณ์ประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และลงจบด้วยเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519 สุชีพ ณ สงขลา เขียน แสงเสรี ศิลา โคมฉาย เขียน ในกรงเล็บ สะท้อนภาพนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และถูกกระทำให้บอบช้ำทั้งกายและใจ
ยุคที่เก้า ยุคคืนสู่เหย้า-ปรับดุลชีวิต (พ.ศ.2524-2534)
ชมัยภร บอกว่า เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออกจากการเป็นายกรัฐมนตรี เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา เมื่อต้นปี 2523 และรัฐสภาได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ฝ่าฟันเพื่อประชาธิปไตยหนักทีเดียว เพราะต้องเจอกับการกบฎ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่หนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเข้ามอบตัวโดยไม่มีความผิด ทำให้บรรดานิสิตนักศึกษาและประชาชนซึ่งกำลังมีปัญหากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่แล้ว เนื่องจากขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงกลับเข้าเมือง หรือเรียกว่า “คืนสู่เหย้า” กันแทบทั้งหมด เป็นการจบบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยปริยาย
นักคิดและนักเขียน ตลอดจนกวีได้ประจักษ์ถึงสภาพที่แท้จริงของสังคมการเมืองไทยชัดเจนขึ้น ความหวังความฝันอันสวยสุดและเกินความเป็นจริง ซึ่งถูกผลักดันมาจากความเจ็บแค้น เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ล่มสลายไป สภาพตามที่เป็นจริงแท้ปรากฎขึ้น เกิดการเรียนรู้และการปรับตัวกันอย่างขนานใหญ่ ทั้งในแง่การเมืองและในแง่ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมเพื่อชีวิตปรับตัวใหม่กลายเป็นวรรณกรรมชีวิต การแสวงหาคำตอบเน้นหนักไปทางศาสนา และวรรณกรรมการเมืองอ่อนโยนขึ้น ยังเปิดโปงอยู่ ยังแข็งแกร่งอยู่ แต่ไม่ดุเดือดรุนแรงอีกต่อไป
ศัตรูที่งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตเคยพุ่งเป้าสู่ชนชั้นปกครองและชนชั้นศักดินาเปลี่ยนเป็น “ศัตรูที่ลื่นไหล” ตามคำของศ.เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ นักคิดนักวิจารณ์อาวุโสในแวดวงวรรณกรรมศึกษาและวรรณกรรมวิจารณ์ของวงการอุดมศึกษาของไทย เป้าหมายของการเขียนเปลี่ยนไปจากการเขียนเพื่อต่อสู้กับศัตรูของประชาชน อันหมายถึงชนชั้นสูง หรือผู้ปกครองที่กดขี่ เปลี่ยนเป็นการไม่รู้ว่าศัตรูที่แท้จริงของประชาชนอยู่ที่ไหน อาจจะเป็นประชาชนที่เปลี่ยนไปเอง
ผลงานนวนิยายที่โดดเด่นในช่วงนี้ ได้แก่ คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ รางวัลแห่งอาเซียน เมื่อปี 2525 สะท้อนภาพชีวิตคนยากจนที่ต้องหันมาต่อสู้กับปัญหารายรอบ ทั้งจากผู้ที่มีสภานภาพเหนือกว่า และจากประชาชนด้วยกันเอง มีการวิเคราะห์โดยนักวิจารณ์และโดยคำสารภาพของนักเขียนเองว่า สถานการณ์ที่ตัวละครในเรื่องอับจนต่อปัญหาและเป็นการเผชิญหน้าของหนึ่งตัวละครเอกต่อคนทั้งหมู่บ้านนั้น เป็นการเขียนที่ได้รับแรงกดดันมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ประชาชนถูกล้อมปราบ นับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนั้น ไม่มีวันจะลบหายไปจากความทรงจำของนักเขียนและเขาย่อมถ่ายสะท้อนออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรสู่คนในสังคมแน่นอน เพียงแต่ว่าเขาจะซุกซ่อนมันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
นักเขียนก้าวหน้าที่เคยเข้าป่าหันมาเขียนนวนิยายสะท้อนภาพชีวิตชาวบ้านอย่างมีชีวิตตามลีลาที่ตนเองถนัด วัฒน์ วรรลยางกูร เขียน ปลายนาฟ้าเขียว นิคม รายวา เขียน ตลิ่งสูงซุงหนัก (รางวัลซีไรต์ 2531) มาลา คำจันทร์ เขียน เจ้าจันทร์ผมหอมนิราศพระธาตุอินทร์แขวน (รางวัลซีไรต์ ปี 2534) เป็นต้น
การเมืองประเทศไทยดำเนินต่อมาตามครรลองประชาธิปไตยโดยมีพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่แล้ว ประชาธิปไตยไทยต้องร่ำไห้อีกครั้ง เมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นอีกครั้งโดยพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เรียกตัวเองว่า รสช. และมีการเชิญนานอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2534 ที่มีลักษณะสืบทอดอำนาจเผด็จการ จัดให้มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งจึงมีการเสนอชื่อให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางเสียงคัดค้าของประชาชน เพราะ พล.อ.สุจินดา เป็นหนึ่งในคณะ รสช.
