เด็กพยาบาลคริสเตียนฟ้องศาลปค. ฟังมุมสภาวิชาชีพ พบปัญหารับนศ.มากเกิน-อาจารย์ไม่พอ
"เรากังวลที่มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตจำนวนมาก สภาการพยาบาลเคยแนะนำไปแล้ว เตือนหลายครั้งเรื่องลดจำนวนเด็กลง หรือเพิ่มจำนวนอาจารย์ให้มีสัดส่วนเหมาะสม แต่ก็ไม่ได้ทำ "
จากกรณี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 นักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยคริสเตียน จำนวนประมาณ 60 คน เดินทางมายื่นฟ้องมหาวิทยาลัยคริสเตียนและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองกลาง กรณีมหาวิทยาลัยฯยกเลิกหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้มหาวิทยาลัยจ่ายค่าเสียโอกาสและค่าเสียหายที่นักศึกษาจ่ายค่าเทอมล่วงหน้าไปแล้วนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อังคณา สริยาภรณ์ เลขาธิการ สภาการพยาบาล ถึงปัญหาดังกล่าวว่า สำหรับนักศึกษาพยาบาล เป็นเรื่องน่าเห็นใจมาก มหาวิทยาลัยคริสเตียนรับนักศึกษาเข้ามาจำนวนมากเกินไป เกินจำนวนที่จะรับได้ ซึ่งทำให้อัตราส่วนอาจารย์ประจำต่อนักศึกษาสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 2 เท่า
"จำนวนอาจารย์ไม่พอกับจำนวนนักเรียน ทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่เป็นไปตามแผนที่มหาวิทยาลัยวางไว้ ขาดอาจารย์ดูแลนักศึกษาฝึกปฏิบัติการพยาบาล การที่อาจารย์ไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษา อาจเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ ผู้สำเร็จการศึกษาจบออกมาอาจขาดความรู้ หรือขาดทักษะการปฏิบัติงานในวิชาชีพได้ แน่นอนว่า การสอบความรู้เพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็จำนวนน้อยกว่าสถาบันอื่นค่อนข้างมาก"
ผศ.อังคณา กล่าวถึงการที่สถาบันการศึกษามุ่งรับนักศึกษาจำนวนมาก คนอาจเข้าใจว่า เหมือนกับการรับนักศึกษาเข้ามาฟังเลคเชอร์ แต่สำหรับวิชาชีพการพยาบาลไม่ใช่ เราต้องฝึกงานกับคนไข้จริง ทำงานกับคนไข้จริง เราไม่ได้ทำงานกับกระดาษหรือบรรยายให้ใครฟังเฉยๆ แต่หมายถึงคนที่จบต้องมีความรู้ขั้นยอมรับได้เพื่อออกไปทำงาน ดูแลคนไข้ได้อย่างไม่เป็นอันตราย ฉะนั้น สภาการพยาบาลต้องดูแล จนกระทั่งเด็กมาสอบขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้
"เรากังวลที่มหาวิทยาลัยรับนักศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตจำนวนมาก สภาการพยาบาลได้เคยแนะนำไปแล้ว ไม่เฉพาะปีนี้ หรือ 1- 2 ปีเท่านั้น มหาวิทยาลัยนี้รับนักศึกษาจำนวนมากกว่าที่ควรจะรับมาหลายปีต่อเนื่องกัน เราเตือนเขาหลายครั้งเรื่องการลดจำนวนเด็กลง หรือเพิ่มจำนวนอาจารย์ให้มีสัดส่วนเหมาะสม แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำ เรากังวลคุณภาพผู้ไปประกอบวิชาชีพดูแลผู้ป่วย และออกไปรับใช้สังคม"
เลขาธิการ สภาการพยาบาล กล่าวถึงการทำงานของสภาการพยาบาล โดยปกติจะออกไปตรวจเยี่ยมเพื่อรับรองสถาบันการศึกษา เนื่องจากการรับรองสถาบันการศึกษาเป็นคุณสมบัติอันหนึ่งที่ผู้จะสมัครสอบขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ กำหนดเอาไว้ สภาวิชาชีพมีหน้าที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยคนที่จะมาสอบได้ต้องสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สภาการพยาบาลให้ความเห็นชอบ สำเร็จจากสถาบันที่สภาการพยาบาลให้การรับรอง
ส่วนระดับการรับรองสถาบันการศึกษา มีตั้งแต่ระดับคุณภาพดีมาก สภาการพยาบาลรับรองสูงสุด 5 ปี รองลงมา คือ รับรอง 4 ปี รับรอง 3 ปี รับรอง 2 ปี รับรอง 1 ปี และไม่รับรองเลยก็มี
"สภาการพยาบาลรับรองสูงสุด 5 ปี หมายความว่า อีก 5 ปี สภาการพยาบาลไปตรวจเยี่ยมครั้งหนึ่ง รับรอง 1 ปี หมายความว่า เราต้องไปทุกปี ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากจะไป สำหรับมหาวิทยาลัยคริสเตียน สภาการพยาบาลให้การรับรอง 1 ปี มาโดยตลอด เนื่องจากมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงมากด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องนักศึกษา"
ผศ.อังคณา กล่าวอีกว่า โดยปกติ เมื่อสภาการพยาบาลตรวจเยี่ยมสถาบันการศึกษา ได้ข้อสรุปเป็นมติของกรรมการสภาการพยาบาลก็จะประกาศบนเว็บไซด์สภาการพยาบาลให้ทราบโดยทั่วกัน ปัจจุบันมีทั้งหมด 86 แห่ง ทั้งการรับรองกี่ปี รวมถึงข้อมูลรายละเอียดควรรับนักศึกษาจำนวนเท่าไหร่ หากมหาวิทยาลัยไม่ตั้งใจพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดการศึกษาระดับวิชาชีพ ถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ เป็นเรื่องน่าห่วง
"โดยทั่วไปเมื่อสภาการพยาบาลให้ข้อคิดกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ไป ส่วนใหญ่จะปรับปรุง เสมือนเราเป็นหูเป็นตาให้ประชาชน"
เลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวถึงการตรวจเยี่ยมสถาบันการศึกษา จากนั้นจะมีการส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กรณีนี้ก็เช่นกัน สภาการพยาบาลส่งข้อมูลให้สกอ.ไป มีการเชิญหารือ และร่วมแก้ไขปัญหา จนมีสถาบันการศึกษาอื่นรับนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยคริสเตียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว