เปิดตัวเลขทางการ แผนสร้างเขื่อนเกิน 10 เมกะวัตต์ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 135 โครงการ อยู่ในลาว 74%
นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เผยข้อมูลทางการ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง มีเเผนสร้างเขื่อนใหญ่เกิน 10 เมกะวัตต์ 135 โครงการ อยู่ในลาว 74% กำลังการผลิตรวม 3 หมื่นเมกะวัตต์ ชี้ 'เซเปียน-เซน้ำน้อย' เเตก สะท้อนมาตรฐานก่อสร้าง ธรรมาภิบาลกลุ่มทุนมุ่งขายไฟฟ้า สร้างหายนะสิ่งเเวดล้อม-ประชาชนรับกรรม เเนะรัฐไทยส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ผลิตใช้เอง
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงข้อมูลเขื่อนในสปป.ลาว โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศลาวมีเขื่อนขนาดต่าง ๆ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 41 เขื่อน และอยู่ในแผนการก่อสร้างอีก 50 เขื่อน รวมอนาคตจะมีเขื่อนทั้งสิ้น 91 เขื่อน
ทั้งนี้ เขื่อนในแม่น้ำประธาน (แม่น้ำโขง) มีประมาณ 8-11 เขื่อน โดยแบ่งเป็นเขื่อนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง
ส่วนเขื่อนที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง มี 9 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย เขื่อนสะนะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนภูงอย เขื่อนท่าค้อ
สำหรับเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำโขง นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ระบุที่ก่อสร้างเสร็จ มีเขื่อนน้ำเทิน 2 ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประมาณ 920 เมกะวัตต์, เขื่อนน้ำงึม 2 ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ประมาณ 600 เมกะวัตต์ และเขื่อนเทิน-หินบุน ขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ประมาณ 180 เมกะวัตต์
ขณะที่ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 90 และจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2562 มีแผนขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 410 เมกะวัตต์ และจะเปิดดำเนินการยาวนานไปอีก 27 ปี
อย่างไรก็ตาม ที่สร้างความกังวลจะส่งผลกระทบกับประเทศไทย คือ เขื่อนปากชม เขื่อนปากลาย เขื่อนบ้านกุ่ม เพราะตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย-ลาว
ทั้งนี้ ตัวเลขทางการเมื่อคิดเฉพาะเขื่อนใหญ่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม มีทั้งหมด 135 โครงการ ร้อยละ 74 อยู่ในลาว กำลังการผลิตรวม 3 หมื่นเมกะวัตต์”
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า เฉพาะกรณีของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย นั้น สะท้อนการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน หากใช้งานต่อไปจะมีความเสี่ยง เพราะมีจุดปิดช่องเขาอีก 5 จุด ที่ยังเสี่ยงอยู่ พร้อมกับตั้งคำถามถึงการขาดธรรมาภิบาลของกลุ่มทุนหรือไม่ เพราะสร้างโดยเอกชนที่หวังผลมุ่งขายไฟให้กฟผ.มากเกินไป ขณะที่ภาคประชาชนไร้อำนาจการตรวจสอบโครงการฯ ทั้งที่มีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท
“ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางแผนการผลิตไฟฟ้า โดยหันมามุ่งส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าภาคใช้เอง เน้นพลังงานหมุนเวียน โดย กฟผ.เป็นผู้กำกับ เชื่อว่าจะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการขยายกำลังการผลิตเช่นนั้น ซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจจากโครงการประเภทนี้ตั้งอยู่บนความเสี่ยงทางหายนะสิ่งแวดล้อมและประชาชนมากเกินไป ถามว่า ใครจะรับผิดชอบกับชีวิตและความเสียหายที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่า ประชาชนไม่มีปากเสียงตกเป็นผู้รับกรรม” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวในที่สุด .
เซเปียน-เซน้ำน้อย
ขณะที่บริษัท Lao Holding State Enterprise (LHSE) ถือหุ้นร้อยละ 24 ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ของบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย จะมีกำลังการผลิต 1,879 กิกะวัตต์ต่อปี โครงการจะส่งออกไฟฟ้า 90% ให้แก่ประเทศไทย ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับ บริษัท ฯ และอีก 10% จะจำหน่ายให้กับกฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง บริษัท ฯ และการไฟฟ้าลาว โดยโครงการนี้มีระยะเวลาสัมปทาน 27 ปี และเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562 หลังจากหมดอายุสัมปทานแล้วจะมีการโอนการดำเนินงานและการบริหารจัดการโครงการทั้งหมดให้รัฐบาลลาว
นอกจากนี้ เซเปียน-เซน้ำน้อยแล้ว ยังมีโครงการที่ LHSE ลงทุน เช่น เขื่อนน้ำเทิน 2 เขื่อนน้ำเงี๊ยบ 1 เป็นต้น
ส่วนเว็บไซต์ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า ลาว จํากัด (มหาชน) หรือ EDL-Gen บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาว ระบุุถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro power) ของบริษัทมีทั้งหมด 10 แห่ง อาทิ เขื่อนน้ำงึม 1 เขื่อนน้ำซอง เขื่อนน้ำลึก เป็นต้น และโครงการที่ร่วมลงทุน (joint venture business) อีก 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำงึม 2 เขื่อนน้ำงึม 5 เขื่อนน้ำลิก 1-2 เขื่อนเทินหินบูน เขื่อนห้วยเฮาะ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย นั้น EDL-Gen ไม่ได้ร่วมลงทุน หรือถือหุ้นแต่อย่างใด
ภาพประกอบ: http://www.edlgen.com.la และ http://www.laoholding.com/