ยุคที่ 10 กำสรวลพฤษภาทมิฬสู่กำสรวลการเงิน (พ.ศ.2535-2549)
ชมัยภร กล่าวต่อว่า ประชาชนร่วมชุมนุมที่ถนนราชดำเนินขับไล่นายกรัฐมนตรี และเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้นในวันที่ 17-20 พ.ค. 2535 มีการปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และมีข่าวลือว่าทหารเอาศพไปทิ้งที่โน่นที่นี่ ในที่สุดเหตุการณ์ก็สงบลงได้ เพราะพระบารมี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า ความขัดแย้งยุติลงโดยการลาออกของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และมีการเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แทนนักการเมือง ทำให้นายอานันท์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยภายใต้บรรยากาศเผด็จการของการเมืองไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า กวีและนักเขียนได้รับความสะเทือนใจจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและถ่ายทอดผ่านตัวอักษรพร้อม ๆ กับที่มีสื่อภาพที่มาจากกล้องถ่ายภาพและกล้องวิดีโอ แม้แหตุการณ์จะยุติไปอย่างรวดเร็ว และไม่น่าเชื่อ แต่บาดแผลที่บาดลึก และประชาชนก็เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างชัดเจน เป็นไปตามที่จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีที่มีชื่อเสียงของไทย กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นการ “เลี้ยงพืชกล้าประชาธิปไตย” ให้เติบโตไปได้อีกระดับหนึ่ง หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ดำเนินไปตามครรลองประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง
ในเส้นทางนวนิยายไม่ค่อยปรากฎการเขียนสะท้อนภาพหรือผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรุ่นหนุ่มไฟแรงของไทย เขียน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนกระทั่งลงจบที่เหตุการณ์พฤษฎาทมิฬ
ข้าพเจ้าได้เขียนนวนิยายเรื่อง จากดวงตาดอกไม้ สะท้อนภาพเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านสายตาของนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว และเธอได้เรียนรู้ในลำดับต่อมาว่า พ่อแม่ของเธอเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์การเมืองไทยก่อนหน้านี้คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เธอสามารถเรียนรู้เรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาปัญญาชนในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มีนักเขียนของไทยคนหนึ่ง ซึ่งเสียชีวิตไปเร็ว ๆ นี้ ชื่อ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ เป็นนักเขียนชาวใต้ได้เห็นปัญหาของสถานการณ์ภาคใต้ และมองทะลุไปถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับผู้กุมอำนาจรัฐ เข้าได้เขียนเรื่องสั้นขนาดยาวหรืออาจเรียกได้ว่า นวนิยายขนาดสั้นไว้ชุดหนึ่ง ชื่อ แผ่นดินอื่น สะท้อนปัญหาของความขัดแย้งทางภาคใต้ไว้อย่างชัดเจนจนแจ่มแจ้ง และเป็นการมองเห็นปัญหาจากคนในพื้นที่ก่อนที่รัฐบาลจะรู้สึกตัวด้วยซ้ำไป หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลซีไรต์ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งอาเซียน เมื่อปี 2539
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มของนักเขียนคุณภาพยอดนิยมได้สะท้อนปัญหาการเมืองไว้ในนวนิยายหลายเล่ม อาทิ สีฟ้า เขียน เปลือก และแก่นกระพี้ เป็นต้น ในด้านการเติบโตของทุนนิยม ในปี 2537 ณรงค์ จันทร์เรือง ได้เขียนนวนิยายเรื่อง หุ้นสุดท้าย สะท้อนชีวิตของชนชั้นกลางที่มีชีวิตผันแปรไปตามกระแสทุนนิยมโดยการเล่นหุ้น และมีชีวิตขึ้นลงตามหุ้นที่เล่น นับเป็นการสะท้อนปัยหาใหม่ของมนุษย์กับชีวิตในที่เงินเป็นใหญ่ไว้อย่างหนักแน่นเล่มหนึ่ง
