หนี้6ล.ขึ้นศาลสัปดาห์ละ3-5วัน! ชีวิต'ครูไกรวิทย์' เหยือค้ำประกันเงินกู้กยศ.รายที่ 2
“...ผมแยกทางกับภรรยาด้วยสาเหตุนี้ มีลูกสองคนที่อย่างน้อยเขาเรียนจบทำงานแล้ว ทุกวันนี้ผมป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาศัยทำมาหากินโดยเลี้ยงปลาหมอสี ได้อาศัยญาติพี่น้องช่วยเหลือ ช่วงแรกที่ลาออกจากครูก็มาค้าขาย แต่ไม่ถนัด จึงมารับจ้างสอนหนังสือ ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง...”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ในช่วงค่ำวันที่ 27 ก.ค.2561 อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ผู้ดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทย สถานีข่าว สปริงนิวส์ ทีวีดิจิทัล ช่อง19 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว 'อมรรัตน์ แมวสาว' เกี่ยวกับกรณีครู ค้ำประกันเงินกู้ กยศ. จนถูกฟ้องล้มละลาย
ระบุว่า ..มีความคืบหน้ามาบอกกัน หลังจากเฟซบุ๊กไลฟ์สด เจาะลึกทั่วไปหมาแก่-แมวสาว (27 ก.ค.) มีผู้ให้ข้อมูลว่ามีครูไกรวิทย์ ค้ำประกันเงินกู้ กยศจนถูกฟ้องล้มละลาย ล่าสุดสปริงนิวส์ออนไลน์ได้ติดตามพูดคุยกับครูไกรวิทย์ รายละเอียดตามนี้ (ส่วนรายการเจาะลึกทั่วไป อินไซด์ไทยแลนด์ สัปดาห์หน้าจะได้ขยายผลเรื่องนี้ รวมถึงกรณีคุณครูท่านอื่นส่งข้อมูลผ่านทางรายการได้นะคะ ) เพราะเราเชื่อว่ายังมีมากว่าครูวิภา ครูไกรวิทย์ #มาช่วยทำให้คนดีมีที่ยืนในสังคมกัน
นายไกรวิทย์ สุขสำอางค์ อายุ 58 ปี อดีตครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านหนองแขม ได้ค้ำประกันให้ลูกศิษย์เช่นเดียวกัน และถูกเบี้ยวหนี้ จนศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องออกจากอาชีพครูในตอนนี้ ให้สัมภาษณ์สปริงนิวส์ ออนไลน์ว่า ตนเป็นครูที่ค้ำประกันทุน กยศ.ให้กับนักศึกษาในโรงเรียนเอกชนยุคแรกๆ ที่มีโครงการดังกล่าวในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด มีทั้งภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ค้ำให้ตั้งแต่ระดับ ปวช.ขึ้นไป จนบางคนเรียนจบ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ยังได้มาขอให้ค้ำประกันต่ออีก ที่ได้เซ็นค้ำไปมีประมาณ 40-50 คน ในจำนวนนี้ เด็กบางคนเรียนไม่จบ ต้องรีไทร์ไปก่อนก็มี ต่อมาทางโรงเรียนก็ออกระเบียบให้ค้ำประกัน กยศ.นักศึกษาได้ไม่เกิน 5 คน
“ผมมียอดหนี้ 6 ล้านกว่าบาท สมัยนั้นผมไม่ทราบว่า คนค้ำประกันจะถูกเรียกเก็บหนี้ด้วย และมีคุณครู อาจารย์อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าค้ำ กยศ.แล้วต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งมีครูหลายคนประสบชะตาเดียวกับผม และครูวิภา แต่ไม่กล้าร้องกัน แม้เราจะติดตามถามเด็กก็ไม่ได้ ของครูวิภาถือว่าดีกว่าเพราะเป็นนักเรียนระดับมัธยม ค่าเล่าเรียนไม่สูงมากไป สำหรับผม อย่างที่รู้กัน โรงเรียนช่างกล เอกชน ยอดค่าเล่าเรียนสูงกว่าของรัฐ ต่อคนประมาณ 3- 4 แสนบาท” อดีตครูโรงเรียนเอกชนระบุ
ครูไกรวิทย์ เล่าต่อว่า จากที่ไม่รู้ว่าค้ำประกันให้ลูกศิษย์ แล้วต้องชดใช้หนี้ให้ กยศ.ด้วย นับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2559 ตนต้องเดินทางไปขึ้นศาลทุกวัน สัปดาห์ละ 3-5 วัน ซึ่งตอนนั้นไม่แน่ใจว่ามียอดหนี้เท่าไร ท้ายที่สุด ศาลก็มีคำสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะสืบหาทรัพย์ ตนก็ไม่มีจ่ายให้แล้ว เป็นผลให้ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน เนื่องจากเงินเดือนไม่มีให้หักเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางโรงเรียนไม่มีทางออก หรือเสนอทางช่วยเหลือใดๆ หรือ? ครูไกรวิทย์กล่าวว่าเป็นโรงเรียนเอกชนเขาก็บอกว่าเราไปค้ำประกันให้เด็กเอง
เมื่อถามถึงครอบครัวของครูไกรวิทย์ เจ้าตัวเงียบไปชั่วขณะ ก่อนกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ“ผมแยกทางกับภรรยาด้วยสาเหตุนี้ มีลูกสองคนที่อย่างน้อยเขาเรียนจบทำงานแล้ว ทุกวันนี้ผมป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ อาศัยทำมาหากินโดยเลี้ยงปลาหมอสี ได้อาศัยญาติพี่น้องช่วยเหลือ ช่วงแรกที่ลาออกจากครูก็มาค้าขาย แต่ไม่ถนัด จึงมารับจ้างสอนหนังสือ ใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง”
เมื่อถามว่า อยากบอกอะไรถึงลูกศิษย์ ครูไกรวิทย์ ตอบว่า “คนเป็นครู เรามีหน้าที่ให้ความรู้ ให้อาชีพ เป็นครูโกรธไม่ได้ ผมไม่คิดท้อ แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ความรับผิดชอบของลูกศิษย์แต่ละคนแล้ว อยากให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม”
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก SpringNews