ชมัยภร กล่าวต่อว่า การเมืองประเทศไทยดำเนินต่อไป และมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 เกิดขึ้นในที่สุด อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีที่มีชื่อเสียงของไทย ได้เขียนบทกวีสดุดีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ เพราะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีฉบับหนึ่ง การปกครองดำเนินต่อมาตามครรลองประชาธิปไตย มีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลไปหลายคณะ ในปี 2540 รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหลังการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2541 นายกรัฐมนตรีลาออก นายชวน หลีกภัย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และตามมาด้วย นายทักษิณ ชินวัตร
แรก ๆ ปัญหาเศรษฐกิจอาจไม่อยู่ในความสนใจของนักเขียนหรือกวีเท่าไหร่นัก เพราะไม่ส่งผลกระทบใจรุนแรงเช่นปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นรูปธรรมกว่า ปัญหาในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องของการเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในภาคใต้ ซึ่งหลายเหตุการณ์ก่อผลสะเทือนรุนแรง ทำให้นักเขียนต้องร่ายอักษรด้วยความโศกรันทด แต่ส่วนใหญ่ปรากฎในรูปแบบของบทกวีและเรื่องสั้น
นวนิยายที่ปรากฎในยุคนี้ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างเสรี นักเขียนเลือกสะท้อนปัญหาได้อย่างเป็นอิสระและหลากหลาย แต่กระนั้นก็มีข้อน่าสังเกตว่า ผลงานเขียนที่ขายดีมักจะเป็นผลงานที่เป็นไปตามกระแสการนำเสนอของสื่อ หรือเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเชื่อของคน ผลงานเขียนคุณภาพที่เน้นความงามในด้านวรรณศิลป์ ลดปริมาณลง ผลงานประเภทเกี่ยวข้องกับดาราหรือบุคคลในข่าวเพิ่มปริมาณขึ้น รวมทั้งมีการนำเข้าวรรณกรรมแปลประเภทขายดีระดับโลกเป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับยุคที่เงินเป็นใหญ่อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม เพราะแรงกดดันจากบทบาทแบบสร้างความสับสนและความขัดแย้งให้ประชาชนทุกรูปแบบของนายกรัฐมนตรี ในปี 2548 เริ่มมีการประท้วงขับทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากข้อกล่าวหาบริหารประเทศของรัฐบาลที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวงในหลายเรื่อง และได้ขยายตัวเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้นำ แต่หลังจากนั้นก็มีกลุ่มคนที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชน เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของประชาชนอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และต่อมามีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยจำยอมอีกครั้ง
ไม่ปรากฎนวนิยายโดดเด่นเล่มใดที่สะท้อนเรื่องบ้านเมืองในช่วงนี้ แต่มักปรากฎในเรื่องสั้นเป็นเรื่อง ๆ ไป
ยุคที่สิบเอ็ด ยุคแตกแยกและแตกต่าง (พ.ศ.2549-2557)
ชมัยภร กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นต้นมา มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในบ้านเมืองหลายครั้ง เริ่มด้วยมีกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารหลายกลุ่ม กลุ่มที่มีชื่อเสียง คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยกล่าวหาว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และต้องการขับไล่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อมาปลายปี 2550 ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป พรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกมองว่าเกี่ยวข้องทางการเมืองกับทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีความพยายามในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 กลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ทำให้ พธม. กลับมาชุมนุมอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2551 เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลพยายามตัดตอนไม่ให้คดีทุจริตของรัฐบาลทักษิณเข้าสู่การพิจารณาของศาล และตัดตอนคดีทุจริตเลือกตั้งไม่ให้พรรคการเมืองถูกยุบ ภายหลังได้มีการยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล มีการบุกยึดสถานที่สำคัญ และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่ม นปช. ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนนายทักษิณ หลายครั้ง นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่ง ในเดือนกันยายนจากการเป็นพิธีกรรายการ “ชิมไปบ่นไป” ทางโทรทัศน์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ในเดือนธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนจากการทุจริตการเลือกตั้ง และนายสมชาย ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค
ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ปรากฎว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามทักษิณ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้กลุ่ม นปช.กลับมาชุมนุมอีกครั้ง และเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังได้ออกมาชุมนุมเพื่อคัดค้านคำตัดสินของศาลที่สั่งจำคุกและยึดทรัพย์นายทักษิณ ในคดีทุจริต โดยอ้างว่าทักษิณถูกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้ง คำตัดสินของศาลไม่มีความเป็นธรรม การชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นสองครั้ง ในปี 2552 และ 2553 มีการปิดถนนหลายแห่งในกรุงเทพฯ มีการเผารถเมล์ และยางรถยนต์ มีการบุกรุกสถานที่สำคัญ และปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารหลายครั้งจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่ายจำนวนมาก การชุมนุมทั้งสองครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ
ภายหลังมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทักษิณ ให้การสนับสนุน ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 รัฐบาลได้มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลในเรื่องการสร้างความปรองดอง แต่หลายฝ่ายมองว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นความพยายามในการนิรโทษกรรมล้างความผิดให้ทักษิณ ในคดีทุจริต และเป็นเหตุให้ต้องคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับทักษิณ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่มาของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เกิดเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเวลาต่อมา
ยิ่งลักษณ์ ยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองจากการชุมนุมของประชาชนทั้งสองฝ่าย อันนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร
ชมัยภร ระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแวดวงวรรณกรรมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่ในกระแสสื่อออนไลน์ นักเขียนเกิดใหม่ในโลกออนไลน์และเปิดตลาดหรือเวทีการเขียนพื้นที่ใหม่ที่มีอำนาจกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้เกิดและหลายเล่มปิดตัวลง เพราะเม็ดเงินโฆษณาเปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อออนไลน์หรือสื่ออินเตอร์เน็ต
ในขณะที่นักเขียนยอดนิยมที่เขียนในนิตยสารยังทำงานอย่างสม่ำเสมอ นักเขียนออนไลน์หน้าใหม่ก็ก้าวขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยยืนยันคุณภาพจากเวทีรางวัล ส่วนนักเขียนสร้างสรรค์ก็ทำงานเต็มกำลังและใช้เวทีรางวัลเป็นพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลใหญ่ ก่อนก้าวเข้าสู่โลกการเขียนเต็มตัวต่อไป
อาทิ ปี 2552 ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล ได้รับรางวัลซีไรต์ และเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด พร้อมกันสองรางวัล และปี 2555 นวนิยายเรื่อง คนแคระ ของวิภาส ศรีทอง ได้รับรางวัลซีไรต์ ทั้งสองเรื่องสะท้อนสภาพสังคมที่แวดล้อมตัวละคร แต่มิใช่เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ลับแลแก่งคอย ชี้ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและคนในชุมชนอย่างไร โดยสะท้อนผ่านครอบครัวของตัวละครเอก ในขณะที่คนแคระ สะท้อนภาพผู้คนในโลกสมัยใหม่ที่มีชีวิตแปลกแยกและเป็นดั่งคนแคระในเมืองใหญ่ มนตรี ศรียงค์ เขียน รุสนี สะท้อนปัญหาเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสะเทือนใจ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ของเซเว่นบุ๊ค อะวอร์ด .